“โรงเรียนแห่งอนาคตไม่ใช่ ‘โรงสอน’ แต่เป็น ‘โรงสร้าง’ ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่โอบรับความหลากหลาย”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

“โรงเรียนแห่งอนาคตไม่ใช่ ‘โรงสอน’ แต่เป็น ‘โรงสร้าง’ ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่โอบรับความหลากหลาย” ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

“โรงเรียนแห่งอนาคต ต้องเป็นแหล่งหนุนการเรียนรู้และพัฒนาเป็น Learning Development ของผู้เรียน ครู และของระบบการศึกษา หมายถึง ‘ระบบการศึกษา’ จะต้องเรียนรู้จากของจริงที่เกิดขึ้น และโรงเรียนแห่งอนาคต ยังต้องเป็นกลไกปฏิสัมพันธ์ของระบบการศึกษา ลดการส่งต่อจากบนสู่ล่างหรือ top-down ให้เกิดการเรียนรู้บนแนวราบหรือ bottom-up มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและครู ซึ่งคือกลไกพัฒนาความเป็นมนุษย์ ถ้าทำอย่างนั้น โรงเรียนจะเป็นแหล่งเชื่อมโยงความรู้และทฤษฎีจากประสบการณ์จริง สถานการณ์จริง เป็นแหล่งพัฒนาความเป็นมนุษย์ของผู้เรียนที่ไม่ได้มีบทบาทแค่ถ่ายทอดวิชาความรู้”

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

จากปี 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนในสังกัด สพฐ. มากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ใน ‘โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง’ หรือ Teacher and School Quality Program (TSQP) ซึ่งมุ่งพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) โดยกระตุ้นให้เกิดการ ‘พัฒนาคุณภาพระบบบริหารจัดการโรงเรียน’ และ ‘พัฒนาการจัดการเรียนการสอน’ ให้มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ผ่านการวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ 4 ด้าน คือ คุณค่า (Values) ทัศนคติ (Attitude) ทักษะ (Skills) และ ความรู้ (Knowledge) หรือจำกัดความสั้น ๆ ว่า ‘VASK’

ถึงปี 2566 ผลการประเมินโครงการโดยทีมวิจัยและประเมินผลมูลนิธิศึกษาธิการ พบว่า 636 โรงเรียนในโครงการ TSQP สามารถยกระดับได้สำเร็จ และได้เดินหน้าสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นอีกขั้น โดยยกระดับจาก TSQP เป็น ‘TSQM’ ที่อักษร P ซึ่งหมายถึง Project ได้เปลี่ยนมาเป็น M อันมีความหมายถึงการ ‘Movement’ หรือคือเปลี่ยนจากการทำงาน ‘วงแคบ’ ในลักษณะ Project เป็นการทำงานใน ‘วงกว้าง’ ระดับพื้นที่หรือระดับจังหวัด ซึ่งจะอาศัยพลังความร่วมมือขององคาพยพที่หลากหลายในท้องถิ่นนั้น ๆ มาช่วยหนุนวงจรการเรียนรู้ของผู้เรียน พร้อมกับพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาทั้งระบบ เพื่อยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และ ‘สร้างผู้นำความเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘พื้นที่ต้นแบบ’ ที่จะขยายผลส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้เดินหน้าพัฒนาไปด้วยกัน 

นอกจากนี้เป้าหมายสำคัญของ ‘TSQM’ ยังมีเรื่องของมาตรการ ‘School Zero Dropout’ ที่จะสร้างและพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และสอดส่องค้นหาเด็กเยาวชนในวัยการศึกษาภาคบังคับที่หลุดออกจากระบบ เพื่อฟื้นฟูประคับประคองและส่งเสริมให้เข้าสู่วิธีการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น-มีทางเลือก-ตอบโจทย์ชีวิต ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าของการทำงานอย่างแท้จริง

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวถึงการปรับแนวคิดการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง โดยใช้การหนุนกลไกระดับพื้นที่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System change) ให้เกิดการทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดระดับพื้นที่ หรือระดับจังหวัด และมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างเครือข่ายโรงเรียนให้เป็นเจ้าของร่วมและดำเนินการด้วยตนเอง เพื่อขยายผลจากโรงเรียนแกนนำสู่โรงเรียนอื่น ๆ ตามแนวคิดของ TSQM และเพื่อให้เกิดเป็น ‘ระบบนิเวศทางการศึกษา’ ที่ยั่งยืนจากต้นทุนเดิมของจังหวัด โรงเรียน และทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม ว่า 

