เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้จัดสัมมนา ‘อนาคตของ SDGs: ทิศทางการขับเคลื่อน และความท้าทาย’ ณ ห้องประชุมสัมมนา บี 1-4 ชั้นบี 1 อาคารรัฐสภา โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในฐานะตัวแทนจากภาคการศึกษา ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ ‘การสร้างพลังขับเคลื่อน SDGs เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’
ดร.ไกรยส ได้นำเสนอประเด็นการศึกษากับการสร้างพลังขับเคลื่อน SDGs เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ว่าด้วยความพยายามบรรลุเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของ กสศ.
ดร.ไกรยส เริ่มต้นถึงการเล่าบทบาทของ กสศ. ที่มีภารกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเหนี่ยวนำทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เนื่องจากโจทย์เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีความซับซ้อน จึงต้องหาจุดคานงัดเชิงระบบให้เจอ ผ่านการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด เน้นการใช้ข้อมูล นวัตกรรม เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อสำรวจถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติที่จะต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ดร.ไกรยส ชี้ว่าเป้าหมายที่ 4 หรือการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ นับเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งหากบรรลุเป้าหมายนี้ได้จะช่วยส่งเสริมเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย เช่น เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
ในการบรรลุเป้าหมายที่ 4 นั้น จะต้องมี Game Changers 7 ประการ ที่จะทำให้เป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้จริง ได้แก่
- การพัฒนาครูและสถานศึกษา
- ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
- นวัตกรรมการเงินและการคลัง
- การจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ (area-based education)
- ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา 5 ด้าน
- All for Education หรือ การศึกษาเป็นกิจของทุกคน
ขณะเดียวกัน การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้สร้างความท้าทายและอุปสรรคทางการศึกษาหลายประการ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทวีความรุนแรงขึ้น เด็กที่เรียนออนไลน์มีพัฒนาการที่ต่ำลง เช่น ไม่สามารถจับดินสอเขียนหนังสือได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องเร่งฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
ต่อมาจึงเกิด Bangkok Statement 2022 (ถ้อยแถลงกรุงเทพฯ 2565) ซึ่งเป็นถ้อยแถลงที่มุ่งสู่การฟื้นฟูการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคนและการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถ้อยแถลงนี้เป็นข้อสรุปร่วมกันจากการประชุมรัฐมนตรีการศึกษาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 โดยถ้อยแถลงดังกล่าวมีสาระสำคัญอยู่ 2 ประการ
- การเปิดเรียนอย่างปลอดภัย การฟื้นฟูการเรียนรู้ และความต่อเนื่องของการเรียนรู้
- การพลิกโฉมการศึกษาและระบบการศึกษา
ในช่วงท้าย ดร.ไกรยส มุ่งเน้นความสำคัญว่า ภายใน 7 ปีสุดท้ายก่อนถึงปี 2030 จะต้องจัดการศึกษาตามบริบทพื้นที่ให้เกิดขึ้นจริง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
นอกจากนี้จะต้องสร้าง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ให้เกิดขึ้นในไทยมากกว่านี้ เพราะเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นกุญแจสำคัญในการจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย
ดร.ไกรยส ปิดท้ายด้วยประเด็นกลไกลงบประมาณ ซึ่งในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องมีกลไกที่จะทำให้ได้รับงบประมาณมาเพียงพอในการแก้ปัญหาดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงมีนวัตกรรมระดมทุน โดยร่วมกับภาคเอกชน โครงการแรกคือ ‘PTT Virtual Run’ ร่วมกับ ปตท. จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง สะสมระยะทางออนไลน์ ซึ่งผลจากโครงการนี้ทำให้สามารถระดมทุนการศึกษาได้กว่า 150 ล้านบาท หลังจากนี้จะนำไปมอบให้เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
อีกโครงการคือ ‘Zero Dropout’ ร่วมกับกลุ่มบริษัทแสนสิริ ออกหุ้นระดมทุน ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการในช่วง 3 ปี สามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อในจังหวัดราชบุรี ให้สามารถคงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้มากกว่า 1,000 คน