สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ทรงเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ทรงให้กำลังใจครู “ไม่ควรหยุดเรียนรู้ ต้องปรับตัว เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน” พบหลากเทคนิคการสอนจากสุดยอดครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต เน้นกระตุ้นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ปี 2567 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 พร้อมกันนี้ทรงทอดพระเนตรและทรงรับฟังการนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 และทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีผสมผสานระหว่างดนตรีสายใยจามจุรีและคณะครูเครือข่ายมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ณ อาคารอิมแพค ฟอรั่ม 2 เมืองทองธานี โดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ จาก 11 ประเทศ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ได้มีถ่ายทอดสดไปยังสถานเอกอัครราชทูตไปในประเทศอาเซียน ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ มองโกเลีย และภูฏาน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสในการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ว่า เป็นเวลา 10 ปีแล้วนับตั้งแต่มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2558 ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นครูที่มีความโดดเด่นของอาเซียนและติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นผู้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ระหว่างปี พ.ศ. 2558 – 2566 มาร่วมงานเฉลิมฉลอง และในปีหน้าจะมีครูดีเด่นจากอีกสามประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย มาร่วมฉลองกับเรา
ช่วงศตวรรษที่ 21 จะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีเกิดใหม่มากมาย เช่น AI เรา ในฐานะที่เป็นครู ต้องปรับตัวและพยายามเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไร แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ทักษะการเรียนรู้หลักก็ควรจะยังคงอยู่ ทักษะหลักเหล่านี้ ได้แก่ การรู้หนังสือ ความสามารถในการทำงาน ความสมดุลในตนเอง จริยธรรม และการปรับตัวเชิงสังคม ครูจึงไม่ควรหยุดเรียนรู้ เราต้องมีกลยุทธ์สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตัวข้าพเจ้าเองพบว่าการเดินทางและการเขียนเป็นการเรียนรู้ที่ดี ข้าพเจ้าเขียนหนังสือกว่า 60 เล่ม และนำความรู้ไปช่วยผู้ที่เสียเปรียบและผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล ข้าพเจ้าอยากจะสนับสนุนให้ทุก ๆ ท่านท้าทายตัวเองในการหาแนวทางการปฏิบัติที่ดีขึ้น
ขอให้เราใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการสอนของเรา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับเส้นทางการสอนและการเรียนรู้ของเรา เพื่อสร้างความแตกต่างเชิงบวกในชีวิตของนักเรียนทุกคน ขอให้ครู PMCA เป็นดั่งแสงสว่างแห่งแรงบันดาลใจ จุดประกายความอยากรู้อยากเห็นในจิตใจของเด็ก ๆ นำทางพวกเขาผ่านความท้าทาย และเฉลิมฉลองชัยชนะของพวกเขา
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ จะจัดสลับกับการพระราชทานรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเพื่อเชิดชูครูดีเด่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงาน มุมมองทางการศึกษา และความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพครู ในปีนี้มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลทั้งสิ้น 44 คนจาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมการประชุม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ที่จะช่วยยกระดับศักดิ์ศรีและศักยภาพในการประกอบวิชาชีพให้แก่เพื่อนครูต่อไป
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศอาเซียนและติมอร์-เลสเต ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี และเพื่อถวายเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มเติมประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย รวม 14 ประเทศ เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัล ในวันที่ 17 ตุลาคม 2568
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังดำเนินกิจกรรม “After award activity” เพื่อต่อยอดการทํางาน ให้แก่ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี อาทิ การจัดประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (PMCA Forum) เพื่อให้ครูได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของครูผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้ามหาจักรีในแต่ละรุ่น รวมถึงการต่อยอดและสนับสนุนการทำงานของครูบนโจทย์ความต้องการของครูในแต่ละประเทศ ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อครู ลูกศิษย์ และวงการศึกษา โดยครูผู้เป็นพลังแห่งการสร้างเด็กเยาวชนและเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาเพื่ออนาคต
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี มีครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. นาย โมฮาหมัด อาเมียร์ เออร์วัน ฮาจี ม๊อกซิน (Mr. Mohamad Amir Irwan Haji Moksin) ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมศึกษา Pengiran Kesuma Negara Bukit Beruang แลกเปลี่ยนว่าการเล่นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กปฐมวัย รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ เช่น การเลือกหนังสือให้น่าสนใจในห้องสมุด การจัดพื้นที่สำหรับเด็กพิเศษเพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ รวมถึงการสอนแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยี
2. นางจักรียา เฮ (Mrs. Chakriya Hay) ประเทศกัมพูชา ครูสอนคณิตศาสตร์ในโรงเรียนระดับมัธยมปลาย Sok An Samrong High School จังหวัดตาแก้ว ผู้ผสมผสานวิชา STEM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีการพัฒนากิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์และเกม โดยมีเป้าหมายต้องการพัฒนานักเรียนให้มีประสบการณ์เรียนรู้ที่ดี มีจริยธรรม เพราะการศึกษาที่ดีจะช่วยพัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น
3. นางฮาริสดายานี (Mrs. Harisdayani) ประเทศอินโดนีเซีย ครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนประถมศึกษา SMP Negeri 2 Binjai ผู้ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย แลกเปลี่ยนว่า หลังจากที่ได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำเงินส่วนหนึ่งมาปรับปรุงอาคารเรียนและพัฒนาสื่อการสอน ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม จากเดิมที่เรียนเพียง 2 คาบ/สัปดาห์ และทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาเพื่อทำแบบทดสอบการวัดทักษะความสนใจของผู้เรียน
4. นางกิมเฟือง เฮืองมะนี (Mrs. Kimfueang Heuangmany) สปป.ลาว ครูใหญ่และครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาในโรงเรียนประถมศึกษา The Pheermai เมืองละมาม แขวงเชกอง แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจของการเป็นครูเพราะในสมัยเรียนมีครูไม่เพียงพอ หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลได้นำเงินมาพัฒนาโรงเรียน อาทิ เครื่องกรองน้ำ สื่อการสอน ส่งเสริมกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ผ่านการปรุงน้ำหมักจุลินทรีย์ ทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว
5. นายไซฟูนิซาน เช อิสมาเอลท (Mr. Saifulnizan Che Ismail) ประเทศมาเลเซีย ครูคณิตศาสตร์ที่มีพื้นฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และไอที โรงเรียนประถมศึกษา Sekolah Kebangsaan Raja Bahar ในโกตาบารู แลกเปลี่ยนการเรียนรู้คณิตศาสตร์สู่ชีวิตประจำวัน เช่น การจัดทำสวนสมุนไพรและเลี้ยงผึ้งในโรงเรียน โดยใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และทักษะชีวิต ในการคำนวณปริมาณน้ำผึ้ง การใช้แอปพลิเคชันผ่าน Story telling และหุ่นยนต์ เพื่อพัฒนานักเรียนก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล
6. ดอ อาย ซู หวิ่น (Daw Aye Su Win) ประเทศเมียนมา ครูสอนภาษาอังกฤษ โรงเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานในเมือง Hlaingtharyar Township แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ ได้นำไปพัฒนาโรงเรียน เช่น ไฟฟ้า ระบบกรองน้ำ พื้นที่ล้างมือในโรงเรียน รวมถึงพัฒนาภาษาอังกฤษ ทั้งการอ่าน เล่านิทาน เพื่อช่วยให้นักเรียนมีความพร้อมในการสื่อสารภาษาอังกฤษ และการพัฒนากิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การปลูกผัก การป้องกันยุงลายในโรงเรียน
7. นายเจอร์วิน วาเลนเซีย (Mr. Jerwin Valencia) ประเทศฟิลิปปินส์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งชาติไดกราส โรงเรียนชั้นนำของจังหวัดอีโลโคสนอร์เต แลกเปลี่ยนการสอนจากมุมมองคณิตศาสตร์เป็นเพียงวิชาสู่การผสาน M.A.T.H. เข้ากับชีวิตประจำวัน เน้นการลงมือทำ โดยผู้เรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ และการช่วยเหลือคนในชุมชนโดยทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น การซ่อมแซมบ้านผู้ประสบภัยและขาดโอกาส
8. นางชิว หลวน เพนนี ชง (Mrs. Chew Luan Penny Chong) ประเทศสิงคโปร์ ครูการศึกษาพิเศษ ที่มีความบกพร่องทางสายตา โรงเรียน Ahmad Ibrahim Secondary School แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น พัฒนานักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการ การจัดทัศนศึกษาเพื่อให้นักเรียนที่บกพร่องทางการมองเห็นเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนทั่วไป รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนนักเรียนที่บกพร่องการมองเห็น
9. นางสาว ฟิโลมินา ดา คอสต้า (Ms. Filomena da Costa) ประเทศติมอร์-เลสเต ครูสอนภาษาอินโดนีเซียในโรงเรียนมัธยมปลาย Saint Miguel Arcanjo Secondary School แลกเปลี่ยนว่า หลังจากได้รับพระราชทานรางวัล ฯ รวมถึงได้รับรางวัลนักสิทธิมนุษยชนของประเทศได้นำเงินมาพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งใจจะพัฒนาชุมชน โรงเรียน เช่น ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับติมอร์-เลสเต
10. นายมา หุ่ง เหงียน (Mr. Manh Hung Nguyen) ประเทศเวียดนาม รองผู้อำนวยการโรงเรียน Hoang Van Thu High School for the Gifted แลกเปลี่ยนการบริหารงานโรงเรียนและการสอนภูมิศาสตร์ นอกจากพัฒนาผู้เรียนให้เป็นเลิศทางวิชาการ ยังมีการสอนทักษะชีวิต เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม กิจกรรมวิจารณ์หนังสือเพื่อส่งเสริมการอ่านและคิดวิเคราะห์ ทักษะเอาชีวิตรอดจากอัคคีภัย ภัยธรรมชาติ การปฐมพยาบาล และการพัฒนานักเรียนให้มีหัวใจเมตตา โดยพานักเรียนเยี่ยมบ้านผู้ประสบภัย เพื่อให้นักเรียนพร้อมเผชิญความท้าทายในยุคปัจจุบัน
11. นายนิวัฒน์ เงินงามมีสุข ประเทศไทย ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่บ้านโมโคคี บ้านมอโก้คี ผู้บุกเบิกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนพื้นที่เขาแม่ฟ้าหลวง จังหวัดตาก แลกเปลี่ยนว่า กิจกรรมศูนย์การเรียนรู้กาแฟมอโกคี มีทั้งเกษตรกร และประชาชนที่สนใจมาร่วมเรียนรู้ อาทิ การจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมต่อกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การประกาศแนวเขตป่าทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน และการขยายผลการเรียนรู้ไปยังเครือข่ายชุมชนอื่น ๆ ร่วมกับ กสศ.