ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือปัญหาที่ประเทศไทยเผชิญหน้ามาอย่างยาวนานหลายสิบปี และยิ่งทวีความรุนแรงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา สภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ หลายครัวเรือนต้องตกอยู่ใน “ภาวะยากจนเฉียบพลัน” เนื่องจากการขาดแคลนรายได้จากการทำงาน
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้จำนวนนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนนักเรียนในกลุ่มดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการต้องใช้ชีวิตในวิกฤตการณ์เงินเฟ้อ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่าบริการต่างๆ สูงขึ้นสวนทางกับจำนวนเงินในกระเป๋า
สถานการณ์ข้างต้นจึงเป็นที่มาของภารกิจสำคัญที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายและตัวแทนทีมออกแบบนโยบายการศึกษาจากพรรคการเมือง ในการจัดวงเสวนาเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้มีความเสมอภาคและยั่งยืน
งานเสวนา เปิดฉากทัศน์ความเหลื่อมล้ำและข้อเสนอสู่ทางออก “ข้อเสนอนโยบายสู่การฟื้นฟูระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค” ถูกจัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 มีตัวแทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนการศึกษามาร่วมแลกเปลี่ยนดังนี้
- ‘ดร.ไกรยส ภัทราวาท’ ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- ‘ดร.อัมพร พินะสา’ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ‘ดร.ดอน นาครทรรพ’ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
- ‘ดร.ยุทธภูมิ จารุเศร์นี’ ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
- ดำเนินรายการโดย ‘สันติพงษ์ ช้างเผือก’ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส และ ‘ฐปนีย์ เอียดศรีไชย’ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters
การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่เป็นการลงทุนในมนุษย์
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เริ่มต้นด้วยการฉายให้เห็นฉากทัศน์ของประเทศไทยที่มีเป้าหมายก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวเข้าสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงในอนาคต ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้พิชิตเป้าหมายได้สำเร็จ คือระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและและทุกคนสามารถเข้าถึงได้
หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 จะเห็นได้ว่ารายได้เฉลี่ยหลังสำเร็จการศึกษาของเยาวชนไทยเพิ่มขึ้นตามระดับวุฒิการศึกษา หากประชากรมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นโจทย์ที่สำคัญคือ “ทำอย่างไรให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึง และมีระดับการศึกษาที่สูงขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา” โดยกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเยาวชนในครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนของประเทศไทย
ข้อเสนอจาก ดร.ไกรยส เน้นย้ำไปที่ 3 ประเด็นสำคัญคือ (1) ตั้งงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับทุนสนับสนุนนักเรียนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น (2) เสนอให้ต้นสังกัดปรับอัตราเงินอุดหนุนเด็กนักเรียนยากจนให้สูงขึ้น (3) ปรับอัตราเงินทุนเสมอภาคเพิ่มขึ้น และติดตามผลลัพธ์เชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้เงินอุดหนุนที่มีอัตราคงที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 มีมูลค่าที่แท้จริงลดลง ส่งผลต่อกำลังในการจับจ่ายใช้สอย
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ยังชี้ให้เห็นว่า หากเราสามารถทำให้นักเรียนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนมีการศึกษาที่สูงขึ้น มีรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น และเข้าสู่ฐานภาษีของประเทศได้ในอนาคต จะช่วยสร้างผลตอบแทนของการลงทุนทางเศรษฐกิจ (IRR) สูงถึง 9% และคาดว่าผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีงบประมาณมากเพียงพอต่อการจัดสวัสดิการด้านการศึกษาแบบถ้วนหน้า (universal) ให้สำเร็จได้ในอนาคต
“การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือการลงทุนด้วยการพัฒนาประเทศในระยะยาว เสถียรภาพและความยั่งยืนของประเทศอยู่ที่ประชากรกลุ่มนี้ ซึ่งถ้าหากเราดูแลเขาได้ดี ต่อไปในอนาคตเค้าจะกลับมาดูแลเรา” ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาทิ้งท้าย
