“เติมทรัพยากรโรงเรียนห่างไกล” กสศ. มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่าย จัดกิจกรรม “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งที่ 1
ชูแนวคิดเปลี่ยนวิธีจัดสรรทรัพยากรการศึกษาใหม่ให้เสมอภาค

“เติมทรัพยากรโรงเรียนห่างไกล” กสศ. มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่าย จัดกิจกรรม “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งที่ 1

กองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “ธนาคารโอกาส และถนนครูเดิน” ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ณ โรงเรียนบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีครูโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเครือข่ายกว่า 200 คนจากโรงเรียนกว่า 30 แห่งเข้าร่วม

ผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน สอดคล้องกับคุณภาพการสอนของครู รวมถึงความพร้อมด้านทรัพยากรของโรงเรียน “การลงทุนกับธนาคารโอกาสจึงเป็นการลงทุนที่ไม่มีวันขาดทุน” เพราะมีผลวิจัยเชิงสถิติชี้ชัดว่า “นักเรียนในโรงเรียนชนบทมีผลการเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในเขตเมืองถึง 2 ปีการศึกษา” สาเหตุสำคัญเป็นเพราะ ขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ขณะที่ความรู้ในโลกปัจจุบัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เทคโนโลยี กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ แต่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ยังขาดแคลน เพราะงบประมาณที่ไม่เพียงพอ

กสศ. ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ระดมความร่วมมือจากสังคม เปิดโครงการธนาคารโอกาสเป็น ‘ตัวกลาง’ รับ-ส่ง สิ่งของบริจาคไปยังโรงเรียนปลายทาง กิจกรรม “ธนาคารโอกาส และถนนครูเดิน” ครั้งแรกนี้ได้ส่งมอบคอมพิวเตอร์ 250 เครื่อง พร้อมทีมงานเข้าติดตั้งให้กับโรงเรียนในภาคเหนือรวม 21 แห่ง พร้อมนำทรัพยากรด้านการศึกษาอื่น ๆ มาแบ่งปันอาทิ ชุดนักเรียน อุปกรณ์กีฬา หนังสือส่งเสริมการอ่าน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์สริมทักษะ ฯลฯ  นอกจากนี้ได้เปิดเวทีเสวนาเคลื่อนขบวนความร่วมมือ “All For Education – Education For All: การกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล” ระดมข้อเสนอจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยมีผู้บริหารโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย ภาคการเมืองท้องถิ่น และครูในพื้นที่ ซึ่งเห็นตรงกันว่า การบริจาคสิ่งของในธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าที่ทำได้ทันที แต่การปฏิรูปงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรที่เสมอภาคคือทางออกที่ยั่งยืน

นายไชยรัตน์ จินะราช รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 3

นายไชยรัตน์ จินะราช รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายเขต 3 กล่าวว่า กิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน คือภาพตัวอย่างการขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ‘จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน’ ตามโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับ สพป.เชียงรายเขต 3 ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ 5 อำเภอในพื้นที่พิเศษซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีเด็กนักเรียนราว 35,000 คนจากโรงเรียน 139 แห่ง มีจำนวนนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างมาก จึงยินดีอย่างยิ่งที่มีหน่วยงานจากภายนอกที่มองเห็นปัญหา และพยายามระดมความร่วมมือเพื่อเข้ามาช่วยเหลือเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่มีโอกาสมากขึ้น 

