“ออกแบบการศึกษายืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่วัยรุ่น” กสศ. สนับสนุนเครือข่าย สร้างพื้นที่ปลอดภัย
ผลักดันระบบดูแลช่วยเหลือเยาวชนพ่อแม่วัยรุ่นให้สามารถเรียนต่อได้แม้ตั้งครรภ์

“ออกแบบการศึกษายืดหยุ่นสำหรับพ่อแม่วัยรุ่น” กสศ. สนับสนุนเครือข่าย สร้างพื้นที่ปลอดภัย

จากงานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับเครือข่าย พบว่า การไม่สามารถเรียนต่อได้เพราะการตั้งครรภ์ ต้องดูแลลูกและหารายได้เลี้ยงลูก เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เด็กเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อหาทางออกให้กับปัญหานี้ กสศ. ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการแนวทางการทำงานเพี่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ที่โรงแรมอมารีดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายน 2567 เพื่อให้หน่วยจัดการเรียนรู้ที่สนใจการทำงานกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจ มุมมองแนวคิด และแนวทางการทำงานกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ร่วมกันพัฒนาแนวทางการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติด้านการศึกษาและอาชีพสำหรับพ่อแม่วัยรุ่นในระดับพื้นที่

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานเพี่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น จำเป็นที่จะต้องมาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางดูแลเยาวชนกลุ่มนี้ที่เข้าถึงปัญหาจริง ๆ เพราะปัญหาของเยาวชนพ่อแม่วัยรุ่นมีความซับซ้อน เข้าถึงยากและปัญหาเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บางพื้นที่มีรายงานว่า พบเยาวชนที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรมีอายุเพียง 9 ขวบเท่านั้น

“จากที่ได้ฟังประสบการณ์การทำงานจากหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ทำงานกับกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น พบว่า รากลึกของสถานการณ์กลุ่มวัยรุ่นตั้งครรภ์นั้นมีความซับซ้อนและสามารถแตกแขนงไปยังจุดที่สังคมมองไม่เห็น และไม่ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง เมื่อเด็กคนหนึ่งตั้งครรภ์ ในที่สุดก็ต้องออกจากโรงเรียน สิ่งที่จะได้รับผลกระทบไปด้วย ก็คืออนาคตของเด็กคนนั้น เมื่อไม่มีระบบที่รองรับ อนาคตของเด็กกลุ่มนี้ก็จะดับสูญไปทันที

“ต้องพยายามหาแนวทางช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ทำอย่างไรที่จะดูแลปัญหาที่ยังเต็มไปด้วยอคติ และการตีตรา จนทำให้ปัญหานี้แก้ได้ยากหรือไม่มีทางออก ประกอบกับเมื่อเกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน ก็ยิ่งกลายเป็นปัญหาที่ซ้ำซ้อน

“ลองคิดดูว่า ถ้าเด็กกลายเป็นคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงเด็กภายใต้ครอบครัวที่ขาดแคลนแทบทุกอย่าง ทั้งสองชีวิตจะไปต่อท่ามกลางภาวะเปราะบางนี้ได้อย่างไร หากไม่ช่วยกันหาวิธีดูแลที่เหมาะสมยั่งยืน ช่วยกันออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับพวกเขา ปัญหานี้ก็จะอยู่ในวังวนเดิมของครอบครัวเด็กกลุ่มนี้อย่างไม่รู้จบ”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า ถึงเวลาที่จะต้องช่วยกันออกแบบการดูแล กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นทั่วประเทศซึ่งมีประมาณ 5-6 หมื่นคนอย่างเป็นระบบ หรือเป็นนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ  โดยคำนึงถึงปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ให้ครบถ้วนทุกมิติ

“ปัจจุบันการดูแลเยาวชนกลุ่มนี้ ยังมีรูปแบบการทำงานด้านการช่วยเหลือเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มจากคณะทำงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน  ยังไม่ใช่นโยบายที่เข้มแข็งจากจากภาครัฐหรือระบบหลักของสังคม ทำให้ดูแลเยาวชนกลุ่มนี้ได้เพียง 6-700 คน แต่ยังมีอีกประมาณ 5-6 หมื่นคนที่ยังต้องการความช่วยเหลือ พ่อแม่วัยรุ่นจำนวนมากเรียนจบเพียงระดับชั้นประถมศึกษา ไม่มีความรู้  ไม่กล้า หรือยังเข้าไม่ถึง หรือไม่ทราบเรื่องสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ สำหรับพวกเขาสวัสดิการที่มีจึงอาจจะกลายเป็นศูนย์