ไม่ใช่แค่เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา แต่ต้องลดความเหลื่อมล้ำเชิงคุณภาพไปพร้อมๆ กัน
“ในอดีตที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นในการสร้างโอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าเด็กอยู่ที่ไหนก็ต้องมีโอกาสได้เข้าเรียน แต่ปัจจุบันเราเจอสภาวะที่กลับกัน กระแสเรียกร้องในตอนนี้ไม่ใช่มิติของโอกาส แต่เป็นมิติของคุณภาพ”
ประโยคนี้จาก ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชี้ให้เห็นว่านอกจากการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาแล้ว คุณภาพในการจัดการศึกษาในแต่ละโรงเรียนนั้นเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องสนใจ
“เด็กในกรุงเทพไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ เด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในกรุงเทพ เด็กในอำเภอเข้ามาเรียนในจังหวัด เด็กในตำบลเข้ามาเรียนในอำเภอ และปล่อยให้โรงเรียนข้างนอกมีไว้สำหรับเด็กด้อยโอกาส”
เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำในคุณภาพของการจัดการศึกษา ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “นักเรียนไหลเข้าสู่ใจกลางเมือง” เนื่องจากโรงเรียนที่มีคุณภาพมักกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่แห่ง เช่น โรงเรียนประจำอำเภอ หรือโรงเรียนประจำจังหวัด ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายแฝงจากการเดินทาง ซึ่งแต่ละครอบครัวจะต้องแบกรับโดยไม่ทันตั้งตัว
ข้อเสนอของ ดร.อัมพร จึงต้องการเห็นภาพโรงเรียนที่มีคุณภาพกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ไม่ว่านักเรียนจะอาศัยอยู่ที่ไหนก็สามารถเดินทางไปโรงเรียนเหล่านั้นได้ผ่านบริการรถโรงเรียนที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน
เราจะก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงไม่ได้ หากเราไม่ดูแลด้านการศึกษาให้มีคุณภาพ
เมื่อมองในมุมของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีการประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้เข้าสู่ประเทศรายได้สูง อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 5 แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันนั้น เป็นไปไม่ได้เลย
“ถ้าคุณเป็นคนที่มีรายได้น้อย โอกาสที่ลูกหลานของคุณจะมีระดับการศึกษาสูงๆ นั้นก็น้อยตามลงไปด้วย สิ่งนี้เรียกว่า ‘วงจรอุบาทว์’ ที่เราต้องช่วยกันแก้ไข”
ในปัจจุบันมีครอบครัวจำนวนมากที่ตกอยู่ภายใต้เส้นความยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสวนทางกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ลดลง ส่งผลให้หลายบ้านตัดสินใจไม่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน เพราะเห็นว่าเรื่องปากท้องของครอบครัวสำคัญกว่า จึงกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” และ “กับดัก” ที่หนีไม่พ้น หากการศึกษายังไม่สามารถพาพวกเขาก้าวออกจากหลุมแห่งความยากจนได้
เป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลจาก ดร.ยุทธภูมิ จารุเศร์นี ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่เสนอตัวเลขจริงของค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในครอบครัวไทย
“ครัวเรือนที่มีรายได้สูงนั้นมีการลงทุนในด้านการศึกษาเฉลี่ยเดือนละ 1,010 บาท แต่ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยนั้นใช้เงินลงทุนด้านการศึกษาเฉลี่ยเดือนละ 48 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.7 ของรายได้ทั้งหมด”
นอกจากในมิติทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ดร.ยุทธภูมิ เสริมว่ามิติด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้อาหารกลางวันมีโภชนาการที่ครบถ้วน หรือการส่งเสริมการออกกำลังกายให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรงก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต
งานเสวนาครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่าการขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จำเป็นต้องอาศัยมุมมองที่หลากหลาย และอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อผนึกพลังทางความรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การเสนอนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
“การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศในระยะยาว เสถียรภาพและความยั่งยืนของประเทศนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชากร ซึ่งถ้าหากเราดูแลเขาได้ดี ต่อไปในอนาคตเขาจะกลับมาดูแลประเทศของเรา” ดร.ไกรยส ผู้จัดการ กสศ. ทิ้งท้าย