เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดการประชุมขับเคลื่อนและส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับเยาวชน โดยมีการนำเสนอผลการดำเนินงาน ‘โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา’ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้รับการดูแลจิตใจที่ถูกวิธี มีการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมรวดเร็วก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม โดยมุ่งหวังให้นักศึกษาเรียนรู้และพัฒนาสุขภาพใจ เพื่อให้พร้อมรับมือกับปัญหาต่างๆ ตามช่วงวัย
แพทย์หญิง ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา สำหรับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูและบุคลากรในสถานศึกษาสายอาชีพ ให้สามารถจัดกิจกรรมทักษะชีวิตและให้คำปรึกษานักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น รวมทั้งดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ขอคำปรึกษาตามความรุนแรงได้อย่างเหมาะสม และมีการถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบ
“โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วน คือ 1. ทีมสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นผู้กำกับดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานในระดับภูมิภาค 2. โค้ช (ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต) ที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขจากสถานบริการด้านสุขภาพในจังหวัดเดียวกับสถานศึกษา ซึ่งจะมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาช่วยเหลือครูในการดูแลนักเรียน 3. ครูแกนนำของสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ จะทำหน้าที่จัดกิจกรรมทักษะชีวิตแก่นักเรียน และดูแลช่วยเหลือให้คำปรึกษานักเรียนที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้น”
แพทย์หญิง ศุทรา กล่าวต่อไปว่า จากผลการดำเนินโครงการพบว่า ในแต่ละปีจะมีนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงผ่านกิจกรรมทักษะชีวิตในสัดส่วนประมาณร้อยละ 40-50 ของนักศึกษาทุนฯทั้งหมด ขณะที่จำนวนครูแกนนำทักษะชีวิตที่ดูแลนักศึกษาในแต่ละสถาบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 65 คน ในการดำเนินโครงการปีแรก มาเป็น 333 คนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ได้มีการนำระบบดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาวะนักเรียนอาชีวศึกษา (HERO-V) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยประเมินสุขภาพจิตนักศึกษา มาช่วยครูเฝ้าระวังปัญหาของนักเรียนได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถส่งต่อ ขอคำปรึกษากับโค้ชประจำจังหวัดได้ทันท่วงที
ผลการช่วยเหลือนักศึกษารายกรณีที่ได้รับรายงานจากโค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ระหว่างเดือนกันยายน 2564 ถึง สิงหาคม 2565 พบว่าสามารถปิดเคสของนักศึกษาได้ 30 เคส แบ่งเป็น นักศึกษากลับมาเรียนต่อได้ โดยครูแจ้งว่าเด็กพร้อมสู้และจะเรียนต่อ 15 เคส นักศึกษาสามารถจัดการอารมณ์และความคิดของตัวเอง มีวิธีผ่อนคลายความเครียดเหมาะสม ไม่มีความคิดทำร้ายตัวเอง ปรับตัวกับเพื่อนได้ มีสมาธิเรียนได้ปกติ 9 เคส และนักศึกษายอมมาพบนักจิตวิทยาตามนัด รับประทานยาต่อเนื่อง มีความเข้าใจโรค 6 เคส
“ข้อเสนอแนะจากการดำเนินโครงการนี้ คือ การกำหนดแผนพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในวิทยาลัยที่ทำงานด้านสุขภาพจิตให้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะครูที่ดูแลเด็กพิเศษ ซึ่งในหลายสถาบันจะพบว่ายังขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก จึงเสนอให้มีการถ่ายทอดนโยบายนี้แก่ผู้นำทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร ผู้อำนวยการวิทยาลัย ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือด้านทักษะชีวิตแก่นักเรียนอาชีวศึกษาให้ครอบคลุมทั้งสถานศึกษา ไม่จำเพาะนักเรียนทุนเท่านั้น และบูรณาการการใช้ข้อมูลให้เชื่อมโยงกันทั้งหมดเพื่อประโยชน์ต่อการรายงานสถานการณ์ปัจจุบันอย่างทันท่วงที”
ด้าน นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และที่ปรึกษาอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. เปิดเผยว่า การประชุมขับเคลื่อนและส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับเยาวชนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา และระบบสนับสนุนสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาการส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับเยาวชนในสถานศึกษาจากต่างประเทศและในประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนงานขององค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อเป็นข้อเสนอแนะและเป็นแนวทางการขับเคลื่อนระบบส่งเสริมสุขภาพจิตสำหรับเยาวชนในสถานศึกษาต่อไป
หลังจากนี้ผู้ทรงคุณวุฒิและทีมงานของ กสศ. มาถอดบทเรียนว่าจะนำผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษาไปขยายผลร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ ระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษาสามารถดูแลนักเรียนอาชีวศึกษาได้ทุกคน มิใช่แค่นักเรียนที่ได้รับทุน ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องจะร่วมกันดำเนินการต่อไป