กสศ. ลงพื้นที่เชื่อมต่อทุนเสมอภาค รองรับเด็กเยาวชนที่กลับมาเรียนตามภารกิจ Thailand Zero Dropout
จับมือคณะครูออกแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ยั่งยืน

กสศ. ลงพื้นที่เชื่อมต่อทุนเสมอภาค รองรับเด็กเยาวชนที่กลับมาเรียนตามภารกิจ Thailand Zero Dropout จับมือคณะครูออกแบบระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสนับสนุนกระบวนการทำงานโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ทุนเสมอภาค และติดตามนักเรียนที่มีรายชื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาจากฐานข้อมูลโครงการ Thailand Zero Dropout ร่วมกับโรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบน และโรงเรียนวัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู ผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร เข้าร่วม

นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. นำเสนอความก้าวหน้าโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ทุนเสมอภาค ตามที่คุณครูทั่วประเทศได้ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 มีรายชื่อเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาราว 40,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นเด็กเยาวชนอายุระหว่าง 3-18 ปีที่เพิ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรก โดยรายชื่อทั้งหมดจะได้รับการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทุนเสมอภาค ซึ่งจะประกาศรายชื่อนักเรียนทุนกลุ่มใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้

“ความสำคัญของความร่วมมือไม่ได้สิ้นสุดลงที่การให้ทุน แต่จะเชื่อมต่อไปถึงการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่มีการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนทุกคนให้เข้าถึงการศึกษาได้จนถึงปลายทาง มีโอกาสเข้าถึงทุนการศึกษาอื่น ๆ ที่มีอยู่ เมื่อเด็กกลับเข้ามาเรียนจะได้รับการดูแลที่ครอบคลุมทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ครอบครัว เพื่อลดโอกาสหลุดซ้ำ จึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อส่งเด็ก ๆ สู่การเรียนในระดับสูงขึ้นต่อไป”

กนิษฐา คุณาวิศรุต

ภายหลังการพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังประสบการณ์จากคณะครูผู้ขับเคลื่อนการทำงานทุนเสมอภาค คณะครูได้นำทีมงาน กสศ. ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนทุนเสมอภาค และเยี่ยมบ้านเด็ก ๆ จากฐานข้อมูล Thailand zero dropout ที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในภาคเรียนนี้

“กสศ. ต้องขอบคุณครูทุกท่านที่สนับสนุนการทำงานเป็นอย่างดีมาตลอด แต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทำงานในโรงงาน อัตราการโยกย้ายของเด็กนักเรียนจึงสูงและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของเด็กอายุเกินเกณฑ์ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นครั้งแรกจำนวนมาก ดังนั้นการได้รับข้อมูลว่าในหนึ่งรอบการคัดกรอง คุณครูในพื้นที่ทำงานอย่างไร มีกระบวนการสำรวจบันทึกข้อมูลการจ่ายเงินอุดหนุนอย่างไร จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับโรงเรียนในเขตพื้นที่เดียวกัน และที่สำคัญคือเมื่อพบตัวเด็กและพาเข้าสู่ระบบแล้ว จะมีระบบการติดตาม-ดูแล-ช่วยเหลือ-ส่งต่อ ให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสพัฒนาตนเองจนถึงปลายทาง ไม่ว่าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือมีรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดรับกับความจำเป็นในชีวิตเพื่อไปสู่เป้าหมาย Thailand Zero Dropout”

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวต่อไปว่า ภารกิจ Thailand Zero Dropout แบ่งได้เป็นหลายมิติ และการทำงานผ่านสถานศึกษาคือหนึ่งในนั้น เนื่องจากการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาค จะนำไปสู่มาตรการดูแลช่วยเหลือ ทั้งทุนอุดหนุนเพื่อบรรเทาอุปสรรคทางการการศึกษา ขณะที่บางคนแม้จะไม่เข้าเกณฑ์การรับทุน แต่การมีข้อมูลบันทึกอยู่ในระบบของโรงเรียน หากมีความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ก็จะได้รับการดูแลช่วยเหลือเช่นกัน

ดังนั้นการทำงานของคุณครูจึงมีความหมายที่จะทำให้เราสามารถดูแลช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยการลงพื้นที่โรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบน และโรงเรียนวัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) ได้สะท้อนว่าแม้จะมีโจทย์ที่ยากด้วยทั้งสองโรงเรียนมีสัดส่วนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจำนวนมาก แต่ด้วยความเอาใจใส่และเข้มแข็งของคุณครู ก็ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงโอกาสได้ ทั้งส่วนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และเด็กเข้าเรียนช้าที่กลับเข้ามาสู่ระบบ

