กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 6 ว่าด้วยการศึกษา 2030 (6th Asia-Pacific Meeting on Education 2030 : APMED6) ในหัวข้อ “การเร่งรัดการดำเนินการ: การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” (Accelerating Actions: Transforming the What and How of Learning for a Sustainable Future) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2567ณ โรงแรมแบงค็อก แมริอ็อท มาคีส์ ควีนส์ ปาร์ค ภายใต้ความร่วมมือขององค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ (UNESCO Bangkok) ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ โดยสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้ (UNICEF EAPRO: East Asia and Pacific, UNICEF ROSA: Regional Office for South Asia) องค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) และรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น โดยกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT: Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) จัดขึ้นร่วมกันภายใต้ ‘กลุ่มเครือข่ายการเรียนรู้และการศึกษาเอเชียแปซิฟิก 2030+’ (LE2030+)
ในการประชุมสี่วัน ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้ประสานงาน SDG 4 ระดับนานาชาติ, เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สถาบันหรือองค์กรการศึกษาระดับชาติและระดับภูมิภาค, องค์กรระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาคระหว่างประเทศ, องค์กรภาคประชาสังคม (NGO/CSO) ระดับชาติและระดับภูมิภาค, ตัวแทนเยาวชน, หน่วยงานสหประชาชาติจากประเทศสมาชิก UNESCO 46 ประเทศในภูมิภาค รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมกว่า 150 คน เข้าร่วมสำรวจความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) 4* จากการนำเสนอต้นแบบการทำงาน พร้อมระดมความคิดเพื่อแก้ไขวิกฤตการเรียนรู้ เร่ง ‘สร้างการเรียนรู้ที่รองรับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย’ และ ‘พัฒนาการเรียนรู้ในช่วงต้นสำหรับเด็กเยาวชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ ซึ่งจะเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ยั่งยืน
*เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนา 17 เป้าหมายที่ได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และเป็นทิศทางการพัฒนาที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกัน ครอบคลุมช่วงระยะเวลาที่ต้องบรรลุภายใน 15 ปี (ค.ศ. 2016-2030/พ.ศ.2559-2573) โดยเป้าหมายที่ 4 คือ สร้างหลักประกันว่าคนทุกคนต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ช่วงเปิดงาน ตัวแทนแต่ละภาคส่วนได้เน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญของการประชุม APMED 6 ว่าด้วยเรื่อง ‘วิกฤตการเรียนรู้’ โดยแม้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะคืบหน้าด้านการขยายการเข้าถึงการศึกษาอย่างยิ่งในช่วงเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา และมีข้อมูลที่ระบุว่าจำนวนนักเรียนในระบบการศึกษามีเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ ส่วนในด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ ข้อมูลยังชี้ว่ามีนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นเกือบ 50% ของประเทศราวครึ่งหนึ่งของภูมิภาค ที่ไม่สามารถยกระดับผลลัพธ์การพัฒนาทักษะพื้นฐานการอ่าน-เขียน และทักษะการคำนวณ ตามข้อมูลล่าสุดจากการประเมิน PISA ที่ระบุว่าตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2022 (พ.ศ.2561-2565) ภาพรวมของการพัฒนาทักษะดังกล่าวในกลุ่มนักเรียนอายุ 15 ปีมีแนวโน้มลดลง
Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกกรุงเทพ ฯ กล่าวว่า ผลลัพธ์ที่ระบุว่านักเรียนระดับชั้นประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นกว่าครึ่งหนึ่ง มีการเรียนรู้ด้านการอ่านและคำนวณต่ำกว่าเกณฑ์ อีกทั้งตัวเลขในภาพรวมที่บอกว่ามีเด็กเยาวชนน้อยกว่า 40% ต่อรุ่นที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลาย ทำให้ต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างสันติภาพและส่งมอบความเจริญก้าวหน้าโดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มจำนวน ‘โรงเรียนแห่งความสุข’ และทำให้เกิดนิเวศการเรียนรู้ที่ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้เรียนให้ดีขึ้น