“ธนาคารโอกาสและถนนครูเดินไม่เพียงเป็นการนำทรัพยากรในรูปสิ่งของเข้ามาให้เด็ก ๆ แต่กิจกรรมนี้ยังถือเป็นเวทีสำคัญของผู้บริหารและครูในพื้นที่ ที่จะได้มาสะท้อนภาพการทำงานและเสนอแนะข้อมูลจำเป็น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาการจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงให้มีคุณภาพ ขณะเดียวกันยังเป็นเวทีที่คณะทำงานจากภายนอก ทั้งระดับนโยบาย คนทำงานวิชาการ รวมถึงครูและบุคลากรการศึกษา จะได้มาแลกเปลี่ยนและรับฟังว่ามีแนวทางหรือกระบวนการใดที่ทำได้ทันที หรือมีความเป็นไปได้อย่างไรที่จะช่วยกันผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย รวมทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่โรงเรียนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือทุกแห่ง จะได้ประสานการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน เพื่อทำให้ช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ยกระดับมาตรฐานใกล้เคียงกับโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ธนาคารโอกาสและถนนครูเดินจัดขึ้นเพื่อแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะโจทย์เรื่องการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลาง ที่ยึดโยงกับค่าใช้จ่ายรายหัว อันเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดยโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทหลายแห่งซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเด็กชาติพันธุ์ มีนักเรียนผู้พิการเรียนร่วม มีเด็กที่ขาดแคลน ไร้ต้นทุน และไม่มีแต้มต่อใด ๆ เลยจากครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนหนึ่งไม่เกิน 3,000 บาท สารพัดปัญหาเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงยังเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา ดังนั้น กสศ. และภาคีทุกฝ่าย จึงเห็นว่าการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม จะเป็นเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดยมุ่งระดมทรัพยากรจากทั่วประเทศไปให้ถึงพื้นที่ด้อยโอกาสขาดแคลน และสนับสนุนผลักดันให้มีการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต อาทิ โมเดล 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ปรับการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้สามารถผสมผสานระหว่าง การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย เข้าด้วยกัน หรือการคิดค้นนวัตกรรมโรงเรียนมือถือ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นนได้ทุกที่ทุกเวลา และจะสอดรับกับธนาคารหน่วยกิต (Cradit Bank) ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

“เราต้องไม่ลืมว่าเด็กเยาวชนแต่ละคนและบริบทของพื้นที่นั้นมีความแตกต่างหลากหลาย ฉะนั้นถ้าการจัดสรรทรัพยากรการศึกษามีเพียงรูปแบบเดียว เราจะมีเด็กราว 10% ที่หลุดออกไปทุกปี” 

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน คือการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม (Communication for Change) ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอย่างเสมอภาค โดยการขับเคลื่อนครั้งนี้ กสศ. ได้พลังความร่วมมือจากภาคี ที่มาช่วยกันระดมทรัพยากรจากทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อไปถึงจุดที่ขาดแคลนและมีความต้องการอย่างแท้จริง โดยทุกฝ่ายคาดหวังว่าผลลัพธ์จากกิจกรรมนี้ จะเป็นกระบอกเสียงที่สื่อสารไปถึงคนทั้งสังคมให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายใน (Mindset) ว่าการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ จะไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และคนทุกคน จะต้องเป็นเจ้าของโจทย์ เจ้าของพื้นที่ ต้องมีส่วนร่วมและรับมือกับทุกอุปสรรคปัญหาไปด้วยกัน และถ้าทุกคนเดินหน้าไปตามรอยทางนี้ ความเปลี่ยนแปลงจะค่อย ๆ คืบคลาน เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่การจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณลงไปสู่ตัวเด็กและพื้นที่ที่มีความต้องการจริง ๆ โดยคำนึงถึงบริบทแวดล้อมเป็นตัวตั้ง เมื่อนั้นจะเป็นความงดงามของการจัดการศึกษา ที่สอดรับกับความหลากหลายแตกต่างของลักษณะพื้นที่ และของต้นทุนภายในที่เด็กแต่ละคนมีอยู่   

“กสศ. พบแนวทางที่น่าสนใจและเกิดขึ้นแล้วในบางพื้นที่ ว่าการทำงานโดยจับกลุ่มความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะช่วยเติมเต็มเรื่องการขาดแคลนงบประมาณ หรือทำให้การศึกษาสามารถปลดล็อกบางกฎระเบียบได้ในพื้นที่และสถานการณ์เฉพาะ สำหรับ กสศ. เรามีบทเรียนการทำงานที่ทำให้เห็นว่า ถ้าฐานข้อมูลเชื่อถือได้ ชี้เป้าแม่นยำ และมีแนวทางการทำงานที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่น ภาคเอกชนจะพร้อมทุ่มทรัพยากรลงมาอย่างเต็มที่ เพราะองค์กรเหล่านี้เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนในพื้นที่ ฉะนั้นกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในจุดเริ่มต้น ที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันทำให้ความงอกงามของการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้วยการกระจายทรัพยากร ได้ส่งเสียงไปถึงหน่วยงานภาคเอกชนที่มีกำลังและพร้อมลงมือทำ เพื่อผลักดันให้ความร่วมมือเช่นนี้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”