“เมื่อพูดถึงการศึกษา เราต้องไม่ลืมเป้าหมายแท้จริงว่าหัวใจของการเรียนรู้ที่จะเกิดกับผู้เรียน จะมาควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (Transformative Learning) และต้องเกิดขึ้นในทุกด้านของ V-A-S-K ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงที่ความรู้ หรือ ‘K’ เพียงอย่างเดียว ฉะนั้นสิ่งที่ควรตระหนักในการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ คือต้องเอื้อต่อความหลากหลายของ ‘ผู้เรียนทุกคน’ โดยจะ ‘ไม่ทำร้ายหรือทำลายบางคน’ อย่างไม่ตั้งใจ ทีนี้พอเข้าใจตรงกันแล้วว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของทุกคน ระบบนิเวศที่จะออกแบบจึงต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งทางกายและทางใจ เป็นพื้นที่ที่ผู้เรียนสามารถตั้งคำถามต่อประเด็นต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่รองรับทุกอารมณ์และทุกความซับซ้อนของมนุษย์             

“การจัดการเรียนรู้ที่รองรับต่อนิเวศของการเรียนรู้ที่ดี ‘เด็ก’ หรือ ‘ผู้เรียน’ ควรมีส่วนช่วยในการออกแบบ เท่ากับเป็นหน้าที่ของครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง ไปจนถึงชุมชนสังคม ที่จะต้องมีวิธีการทำให้เด็กขยับเข้ามามีส่วนร่วม แล้วเราจะมองเห็นความเป็นไปได้ของนิเวศการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถพัฒนาตัวเองไปได้พร้อม ๆ กัน เพราะการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นจากการรู้ความต้องการของตนเองและรู้ความต้องการของผู้อื่น จะเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงทฤษฎีการศึกษาที่สำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ว่า การพาผู้เรียนไปถึงผลลัพธ์ทั้ง 4 ด้าน คือ คุณค่า ทัศนคติ ทักษะ และความรู้ ได้พร้อม ๆ กัน การจัดการเรียนรู้ต้องบูรณาการแบบองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งมีวิธีการมากมายหลายแบบ อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญที่สุดคือครูและโรงเรียนจะต้องออกแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนไม่เพียงได้ ‘เรียนรู้จากประสบการณ์’ (Experiential Learning) แต่ต้องพาไปให้ถึงการ ‘เกิดความคิด’ และมี ‘วิธีตกผลึก’ ผ่านประสบการณ์ในเชิงหลักการ ตามทฤษฎี ‘Kolb’s Experiential Learning Cycle’ (David A. Kolb, Institute for Experiential Learning)

“หัวใจสำคัญอยู่ที่ผู้เรียนต้องสามารถสังเกตจากประสบการณ์ แล้วมีการ ‘สะท้อนกลับ’ (Reflection) ด้วยการคิดไปสู่หลักการเชิงนามธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบเดิมที่คุ้นเคย ที่เป็นการเรียนจากทฤษฎีแล้วเอาไปปฏิบัติ โดยวิธีการนี้จะทำย้อนกลับจากภาคปฏิบัติเพื่อคิดไปหาทฤษฎี ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างเป็นตัวของตัวเอง (Agentic Personality) และผลลัพธ์จากการจัดการเรียนรู้ลักษณะนี้ คือเราจะผลิตคนที่มีความคิดของตัวเอง กล้าคิด กล้าริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งยังยอมรับและเคารพในความคิดของคนอื่นด้วย ซึ่งคือผลผลิตจากการเรียนรู้ที่ยุคปัจจุบันและอนาคตต้องการ 