Ms. June Kunugi ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (UNICEF EAPRO) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตด้านคุณภาพการศึกษาที่รุนแรง ทั้งระบบการศึกษาหลายแห่งในภูมิภาค ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของผู้เรียน ชุมชน หรือประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทปัจจุบัน ที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ สังคม เช่นความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน หรือด้านสิ่งแวดล้อมเช่นความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตัวผู้เรียน และต่อการจัดการเรียนรู้ โดย ‘ระบบการศึกษา’ จำเป็นจะต้อง ‘ตอบสนองต่อความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน’ ได้มากขึ้น และขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นการเรียนรู้ที่สามารถคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงของอนาคตไปพร้อมกัน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทิ้งผลกระทบยาวนานซึ่งทำให้นักเรียนส่วนหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเรียนรู้ถดถอย ทำให้ต้องมีมาตรการเร่งด่วนต่อการสร้างโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งจากความยากจน ความห่างไกล ความเป็นชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และภาษา ผู้พิการ ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ หรือจากภัยพิบัติ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กเยาวชนหลายคนแม้จะยังอยู่ในโรงเรียน แต่ก็มีการเรียนรู้ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาด้านการอ่าน-เขียน หรือทำความเข้าใจในสิ่งพื้นฐาน โดยมีข้อมูลที่ระบุว่าเด็กวัย 10 ขวบราว 6 จาก 10 คนในเอเชียใต้ ไม่สามารถอ่านทำความเข้าใจข้อความง่าย ๆ ในภาษาของตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ และเป็นทั้งการสูญเสียโอกาสของเด็กเยาวชนคนหนึ่ง และความเสียหายของประเทศชาติที่ต้องการกำลังคนมาพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมในอนาคต ในนามองค์การยูนิเซฟ จึงขอให้รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เร่งดำเนินการตามพันธกรณีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) โดยรับประกันว่าเด็กทุกคน จะต้องเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงชั้นปฐมวัยจนถึงการศึกษาภาคบังคับ”
Mr. Hiroaki Motomura ผู้อำนวยการด้านแผนและยุทธศาสตร์ต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงการรับมือกับช่วงเวลาหลังสถานการณ์โควิด-19 ว่า “ประเทศญี่ปุ่นได้พยายามปรับตัวอย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยนำเครื่องมือดิจิทัลมาเป็นส่วนสำคัญของการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเครื่องมือ มีการสร้างหลักประกันการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง สำหรับการศึกษาระบบทางไกลและการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Hybrid learning) เพื่อพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์หรือภัยพิบัติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้การเรียนรู้แบบผสมผสาน ยังช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น”
Mr. Hiroaki กล่าวเน้นย้ำถึงความร่วมมือทั้งระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติ ว่าการสนับสนุนความร่วมมือคือกลไกสำคัญของการรับมือกับวิกฤตด้านการศึกษา โดยเรียกร้องไปยังคนทำงานด้านการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในการลงนามและลงมือปฏิบัติ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานของเด็กเยาวชน พร้อมเสนอให้เพิ่มการจัดสรรทุนสาธารณะอีก 10% ลงไปที่การจัดการเรียนรู้ในระดับก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในระยะยาว
สอดคล้องกับประเด็นหนึ่งที่ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีการลงทุนด้านการศึกษาที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก โดยผลสำรวจชี้ว่า รายจ่ายด้านการศึกษาในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราลดลงในเกือบทุกภูมิภาคย่อย เช่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลงจาก 15.41% ของรายจ่ายสาธารณะทั้งหมด เป็น 13.87% ซึ่งทำให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการลงทุนด้านการศึกษาที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานระหว่างประเทศ (15% จากรายจ่ายสาธารณะทั้งหมด) รวมถึงงบประมาณหรือทรัพยากรด้านการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัด ยังไม่ได้รับการจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานปรับปรุงการจัดการเรียนรู้จึงไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร
ทั้งนี้การประชุม APMED 6 ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเร่งดำเนินการตามเป้าหมาย SDG 4 ในภูมิภาคให้เร็วขึ้น และเพื่อจัดการกับวิกฤตการเรียนรู้ในปัจจุบัน โดยประเด็นสำคัญของการประชุม คือติดตามการดำเนินการของรัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยคำนึงถึงความท้าทายด้านการศึกษาในปัจจุบัน ว่า ‘การเรียนรู้ที่มีคุณภาพของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย’ อันเป็นเป้าหมายของ SDG 4 จำเป็นต้องประกอบด้วย การสร้างโอกาสเข้าถึงการศึกษาในช่วงชั้นปฐมวัยถึงการศึกษาภาคบังคับที่เสมอภาค มีคุณภาพ และนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล ต่อเนื่องถึงการส่งเสริมโอกาสเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่มีคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึง เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรที่มีทักษะแรงงานระดับสูง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ อีกทั้งต้องส่งเสริมการเข้าถึงและการจัดการเรียนรู้และการฝึกอบรมที่ยืดหยุ่น หลากหลาย มีการยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวก และจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้เปราะบางทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้พิการและกลุ่มชาติพันธุ์ และต้องเพิ่มจำนวนครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยสร้างความร่วมมือทั้งภายในและระหว่างประเทศเพื่อการผลิตและพัฒนาครูที่มีประสิทธิภาพ
ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในภูมิภาค เมื่อวันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากความสูญเสียที่โควิด-19 ทิ้งร่องรอยไว้ รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น จนถึงความเป็นไปของโลกที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงถึงการจัดการเรียนรู้ ดังนั้นเราต้องมีแนวทางการทำงานที่เร่งด่วนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบท ทำให้การเรียนรู้ครอบคลุมความหลากหลาย ยืดหยุ่น สอดรับเหมาะสมกับคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย
“สำหรับประเทศไทย เรามุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาที่คำนึงถึงความยั่งยืน เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องเตรียมผู้เรียนให้พร้อมรับมือกับความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่ หรือคือการศึกษาเรียนรู้จะต้องสัมพันธ์กับรากฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงโอกาส อย่างไรก็ตามการจะไปสู่เป้าหมาย เราจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ นำเสนอแนวทางปฏิบัติ ตัวแบบการทำงานและนวัตกรรม ตลอดจนถ่ายทอดสถานการณ์ปัญหาร่วมกับคนทำงานด้านการศึกษาทั้งในและนอกภูมิภาค เพื่อนำเอาองค์ความรู้และวิธีการที่เหมาะสมมาปรับใช้ การทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่นางสาวศิรี จงดี รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมเสวนาเวทีย่อยในหัวข้อ ‘Financing for Education: การระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา’ ได้กล่าวสรุปใจความสำคัญจากวงเสวนาว่า “การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรการศึกษา คือดัชนีที่ชี้วัดได้ในเชิงปริมาณว่าแต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการศึกษามากน้อยอย่างไร โดยเฉพาะสัดส่วนที่ลงไปตอบโจทย์กลุ่มประชากรเปราะบาง ด้วยข้อเท็จจริงระบุว่ากลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงโอกาสจะใช้เวลาอยู่ในระบบการศึกษาได้ไม่นาน ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณที่เสมอภาคจึงต้องยิ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาในช่วงต้นของชีวิต หรือตั้งแต่ปฐมวัยถึงประถมศึกษา เพื่อไม่ให้เด็กเยาวชนที่ขาดความพร้อมหลุดออกไปในช่วงชั้นมัธยมศึกษา
ผู้แทน กสศ. ยังได้ตอบคำถามถึง ‘ข้อแนะนำด้านการดำเนินนโยบายเพื่อการระดมทุนสนับสนุนการศึกษาในประเทศไทย’ ว่า กสศ. เป็นหน่วยงานที่ทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยร่วมมือกับภาครัฐในการนำ ‘ข้อมูล’ มาใช้สนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องด้วยการเก็บข้อมูลในทุกมิติของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคล จะช่วยให้สามารถออกแบบการจัดสรรงบประมาณที่ลงไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการเร่งด่วนที่สุด เช่น โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ที่ดำเนินการเก็บข้อมูลผ่านครูมากกว่า 400,000 คนทั่วประเทศ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็กเยาวชน ทั้งด้านรายได้ครัวเรือน สุขภาพ สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิต ก่อนนำข้อมูลมาออกแบบการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมต่อปัญหาและความจำเป็น
“มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ช่วยชี้วัดรายได้ทางอ้อมที่เรียกว่า PMT: proxy means test คือกลไกที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กระบวนการคัดกรอง โดยสามารถระบุตัวตนได้ เรียงลำดับได้ และชี้วัดได้ว่า ‘ใคร’ คือคนที่ต้องการการความช่วยเหลือมากที่สุด และควรมีกระบวนการอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของเด็กเยาวชนแต่ละคน และแม้จะเป็นทุนสนับสนุนแบบให้เปล่า แต่ด้วยเงื่อนไขที่ครอบคลุมเรื่องเวลาการเข้าชั้นเรียน รวมถึงการติดตามพัฒนาการในด้านต่าง ๆ จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทุนที่ลงไปจะช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น และมีโอกาสเข้าถึงโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงต่อไป”
รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า การนำข้อมูลมาใช้เป็นฐานในภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยังครอบคลุมไปถึงเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในระบบ โดย กสศ. ได้ร่วมกับภาครัฐ นำฐานข้อมูลจากทะเบียนราษฎร์ มาเทียบกับข้อมูลของเด็กเยาวชนทุกคนที่มีรายชื่ออยู่ในทุกสังกัดการศึกษา จนพบตัวตนของเด็กเยาวชนที่ตกหล่น ก่อนจะนำข้อมูลไปออกแบบขั้นตอนค้นหา ช่วยเหลือ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้ที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล ซึ่งข้อมูลมิติต่าง ๆ จะช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทำได้ตรงจุด สามารถจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นมีทางเลือกและหลากหลาย ด้วยเด็กเยาวชนทุกคนไม่ได้พร้อมเท่ากันทั้งหมดที่จะกลับไปเรียนในโรงเรียน
ในช่วงก่อนปิดการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 6 ว่าด้วยการศึกษา 2030 (6th Asia-Pacific Meeting on Education 2030 : APMED6) ได้มีการสรุปแนวทาง ‘การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาและวิธีการเรียนรู้เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’ โดยลำดับความสำคัญของการทำงานเพื่อเร่งความคืบหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDG 4 ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตั้งแต่มุ่งเสริมสร้างการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน การคำนวณ ทักษะทางสังคมและอารมณ์ ซึ่งเป็นรากฐานที่จะต่อยอดไปสู่การเรียนรู้อื่นทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่สุด พร้อมจัดการเรียนรู้และปรับรูปแบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่น มีเส้นทางการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้การเรียนรู้สามารถเชื่อมต่อไปถึงการประกอบอาชีพมีงานทำ เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือดิจิทัล แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและการฝึกอบรมครูที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้วิชาชีพครูเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ ปรับสภาพแวดล้อมการทำงานของครู และผลักดันให้ครูมีเส้นทางพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดพันธมิตรทางสังคมที่จะร่วมผลักดันนโยบายด้านการศึกษา และการระดมทรัพยากรเพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้จากระดับชุมชน ท้องถิ่น จนถึงภูมิภาค
และท้ายที่สุดทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ควรมีการรับรองเงินทุนที่เพียงพอและกระจายอย่างเสมอภาคสำหรับการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 4-6% ของ GDP หรือ 15-20% ของรายจ่ายสาธารณะทั้งหมดสำหรับการศึกษา เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการจัดหาเงินทุนเพื่อการศึกษาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ รวมถึงแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในการจัดสรรทรัพยากร ด้วยการกำหนดนโยบายซึ่งมุ่งความสำคัญไปยังพื้นที่ที่เร่งด่วน และใช้ประโยชน์จากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น หรือสถาบันการศึกษา เพื่อจัดหาทุนทรัพยากรที่จะกระจายไปในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการศึกษา และขยายผลและขนาดของต้นแบบการทำงานที่ประสบความสำเร็จออกไปเป็นวงกว้าง