นายทิรัตน์ ผลินกูล หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน คือการดึงความร่วมมือของทุกฝ่าย มาร่วมระดมทรัพยากรจากทั่วประเทศ เพื่อคัดแยก-ส่งต่อ และกระจายไปให้ถึงพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลน ซึ่งจะสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นหลายต่อ ประการแรกคือช่วยให้น้อง ๆ จากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลได้ต่อยอดการเรียนรู้ มีโอกาสมากขึ้นในการไปถึงสิ่งที่สนใจและมีศักยภาพ ประการที่สองคือโอกาสของครูที่จะสามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ส่วนประการที่สามคือการปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากการศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนและครูในพื้นที่ห่างไกลได้รับการเติมเต็มด้านคุณภาพชีวิต  

นายทิรัตน์ ผลินกูล หัวหน้าโครงการศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา

“มูลนิธิกระจกเงาเชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่เด็กเยาวชนทุกคนพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ นั่นหมายถึงเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรากฐานการพัฒนาประเทศได้สำเร็จ ขณะที่การลงพื้นที่ทำให้เห็นว่าแม้ครูในพื้นที่ห่างไกลหลายแห่ง จะพิสูจน์ว่าพวกเขาทั้งทุ่มเทพยายาม และมีความสามารถที่จะปรับใช้ต้นทุนทรัพยากรเท่าที่มี เพื่อจัดการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับน้อง ๆ อย่างไรก็ตาม ทุกท่านคงเห็นเช่นเดียวกันว่า ถ้าครูเหล่านี้มีอุปกรณ์ที่สมบูรณ์ มีเครื่องมือพร้อม การจัดการเรียนการสอนจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกประเด็นสำคัญคือเครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทั้งคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟน จะเป็นบานประตูที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เด็ก ๆ ได้สืบค้นข้อมูลที่สนใจได้ทุกเวลา โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพที่สนใจในอนาคต”

นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.

นายพัฒนพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ธนาคารโอกาสและถนนครูเดินเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การเข้าถึงโอกาสและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลมีความเสมอภาคมากขึ้น โดย กสศ. ยังมีการทำงานที่มองถึงการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวอีกหลายโครงการ เช่น โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา รวมถึงอีกหลายโครงการที่ทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา สำหรับเด็กเยาวชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลในทุกมิติ 

“กสศ. เชื่อว่าการทำงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะในพื้นที่ และงานด้านการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ จำเป็นต้องดำเนินคู่ขนานไปพร้อมกัน เพื่ออุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในปัญหาที่เร่งด่วน และมองถึงการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เหมาะสมกับบริบท เท่าทันสถานการณ์ โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนขนาดเล็กและพื้นที่ห่างไกล จำเป็นต้องมีการระดมทรัพยากรทันทีเพื่อให้การจัดการเรียนรู้ทำได้ดีขึ้น อีกทั้งการปรับโครงสร้างงบประมาณสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของโรงเรียนเหล่านี้ ก็ต้องมีการผลักดันเชิงนโยบายโดยเร็วที่สุด เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นและข้อจำกัดของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ หรือคือการลดความเหลื่อมล้ำของ ‘ช่องว่างการเรียนรู้สองปีการศึกษา’ ระหว่างโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลกับโรงเรียนในเมืองให้แคบลง”       

ทั้งนี้กิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครู จะมีการจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค ปักหมุดแรกที่จังหวัดเชียงราย และจะมีการจัดในภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ตามลำดับในปี 2567 นี้