“การสะท้อนคิดไปสู่หลักการนั้นมีแก่นอยู่ที่การ ‘ตั้งคำถาม’ โดยเฉพาะในภาพรวมที่ผู้เรียนต้องรู้ว่าเรียนแล้วจะนำไปสู่อะไร สองสิ่งสำคัญที่ควรได้รับ คือ 1.แรงบันดาลใจที่จะทำอะไรบางอย่าง และ  2.เกิดทักษะการตั้งคำถามเพื่อพาตัวเองออกไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เรียนรู้ตรงหน้า ซึ่งคือ ‘วงจรสร้างปัญญา’ ที่จะหมุนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด และเกิดการค้นคว้าหาความรู้อื่น ประสบการณ์อื่นมาเทียบ เพื่อสะท้อนคิดเชิงหลักการไปสู่ทฤษฎีที่ใช่ที่สุด ณ เวลานั้น ๆ ดังนั้นจะเห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ตามทฤษฎี ‘Kolb’s Experiential Learning Cycle’ นอกจากเด็กหรือผู้เรียนแล้ว โรงเรียนยังได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของครู ของผู้บริหาร ของกรรมการโรงเรียน ของผู้ปกครองและชุมชน ที่จะปรับบทบาทหรือหน้าที่ให้สอดคล้องกับการส่งต่อความรู้-ความเชื่อ-ความเข้าใจ ได้อยู่ตลอดเวลา เป็นวงจรของการปรับ-เปลี่ยน-พัฒนา เรื่อยไปไม่สิ้นสุด การเรียนรู้ในวันนี้และอนาคตจึงเป็นการ ‘สร้าง’ มากกว่า ‘รับถ่ายทอด’ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียนได้กว้างและลึกกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ครูและหน่วยอื่น ๆ ทั้งหมดในวงจรการเรียนรู้จะไม่ให้น้ำหนักที่การถ่ายทอดความรู้ แต่จะช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ที่พาผู้เรียนไปสู่การปฏิบัติ และสะท้อนคิดหลักการด้วยตัวเอง หรือเป็น Facilitator และทั้งหมดนี้คือหลักการของ ‘การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง’ ที่ผู้เรียนต้องสามารถคิดจากประสบการณ์ เพื่อตั้งคำถามสะท้อนคิดไปให้ถึงการ ‘ท้าทายความเชื่อเดิม’ ให้ได้ เพราะความหมายของการเรียนรู้คือการไม่หยุดนิ่ง หรือการเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนใจด้วยความมั่นใจในหลักการ เมื่อเกิดการค้นพบหลักฐานหรือข้อเท็จจริงใหม่มาสนับสนุน”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวสรุปว่า ถ้าโรงเรียนไม่สามารถเปลี่ยนเป็น ‘แหล่งหนุนการเรียนรู้’ โดยเฉพาะสำหรับ ‘ระบบการศึกษา’ แล้ว การก้าวต่อไปข้างหน้าของการศึกษาทั้งระบบก็จะเป็นแค่เพียงการยึดโยงกับภาคทฤษฎี ขณะที่ความจริงที่ปรากฏขึ้นในโรงเรียนหนึ่ง ๆ หรือในพื้นที่หนึ่ง ๆ กลับไม่ถูกมองเห็นและทำความเข้าใจ  

“การทำงานของทุกฝ่ายที่เข้าร่วมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ในวาระนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าการทำงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนหนึ่ง ในพื้นที่หนึ่งจะมีสถานะเป็นแหล่งการเรียนรู้ ผ่านหลักการ Double-Loop Learning ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ที่ให้ผลสองต่อ คือต่อแรกเมื่อทำแล้วเกิดผล ผลลัพธ์นั้นจะสะท้อนกลับไปที่การขยายวิธีการทำงานออกไป ส่วนต่อที่สองคือผลลัพธ์นั้นจะสะท้อนกลับไปยังภาคทฤษฎีหรือหลักการ หรือคือการสะท้อนไปถึง ‘ระบบเชิงโครงสร้าง’ ว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่และอย่างไร ถ้าจะพัฒนางานให้ดีขึ้นไปอีก ฉะนั้นโรงเรียนต้องเป็นแหล่งหนุนการเรียนรู้ เพื่อเป็นต้นทางของ ‘ความคิดที่ต่างไปจากทฤษฎีซึ่งมีอยู่เดิม’ โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีอยู่

“โรงเรียนแห่งอนาคตจึงไม่ใช่โรงสอน แต่เป็น ‘โรงสร้าง’ โดยมีครูเป็นนักออกแบบสร้างสรรค์ สร้างบันไดให้นักเรียนได้ปีน สามารถปลดปล่อยพลังที่ซ้อนเร้นในมนุษย์ เป็นพลังหนุนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ให้สามารถผลิตผู้เรียนที่เป็นตัวของตัวเอง คิดเองได้ ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งคนแบบนี้คือนวัตกร (Innovator) แห่งอนาคต เป็นมนุษย์อารมณ์บวก (Positive Mindset) ที่พร้อมมุ่งฝ่าฟันความยากลำบาก และเป็นบุคคลแห่งสุขภาวะสำหรับตนเอง ครอบครัว และสังคมโลก”


*เรียบเรียงจาก ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและระบบนิเวศทางการเรียนรู้ สู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กและเยาวชน’ ณ เวทีการจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ‘School Zero Dropout’ ระหว่างวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กสศ. เปิดเวทีจัดการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQM) ตั้งเป้า “School Zero Dropout” พัฒนาเครือข่ายครูและโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา