วันที่ 16 มกราคม 2568 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ประจำปี 2568 จากพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสงานวันครู ครั้งที่ 69 พ.ศ. 2568 ซึ่งจัดขึ้นโดยคุรุสภา ภายใต้หัวข้อ “เรียนดี มีความสุข : ครูไทยร่วมใจปฏิวัติการศึกษา สร้างเด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ณ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
โดยในปีนี้ คุรุสภาได้ประกาศยกย่องบุคคลและนิติบุคคลที่มีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ ประจำปี 2568 รวม 7 ราย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองประเภท ได้แก่
ประเภทบุคคล (6 ราย)
- พระพรหมบัณฑิต ธมฺมจิตฺโต
- พระเทพปริยัติโสภณ (ปัญญา วิสุทธิปญฺโญ)
- ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิง ไขศรี ศรีอรุณ
- นายกมล รอดคล้าย
- นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ประเภทนิติบุคคล (1 ราย)
- มูลนิธิสมาน – คุณหญิงเบญจา แสงมลิ
นอกจากนี้ ยังมีการประกาศเกียรติคุณและยกย่องผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่ได้รับรางวัลจากคุรุสภา รวมทั้งสิ้น 1,159 คน ซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่
- รางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จำนวน 3 คน
- รางวัลครูภาษาฝรั่งเศสดีเด่น จำนวน 5 คน
- รางวัลคุรุสภา จำนวน 27 คน (แบ่งเป็นระดับดีเด่น 9 คน และระดับดี 18 คน)
- รางวัลครูผู้สอนดีเด่น จำนวน 25 คน (แบ่งเป็นระดับดีเด่น 11 คน และระดับดี 14 คน)
- รางวัลคุรุสดุดี จำนวน 1,065 คน
การประกาศเกียรติคุณครั้งนี้เป็นการยกย่องการทำงานที่มีผลงานดีเด่นและส่งเสริมการศึกษาของชาติอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนและสังคม
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล : ผู้นำในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและสร้างโอกาสให้เด็กไทยทุกคน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นบุคคลที่มีผลงานสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะในด้านการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ท่านเป็นผู้ผลักดันการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเสริมสร้างคุณภาพการศึกษา ซึ่งได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 54 ภายใต้การทำงานในฐานะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งนำไปสู่การออก พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เป็นกลไกใหม่ที่สำคัญในการลดปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย
ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ได้ขับเคลื่อนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการสนับสนุนเด็กและเยาวชนจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน การพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพของสถานศึกษา ท่านยังได้พัฒนาแนวทางในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับเด็กยากจนด้อยโอกาสและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงการจัดตั้งโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน
ตัวอย่างการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่:
- การปรับโครงสร้างการจัดสรรงบประมาณ
การจัดสรรงบประมาณภาครัฐให้แก่เด็กนักเรียนยากจนพิเศษผ่านโครงการทุนเสมอภาค (Conditional Cash Transfer: CCT) โดยอาศัยงานวิจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น บัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NEA) และระบบการคัดกรองรายได้ทางอ้อม (Proxy Means Tests) เพื่อปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของนักเรียนในแต่ละพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและบรรเทาภาระทางการเงินสำหรับผู้ปกครอง
- การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชน
ดร.ประสาร ได้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ที่มอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 20% ของประเทศ เพื่อศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน หรือโครงการ “ทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนจากพื้นที่ห่างไกลกลับมาพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ของตนเอง - การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เพื่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาส
โครงการ “ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” มุ่งเน้นการสร้างโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ โดยการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน - การส่งเสริมการศึกษาระดับสูงในสายอาชีพ
โครงการ “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ” ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายที่ใกล้จบ ปวส. หรืออนุปริญญาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของกำลังคนในสาขาที่มีความต้องการในตลาดแรงงาน โดยเฉพาะในกลุ่ม New Growth Engine เช่น เทคโนโลยีดิจิตอล
ผลการประเมินของ กสศ.
ในระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ. ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์สำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการประเมินผลจากคณะกรรมการของกระทรวงการคลัง ซึ่งพบว่า กสศ. สามารถช่วยเหลือและสนับสนุนการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานได้สำเร็จ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญ เช่น นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน และระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Information System for Equitable Education หรือ iSEE” โดยเฉพาะการระดมความร่วมมือจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งการสร้างต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งได้ส่งผลให้การช่วยเหลือกลุ่มเด็กเยาวชนที่ยากจนที่สุด 15% ของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
“ครู ถือเป็นอาชีพที่สำคัญมาก เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยสร้างคน สร้างทรัพยากรมนุษย์ ครูจึงเป็นหัวใจของทุก ๆ เรื่องในชีวิตคนและชีวิตสังคม จึงอยากให้คุณครูทุกคนทราบถึงความสำคัญของตัวเองและรักงานที่ตัวเองทำ แม้ในหลาย ๆ ครั้ง อาชีพนี้จะมีอุปสรรคในการทำงานอยู่อีกหลายด้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือครูต้องรักในงานนี้ และในหลายโอกาสก็หมายถึงการเสียสละ เพราะสิ่งสนับสนุนต่าง ๆ ในหลายสถานการณ์อาจจะไม่พร้อม แต่เชื่อว่าหากคุณครูรักในงานนี้และมีอุดมการณ์ พลังในด้านนี้จะช่วยให้อุปสรรคต่าง ๆ เล็กลง และทำงานได้อย่างลุล่วงได้ในที่สุด
“ความรักจากครูถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด หากครูทำงานโดยเริ่มต้นจากความรัก ความปรารถนาดี ความอบอุ่น ความรู้สึกเหล่านี้จะส่งผลไปถึงเด็กและเยาวชน เมื่อเด็กเยาวชนมีความมั่นใจและสัมผัสได้ในความรักจากครู เรื่องความรู้ ทักษะ และด้านอื่น ๆ ก็จะตามมา” ดร.ประสาร กล่าวในโอกาสวันครู 16 มกราคม 2568