เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมี นายเผดิม เพ็ชรกูล อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นางสาวนิชญา ปราณีจิตต์ เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. พร้อมด้วยคณะผู้พิพากษา คณะผู้พิพากษาสมทบ เจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และคณะทำงานจาก กสศ. ร่วมในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หารือถึงแนวทางการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เป็นรูปธรรมสำหรับเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมในระยะยาว
นายเผดิม เพ็ชรกูล อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า จากข้อมูลที่ระบุว่าปี 2566 ที่ผ่านมา มีเด็กเยาวชนอยู่นอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลจำนวนมาก ในนามศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจึงรู้สึกดีใจและยินดีอย่างยิ่งที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้ความสำคัญถึงความร่วมมือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“การที่ กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในงานครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ด้วยรูปแบบ วิธีการ และหนทางที่เหมาะสมตามความต้องการรายคน ด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ รวมถึงยังเป็นโอกาสอันดีที่เด็กเยาวชนเหล่านี้จะได้รับวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือนำความรู้ความสามารถไปใช้ในการเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อไปให้ถึงการได้รับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรต่อไป เพื่อให้วุฒิการศึกษาดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต ซึ่งเป็นการลดโอกาสการหวนกลับมากระทำผิดซ้ำ และยังเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ”
อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคณะผู้พิพากษาสมทบที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์และความมุ่งมั่นเสียสละที่จะแก้ไขปัญหาให้กับเด็กและเยาวชน อีกทั้งพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับ กสศ. เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงนี้ต่อไป
นางเบญจวรรณ สิทธิสาท ผู้พิพากษาสมทบและหัวหนน้าโครงการด้านการศึกษาในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ เป็นไปเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาระหว่างสององค์กร สืบเนื่องจากการที่เด็กและเยาวชนเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่จะหลุดจากระบบการศึกษากลางคัน ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการเรียนรู้พัฒนาตนเอง อีกทั้งกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาคดี รวมถึงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เด็กเผชิญ ยังส่งผลต่อความสนใจใคร่รู้ เด็กเยาวชนเหล่านี้จึงถือว่ามีความเสี่ยงมากที่จะหลุดจากระบบการศึกษาอย่างถาวร ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจึงเล็งเห็นว่า จำเป็นต้องมีความร่วมมือกับ กสศ. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีนโยบายมุ่งสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาสขาดแคลนทุนทรัพย์ในสังคม เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยที่ผ่านมาทางศาลเยาวชนละครอบครัวกลางและ กสศ. ได้ร่วมประชุมหารือกันมาแล้วหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางการดำเนินการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงนำมาสู่การทำข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ภายใต้เป้าหมายในการจัดการศึกษาให้กับเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ร่วมกัน
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ให้ดำเนินการช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนาเด็กเยาวชนผู้ต้องการโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดย กสศ. ได้ทำข้อเสนอเชิงนโยบายแก่คณะรัฐมนตรี จนได้รับมติผ่านความเห็นชอบของ ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ Thailand Zero Dropout หลังจากที่ กสศ. ได้มีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริงต่อนายกรัฐมนตรีว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาอยู่ถึง 1,025,514 คน โดยเป็นเด็กเยาวชนที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือช่วงอายุ 6 – 14 ปี) มากกว่า 394,000 คน จึงเป็นที่มาของมติ ครม. ให้ กสศ. สนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศ ผ่านนวัตกรรมการศึกษา 4 ประการ คือ 1.ค้นหาและส่งต่อเป้าหมายให้เข้าสู่ระบบการศึกษา 2.สนับสนุนมาตรการการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับชีวิต 3.ค้นกระบวนการทำงานที่ยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4.สนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยมีสิทธิลดหย่อนภาษีสองเท่า
“เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 10 หน่วยงาน โดยหนึ่งในนั้นคือกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความร่วมมือระหว่างกันมายาวนานในการสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจฯ ได้กลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ ขณะที่ กสศ. เองได้รับทราบข้อมูลว่าประเทศไทยยังมีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนในช่วงระหว่างปี 2565-2566 มากกว่า 12,000 คดี ซึ่งโดยมากได้เกิดกับเยาวชนชายในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กสศ. และศาลเยาวชนและครอบครัวกลางครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้รับการดูแลก่อนถึงขั้นตอนที่จะเข้าไปสู่สถานพินิจฯ เพื่อบรรเทาความเสี่ยงของการหลุดจากระบบการศึกษา และความร่วมมือครั้งนี้ ยังช่วยให้ กสศ. สามารถบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนให้เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ไม่ต้องยุติลงไปเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. หวังอย่างยิ่งว่าในกระบวนการดูแลเด็กเยาวชนร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ กสศ. จะได้เรียนรู้กลุ่มเป้าหมายที่หลุดจากระบบการศึกษาด้วยเหตุเฉพาะ และจะมีแนวทางที่เหมาะสมตรงจุดยิ่งขึ้นในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเยาวชนเหล่านี้ เพื่อโอกาสอีกครั้งในการเปลี่ยนแปลงฟื้นฟูพัฒนาตัวเองเป็นอนาคตของประเทศชาติ ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ต่าง ๆ ได้อีกมากมาย รวมถึงการที่เด็กเยาวชนเหล่านี้จะได้กลับไปสร้างความสำเร็จต่อชีวิตและครอบครัวของตน สุดท้ายในนาม กสศ. ขอขอบคุณศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ที่ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้น