“จะต้องผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายที่มีกลไกการทำงานที่เข้าถึงปัญหาที่ละเอียดอ่อนนี้ จะปล่อยให้ปัญหานี้ เป็นปัญหาที่เงียบๆ เป็นปัญหาที่ไม่ใส่ใจ หรือไม่ยอมรับต่อไปไม่ได้ จะต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ที่ดีและปลอดภัยสำหรับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยกำหนดบทบาทให้ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียนหรือสังคมรอบตัวเด็ก เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันออกแบบการช่วยเหลือเด็ก โดยไม่ทอดทิ้งหรือผลักไสพวกเขาเข้าไปสู่มุมมืด ต้องช่วยกันตัดวงจรการส่งต่อปัญหานี้ไปสู่รุ่นต่อไปเป็นวังวนให้ได้” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น คือผู้ที่มักจะขาดโอกาสในหลายส่วน ทั้งด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจ โจทย์ของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ต้องมองให้ครบในทุกมิติปัญหา

“การจัดการศึกษาให้กลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นในรูปแบบปัจจุบัน เน้นที่เรื่องของการศึกษาเท่านั้น ยังขาดความยืดหยุ่นที่เอื้อกับมิติปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่จริง ซึ่งยังต้องการทั้งความยืดหยุ่นด้านเวลาและรูปแบบการเรียนที่สอดคล้องกับความจำเป็นในแต่ละรายบุคคล แนวทางการดูแลสุขภาพของเด็กทารก แนวทางการประกอบอาชีพ ที่ช่วยให้ประคับประคองตัวเองได้ เพราะเด็กกลุ่มนี้จะไม่ใช่กลุ่มที่ดูแลเพียงแค่ตัวเองเท่านั้น พวกเขามีแนวทางที่จะต้องดูแลสมาชิกในบ้านที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย การศึกษาที่ยืดหยุ่นสำหรับพวกเขา จะต้องมีมุมมองแบบบูรณาการการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้”

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า เยาวชนพ่อแม่วัยรุ่น อาจจะไม่สามารถไปเรียนในโรงเรียนหรือสถานที่จัดการศึกษาได้ ก็ต้องมองว่าจะออกแบบการศึกษาให้บางชั่วโมงเรียนสามารถเรียนผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตที่บ้านหรือที่ทำงานได้หรือไม่ และต้องออกแบบการแนะนำการดูแลทารกให้กับทั้งพ่อและแม่ ออกแบบกลไกให้พวกเขาเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ กลไกความช่วยเหลือในระดับพื้นที่หรือในระดับชุมชน ที่เข้าใจความละเอียดอ่อนของปัญหานี้ ซึ่งมากกว่าเรื่องของการศึกษา อย่างเช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาความเครียด ฯลฯ

“อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโจทย์การทำงานซ้อนกันหลายโจทย์ เราเชื่อว่าหลาย ๆ ภาคส่วนที่มาร่วมกันในวันนี้ มีศักยภาพในการทำงาน หรือออกแบบกลไกนี้ขึ้นได้ เพราะทุกคนเชื่อมั่นตรงกันว่า เราไม่ได้เพียงแค่ดูแลพ่อหรือแม่วัยรุ่น แต่เรากำลังดูแลอนาคตของชาติ ดูแลคนรุ่นลูก ที่กำลังเติบโตขึ้นมาอีกด้วย หากเราทำงานอย่างถูกจุด ไม่มองปัญหาเป็นปัญหาเชิงเดี่ยว วิธีการทำงานและผลลัพธ์ที่ได้ จะไม่ใช่แค่การดูแลคน ๆ เดียว แต่จะทำให้ได้ตัวคูณที่ครอบคลุมการดูแลทั้งระบบ” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว

(ซ้าย) รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ปัญหาของกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น ไม่เพียงแต่ต้องคำนึงถึงความต้องการและความจำเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น แต่จะต้องออกแบบวิธีการช่วยเหลือรอบๆ ตัว หรือสร้างระบบนิเวศการดูแลที่มาจากสหวิชาชีพต่าง ๆ

“หากจะออกแบบการเรียน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ด้านต่าง ๆ เช่นอาชีพที่ทำให้อยู่รอดได้ หรือมีเงินไปเรียน ไม่นานพวกเขาก็อาจจะหลุดจากการศึกษาซ้ำอีก เพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้ เราไม่เพียงแต่อยากเห็นโรงเรียน 3 ระบบ สร้างพื้นที่การศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ให้เรียนร่วมกันได้ เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและลดอัตราการออกกลางคัน แต่ต้องมีรูปแบบการส่งเสริมด้านอาชีพ และแนวทางที่สามารถใช้ประสบการณ์ในการทำงานมาเทียบเคียงศักยภาพของแต่ละวงการวิชาชีพ เพื่อต่อยอดการพัฒนาทักษะแต่ละวิชาชีพอย่างเป็นระบบ หากแต่ละพื้นที่ สามารถออกแบบการเทียบโอนผลการเรียนจากการฝึกอาชีพหรือประสบการณ์การทำงานได้ จะทำให้เกิดรูปแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละคนมารองรับได้ ก็จะสามารถขยับกรอบจำกัดเดิม ๆ ออกไปสู่การศึกษาที่มีทางเลือกมากขึ้นในอนาคต”