เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พร้อมด้วยเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เข้าหารือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อร่วมกันหามาตรการเฝ้าระวังและบูรณาการการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน ป้องกันปัญหาลุกลามซ้ำเติมกลุ่มเปราะบาง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่าทุกหน่วยงานที่ดูแลเด็กและเยาวชนทุกกลุ่ม ต้องเร่งให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนถึงพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า เพราะปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ที่เริ่มหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่สูบเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบต่าง ๆ ไม่เป็นอันตราย ไม่ใช่สารเสพติด ประกอบกับเด็ก ๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เช่น การสั่งซื้อออนไลน์ วางแผงขายในตลาดนัด และร้านค้าผิดกฎหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในแหล่งชุมชน
“ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นเรื่องใหญ่ที่คุกคามสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้เสพโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูไม่มีพิษภัยหรือดูเหมือนของเล่น มีกลิ่นให้เลือกมากกว่า 16,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นที่ดึงดูดเด็กและเยาวชน เช่น ขนมหวาน หมากฝรั่ง ผลไม้ น้ำอัดลม ฯลฯ โดยในสหรัฐอเมริกามีงานวิจัยระบุว่าเด็ก 70% เลือกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีกลิ่นและรสชาติที่ชื่นชอบ และทำให้เด็กเกิดความเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย ซึ่งหากได้ลองเสพจนติดแล้ว อาจจะติดหนักกว่าติดบุหรี่มวน และมีอันตรายกว่าบุหรี่ธรรมดา
“นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า ประชาชนในกลุ่มผู้ใหญ่ของประเทศไทย ส่วนใหญ่ ยังไม่รู้จักบุหรี่ไฟฟ้าและไม่รู้ว่าเป็นสารเสพติดให้โทษ ต้องมีการรณรงค์เรื่องนี้ เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังการระบาดในเยาวชนทุกกลุ่ม ข้อมูลจากการสำรวจยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งเสพติดใหม่ที่ระบาดเร็วมาก พุ่งเป้าไปที่เยาวชนโดยตรง
“ขณะเดียวกันยังพบว่านิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดที่ส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท สามารถทำอันตรายต่อสมองของวัยรุ่น ส่งผลให้สมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งผลักดันให้รัฐเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง สกัดการเข้าถึงของเยาวชนและเร่งให้ความรู้โทษพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างกว้างขวาง” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง หัวหน้าคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่าข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ได้สำรวจสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พบว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปี 2558 พบ 3.3 % จนถึง ปี 2565 พบมากถึง 17.6 % คิดเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5.3 เท่า
“ที่ผ่านมาคณะทำงานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่เคยคิดค้นรูปแบบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ เพื่อเร่งป้องกันเด็กและเยาวชนจากการสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน และเชื่อว่ามาตรการดูแลดังกล่าวน่าจะปรับใช้กับการเฝ้าระวังปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่ต่างๆ ได้ โดยมาตรการต่าง ๆ ประกอบด้วย 1.ตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ 2.ผู้บริหารสถานศึกษาประกาศนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่ 3.ติดป้ายประกาศให้ทราบว่าโรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่ในจุดที่เห็นได้เด่นชัด 4.ติดสติกเกอร์เขตปลอดบุหรี่ทั่วบริเวณโรงเรียน 5.ประชาสัมพันธ์นโยบายและเฝ้าระวังการสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง 6.สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการเรียนการสอนและกิจกรรมนอกหลักสูตร 7.ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ 8.มีมาตรการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกสูบบุหรี่ 9.ขยายผลการดำเนินงานไปยังผู้ปกครองนักเรียนและชุมชนรอบ โรงเรียน การสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ และจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่” ครูสุวิมลกล่าว
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเครือข่ายครูฯ ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพคุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อขยายผลการนำบทเรียนดังกล่าวไปใช้ยังจังหวัดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และได้เผยแพร่ข้อมูลและแนวทางผ่านทางเว็บไซต์โรงเรียนปลอดบุหรี่ www.smokefreeschool.net เพื่อเป็นช่องทางให้ครูจากทุกสังกัดทั่วประเทศนำข้อมูลและมาตรการไปปรับใช้ในโรงเรียนแต่ละแห่งได้
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า กสศ. ตระหนักถึงปัญหานี้ เพราะหากบุหรี่ไฟฟ้าระบาดในกลุ่มเด็กเปราะบาง ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งประสบปัญหาในมิติด้านอื่น ๆ อยู่แล้วเพิ่มขึ้น
“ที่ผ่านมา กสศ. ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการฐานข้อมูลความเสี่ยงของนักเรียน จัดทำ Data Catalogue แนวทางและกระบวนการ ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมทุกมิติปัญหา หลังจากพบว่า เด็กในกลุ่มวิกฤตการศึกษาจำนวนร้อยละ 73 มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย
“ทั้งนี้ การออกแบบความช่วยเหลือผ่านระบบ OBEC Care เป็นการทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางการดูแลช่วยเหลือเด็กตามความต้องการเป็นรายบุคคล โดยระบบดังกว่าวสามารถบูรณาการความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และทรัพยากรจาก ชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และครอบครัวเข้ามาดูแลเด็กเยาวชนและครัวเรือนเปราะบางที่มีนักเรียนทุนที่ประสบวิกฤตปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องความยากจนและต้องการความช่วยเหลือในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยปัญหายาเสพติดถือเป็นอีกมิติสำคัญที่จะต้องดูแลในส่วนนี้ ซึ่งข้อแนะนำจากมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จะถูกนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับระบบ OBEC Care และแนวทางการดูแลที่ครอบคลุมต่อปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังเด็กและเยาวชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสุขภาพนี้” ดร.ไกรยสกล่าว