“กรณีที่พบมากในสมุทรสาคร คือเด็กที่อายุสิบกว่าขวบแล้วแต่เพิ่งเข้าเรียน ป.1 สาเหตุมาจากการโยกย้ายไปมาระหว่างพื้นที่ด้วยความจำเป็นเรื่องการประกอบอาชีพของผู้ปกครอง กรณีนี้จำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาว่าจะออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ได้อย่างไร โดยเมื่อสอบถามความต้องการจากครอบครัวและตัวเด็ก ความเป็นได้อย่างหนึ่งคืออาจวางแนวทางที่ทอดยาวไปสู่การเรียนสายอาชีพ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการมีรายได้ และอาจช่วยชะลออัตราการโยกย้ายให้ลดลง”

ครูปทุม คงศิลป์

ด้าน ครูปทุม คงศิลป์ โรงเรียนบ้านคลองกระทุ่มแบน กล่าวว่า ทุกภาคเรียนโรงเรียนจะมีการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center : DMC) โดยลงเยี่ยมบ้าน พูดคุยกับผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะส่งรายชื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการคัดกรองนักเรียนทุนเสมอภาคของ กสศ. ทางโรงเรียนยังมีนโยบาย ‘เชื่อมต่อทุน’ โดยเด็กที่พบว่ามีปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์จะต้องเข้าถึงทรัพยากร และการดูแลช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่คือต้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อ ‘เด็กทุกคน’ ให้ไปถึงการช่วยเหลือดูแลตามลักษณะปัญหา ไม่ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ มีปัญหาสุขภาพหรือปัญหาครอบครัว โดยทางโรงเรียนจะนำข้อมูลมาออกแบบเส้นทางให้เด็กเป็นรายคน บนความหลากหลายของบริบท ทั้งสายสามัญ อาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) โปรแกรมฝึกอาชีพระยะสั้นต่าง ๆ จนถึงเชื่อมต่องานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือครูการศึกษาพิเศษ     

“เด็กโรงเรียนเราค่อนข้างหลากหลายทั้งภูมิลำเนาเดิมจนถึงเรื่องเชื้อชาติ ส่วนใหญ่คือติดตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน กับอีกส่วนหนึ่งซึ่งเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น คือคนที่เกิดในพื้นที่เนื่องจากผู้ปกครองเข้ามาทำงานได้สักระยะหนึ่งแล้ว สถานการณ์การคงอยู่ในระบบการศึกษาจึงมีสถานะ ‘ไม่นิ่ง’ จากการโยกย้ายเคลื่อนที่ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา บางคนเรียนได้สักพักก็กลับไปอยู่กับญาติที่ภูมิลำเนาเดิม บางคนผู้ปกครองได้งานที่อื่นก็ต้องย้ายตามไป หรือบางคนหลุดออกไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วกลับมาอีก การติดตามของครูจึงทำได้ค่อนข้างยาก เพราะบางคนไปตามกลับมาเรียนได้ 3-4 เดือนก็หายไปอีก หรือบางคนหลุดออกไปเป็นปี พอเราไปพบก็อายุมากเกินเพื่อน ๆ เขาก็ไม่พร้อมเท่าไหร่ที่จะกลับเข้าไปอยู่ในโรงเรียนอีก เป้าหมายแรกที่โรงเรียนตั้งไว้จึงเป็นการ ‘พยายามออกแบบเส้นทางเรียนรู้ที่เอื้อให้เด็กเรียนจบ’ โดยอย่างน้อยเด็กต้องมีวุฒิการศึกษาชั้น ป.6 หรือไปให้ถึงการศึกษาภาคบังคับ ส่วนพอจบแล้ว โรงเรียนจะทำงานร่วมกับเครือข่ายสถานศึกษาในพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นให้ได้ 100% ส่วนคนที่ไม่พร้อมศึกษาต่อเพราะจำเป็นต้องทำงานหารายได้ซึ่งทุกปีจะมีอยู่จำนวนหนึ่ง เช่นเด็กกลุ่มที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายซึ่งมีรายได้แค่จากเบี้ยคนชรา ทางโรงเรียนจะยังคงติดตามดูแลช่วยเหลือเป็นรายกรณี ประการแรกคือจะช่วยหาช่องทางให้เรียนเพื่อมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น กับอีกแนวทางหนึ่งคือผลักดันให้เข้าสู่เส้นทางการฝึกอาชีพตามความสนใจและถนัด”

