กสศ. เปิดสถานการณ์ COVID Slide พบนักเรียนในสหรัฐต้องอยู่บ้านนาน ส่งผลความรู้วิชาคณิตหายไปถึง 50% การอ่านลดลง 30% นักวิชาการหวั่นกระทบพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะเด็กไทยในระยะยาว แนะรับมือ 3 เดือนสุดท้ายปีการศึกษา 63 ประเมินนักเรียนเป็นรายคน เพื่อเสริมเด็กพัฒนาการเรียนรู้ถดถอย เฝ้าระวังเด็กตกหล่นอุดระหว่างช่วงชั้นปี พร้อมเปิดตัว “Black Box สื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในศตวรรษที่ 21” ช่วยเด็กไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต นำร่องส่งมอบเด็กประถมปลายยากจนพิเศษใน 5 จังหวัดสีแดงเข้ม ขณะที่ ‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส-MK-เนสท์เล่’ จับมือกสศ.ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีการจัดงานแถลงข่าว COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กไทย กับแนวทางการจัดการ ‘ปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้’ โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวถึงผลการศึกษาปรากฎการณ์ COVID Slide ผลกระทบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลายโรงเรียนต้องปิดลงในประเทศที่มีการระบาดอย่างหนัก เรียกว่า “Summer Slide” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และจากสถานการณ์ระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจึงเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่นักเรียนต้องออกจากโรงเรียนเป็นระยะเวลายาวนานทำให้สภาวะการเรียนรู้ถดถอย
งานวิจัยจากสถาบัน NWEA พบว่า นักเรียนต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานในสหรัฐอเมริกา ทำให้ความรู้ในวิชาคณิตศาสตร์หายไปถึง 50% และความรู้ด้านการอ่านลดลง 30% โดยเฉพาะนักเรียนที่ไม่ได้เรียนโดยใช้ภาษาแม่เป็นหลัก ทำให้ทักษะด้านภาษาตกต่ำเป็นพิเศษ แม้แต่ในกลุ่มนักเรียนเศรษฐานะดีก็พบว่า การอยู่หน้าจอเป็นเวลานานส่งผลต่อสุขภาพจิตและการพัฒนาด้านสังคม อารมณ์ สอดคล้องกับงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการด้านระบบการสอนของสถาบัน MIT พบว่าการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดจากการไม่ได้มาโรงเรียน เช่น ความรู้ที่ถดถอยไป ขาดประสบการณ์การเข้าสังคม การได้รับอาหารที่มีโภชนาการ บริการทางสังคมต่างๆ หรือการเรียนที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน
ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีผลการศึกษาติดตามผลกระทบจาก COVID Slide ออกมา แต่จากแนวโน้มที่มีผลการศึกษาในระดับนานาชาติข้างต้นก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงผลกระทบในทิศทางเดียวกันต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1) ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา 2) ภาวะถดถอยของพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะกับเด็กยากจนด้อยโอกาส เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาแบบพิเศษ ซึ่งจะขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทจะยิ่งกว้างขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา ในระยะยาวอาจส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทำให้วงจรความยากจนข้ามชั่วคนยังคงเกิดขึ้นไปสู่คนรุ่นต่อไป
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า จากการเฝ้าติดตามข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยก่อนสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 กสศ. พบว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุดในประเทศไทย 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น โดยผลวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติด้วยกระบวนการ Difference-in-difference แสดงให้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับทุนเสมอภาคปีละ 3,000 บาทจาก กสศ. ต่อเนื่องกัน 3 ปี โดยสัดส่วนนักเรียนที่มีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มีแนวโน้มลดลง อัตราขาดเรียนลดลง ซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะครูในสถานศึกษา ท้องถิ่น ในการค้นหาตัวเด็กพร้อมกับมีระบบสารสนเทศช่วยสนับสนุนการคัดกรองและเหลือดูแลติดตามพัฒนาการเป็นรายบุคคล รวมทั้งมาตรการพัฒนาคุณภาพครูควบคู่กับสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพการสอน ทุนการศึกษาสายอาชีพและม.ปลายให้ได้ไปต่อ
อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ส่งผลให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลง ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 1 และ 2 คิดเป็นระยะเวลาเรียนรวมกันประมาณ 40% ของปีการศึกษาที่นักเรียนต้องเรียนจากบ้าน หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบอาจเกิดปรากฏการณ์ COVID Slide ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่ง กสศ. ได้นำประสบการณ์การจัดการศึกษาจากภาคีวิชาการนานาชาติเพื่อป้องกันปรากฎการณ์ COVID Slide และใช้วิกฤตนี้พลิกเป็นโอกาสปฏิรูประบบการศึกษา จากเดิมที่เด็กต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปหาการศึกษา เปลี่ยนเป็นการศึกษาไปหาเด็กทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและยั่งยืน โดยการสำรวจสถานการณ์เด็กเยาวชนในพื้นที่การระบาดสีแดงและสีแดงเข้มใน 28 จังหวัด พบว่า มีเด็กยากจนยากจนพิเศษ จำนวน 143,507 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กยากจนในเขตเมืองส่วนหนึ่งต้องออกไปทำงานเพื่อหารายได้แบ่งเบาภาระครอบครัว เด็กยากจนในพื้นที่การระบาดสีแดงบางแห่งมีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงปัญหาปากท้องของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา กสศ.ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตชด. อปท. ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือทุนเสมอภาค เพื่อป้องกันนักเรียนยากจนพิเศษ 900,000 คน ไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