ครูนิภา ศรีทองคำ

ขณะที่ ครูนิภา ศรีทองคำ โรงเรียนวัดอ้อมน้อย (มิตรครูราษฎร์รังสรรค์) กล่าวว่า ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนวัดอ้อมน้อย ออกแบบขึ้นจากข้อมูลเยี่ยมบ้านเด็กทุกคน โดยมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากแบบสำรวจของ สพฐ. เพื่อให้การดูแลเหมาะสมและครอบคลุมกับบริบท สำหรับตำบลอ้อมน้อย เด็กเกือบทุกคนคือบุตรหลานของผู้ปกครองที่มาทำงานโรงงานในพื้นที่ ส่วนใหญ่จึงไม่มีบ้านของตัวเองและมีรายได้ค่อนข้างต่ำ พ่วงด้วยลักษณะครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หลายคนถูกทิ้งไว้กับปู่ย่าตายาย อาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงด้วยปัญหายาเสพติด การเก็บข้อมูลจึงต้องทำอย่างละเอียด เชื่อถือได้ มีหลักฐานภาพถ่ายซึ่งแสดงให้เห็นสภาพจริง 

“การคัดกรองเราจะทำโดยครูประจำชั้น มีรายงานละเอียดว่าเด็กในห้องมีกี่คน คัดกรองแล้วกี่คน ได้ทุนแล้วกี่คน ยังไม่ได้ทุนกี่คน หรือใครย้ายออกไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ใครไม่อยู่ในเกณฑ์รับทุนเพราะอะไรต้องมีเหตุผลกำกับ ไม่ปล่อยเด็กหลุดแม้แต่คนเดียว ด้วยนโยบายโรงเรียนคือถ้าเราคัดกรองเด็กได้ทั้งหมด มันหมายถึงการเติมโอกาสให้เขา ดังนั้นครูทุกคนยินดีทำ แล้วข้อมูลมันสำคัญตรงที่แม้เด็กไม่ได้รับทุนเสมอภาค แต่มันคือแสงที่ส่องทางต่อไปถึงทุนอื่นได้ โดยส่วนหนึ่งเราจะสำรวจข้อมูลจากเว็บไซต์ ‘ส่องทางทุน’ ที่ กสศ. รวบรวมข้อมูลทุนต่าง ๆ เอาไว้ แนะแนวให้กับนักเรียน”

ครูนิภา ย้ำว่า การคัดกรองเด็กในทุกเทอม และรายงานการเข้าเรียนอย่างละเอียดโดยครูประจำชั้น คือกลไกที่ช่วยให้อัตราการหลุดจากระบบที่โรงเรียนวัดอ้อมน้อย ฯ เป็น ‘ศูนย์’ เนื่องจากการอัปเดตข้อมูลรายสัปดาห์จนถึงรายวัน จะช่วยระบุความเสี่ยงของเด็กที่กำลังจะหลุดจากระบบ และทำให้ความช่วยเหลือมาถึงทันท่วงที โดยนักเรียนที่ขาดเรียนเกินสามวัน เจ็ดวัน จนถึงสองสัปดาห์ จะมีครูลงเยี่ยมบ้านรับฟังปัญหา และออกแบบวิธีการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น หากมีปัญหาสุขภาพจะประสานไปยังหน่วยงานสาธารณสุข หรือหากมีความจำเป็นเรื่องการประกอบอาชีพ โรงเรียนจะช่วยปรับการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่น หากไม่สะดวกมาเรียนทุกวัน ก็อาจปรับให้มาเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 วัน จนสิ้นสุดภาคเรียนและได้เข้าสอบปลายภาค เพื่อให้มีบันทึกผลการเรียนที่นำไปใช้ศึกษาต่อได้               

 “เหตุผลของการติดตามข้อมูลเด็กแบบเรียลไทม์ อย่างที่บอกไปว่าบริบทของเราอยู่ในบริบทโรงงาน ดังนั้นจึงมีเด็กที่มา ๆ ไป ๆ จำนวนไม่น้อย บางคนอยู่เทอมเดียว บางคนอยู่ปีเดียว หรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ปกครอง ข้อมูลก็จะเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงไม่คงที่เช่นกัน เราจึงสื่อสารกับผู้ปกครองตลอดเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูล เพราะจะเป็นฐานเชื่อมต่อไปที่ทุนอื่น ๆ และความช่วยเหลือที่เหมาะสม ทันเวลา”