“สิ่งน่ากังวลคือความเสี่ยงที่เด็กจะมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้และสุขภาวะถดถอย จึงต้องใช้ 3 เดือนสุดท้ายของปีการศึกษาหาเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบให้เจอว่าเกิด COVID Slide กับเด็กคนใด มาตรการที่ควรตั้งรับคือ 1) เมื่อเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 1 ก.พ. ครูควรตรวจพัฒนาการของร่างกายและการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคลว่าถดถอยลงหรือไม่ 2) การจัดการสอนเสริม หรือ After school programme สำหรับผู้เรียนที่มีพัฒนาการเรียนรู้ถอดถอย จึงควรจัดการเรียนรู้เพิ่มเติมก่อนการเลื่อนชั้น 3) การเฝ้าระวังรอยต่อการศึกษาในทุกช่วงชั้น ตั้งแต่ ป.1 ม.1 ม.4/ปวช. โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในพื้นที่ไม่มีโรงเรียนรองรับจำเป็นต้องมีการส่งต่อที่ดี ซึ่ง กสศ. มีข้อมูลเด็กรายคนพร้อมตำแหน่งรายละเอียดสภาพแวดล้อมบันทึกในระบบสารสนเทศ iSEE โดยประสานความร่วมมือจากโรงเรียนเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังติดตาม ประสานความร่วมมือเพื่อช่วยส่งต่อ สนับสนุนทุนการศึกษา สำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา กสศ.ได้พัฒนากลไกระดับจังหวัด และ 61 องค์กรภาคีเครือข่ายในการทำงานเพื่อเข้าถึงเด็กเยาวชนเรื่องปากท้องและการเตรียมความพร้อมเพื่อกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นหรือการฝึกอาชีพ” ดร.ไกรยส กล่าว
สำหรับนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ รศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี กล่าวว่า กสศ. ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี พัฒนา Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดำเนินต่อไปได้ในช่วงเวลาที่โรงเรียนบางแห่งต้องปิดลงชั่วคราว ชุดการเรียนรู้ในกล่องดำออกแบบเป็นบทเรียน ‘ออฟไลน์’ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก จุดเด่นของกล่องดำจึงอยู่ที่บทเรียนที่เด็กสามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ โดยชุดบทเรียนได้บูรณาการจากหมวดวิชาต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับชีวิต เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว ไปจนถึงพื้นที่ชุมชนที่อาศัย ภายใต้ 4 หมวดวิชาที่ครอบคลุมพื้นฐานการเรียนรู้สำคัญ ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน วิทยาการวิจัย และสัมมาชีพศึกษา
นางอรอุมา แจ่มเจ็ดริ้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า จากที่ครูในโรงเรียนทำการสำรวจผู้ปกครองถึงแนวทางการเรียนรู้ของบุตรหลาน พบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่สะดวกให้ครูนำการเรียนรู้ผ่านใบงานมากที่สุด ผู้ปกครองหลายคนไม่สะดวกที่จะให้บุตรหลานเรียนผ่านออนไลน์ เพราะไม่ชำนาญเรื่องการใช้ระบบ ขาดแคลนอุปกรณ์ มีบุตรหลายคนไม่สามารถเรียนพร้อมกันได้ ข้อจำกัดของโรงเรียนในเวลานี้คือ สื่อการเรียนรู้ที่โรงเรียนต้องการมากที่สุด เพราะโรงเรียนต้องปรับการสอนและใช้ทรัพยากรมากในเรื่องของการพิมพ์เอกสารใบงานประกอบการเรียน เนื่องจากหลายครอบครัวไม่สะดวกและไม่พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี
ทั้งนี้ในงานแถลงข่าวได้มีการส่งมอบกล่องการเรียนรู้ หรือ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ ในพื้นที่สีแดงเข้ม 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี อยุธยา เพชรบุรี กาญจนบุรี และ ถุงยังชีพ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม” จำนวน 15,000 ถุง ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและอุปกรณ์ป้องกันในสถานการณ์โควิดในระยะเวลา 15 วัน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช ปลากระป๋อง แอลกอฮอล์ หน้ากากผ้า สำหรับเด็กเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษา ในพื้นที่สีแดงและแดงเข้ม 28 จังหวัด โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำการส่งมอบ Black Box สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้กับทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เพื่อนำส่งให้ถึงมือเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบทางการศึกษา โดยมี คุณสีตลา ชาญวิเศษ Head of Marketing communication Kerry Express เป็นตัวแทนรับมอบ
ขณะที่บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุน “Memberry (เมมเบอร์รี่)” ผลิตภัณฑ์นมผสมสารสกัดจากเบอร์รี่ช่วยเสริมสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพความจำ จำนวน 75,000 กล่อง และ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด สนับสนุน ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียล koko krunch duo จำนวน 400 ลัง