“Digital Family Card” แพลตฟอร์มอัจฉริยะ เพื่อเข้าถึงสวัสดิการการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประเทศคาซัคสถานถึงประเทศไทย

“Digital Family Card” แพลตฟอร์มอัจฉริยะ เพื่อเข้าถึงสวัสดิการการศึกษาและคุณภาพชีวิตของประเทศคาซัคสถานถึงประเทศไทย

คาซัคสถานตระหนักถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เปิดตัวโครงการริเริ่มที่เรียกว่า Digital Family Card (DFC) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท แพลตฟอร์มนวัตกรรมนี้เปิดตัวท่ามกลางกระแสการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดิจิทัลเพื่อการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดสัมมนาออนไลน์ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกจากวิทยากรหลัก 3 ท่าน ได้แก่ คุณวิทาลี อเล็กซานดรอฟ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำราชอาณาจักรไทย คุณดมิทรี มุน รองประธานคณะกรรมการ National Information Technologies JSC และ ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธานมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ (มศธส.) โดยมี คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ กสศ. รับหน้าที่ดำเนินรายการ และ คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เป็นประธานการสัมมนา

คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ เกริ่นนำถึงบริบทของคาซัคสถาน ซึ่งจัดอยู่อันดับที่ 28 ของโลกตามดัชนี UN E-Government โดยเฉพาะความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมดิจิทัล และความสำเร็จในการบูรณาการหน่วยงานต่าง ๆ ภาครัฐ เพื่อส่งเสริมและส่งมอบบริการต่าง ๆ ให้กับพลเมืองของตนผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หนึ่งในพัฒนาการด้านดิจิทัลของคาซัคสถานคือโครงการ Digital Family Card ที่เน้นการมอบความช่วยเหลือเชิงรุกให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท โครงการนี้ใช้ตัวบ่งชี้ที่ครอบคลุมมิติที่หลากหลายเพื่อประเมินและจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ครอบครัวเหล่านี้ประสบอยู่

คุณธันว์ธิดา วงศ์ปะสงค์ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ กสศ.
คุณวิทาลี อเล็กซานดรอฟ เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต
สาธารณรัฐคาซัคสถานประจำราชอาณาจักรไทย

คุณวิทาลี อเล็กซานดรอฟ กล่าวถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก อันเป็นผลจากการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง และย้ำถึงความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของนวัตกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาแพลตฟอร์ม e-government ในคาซัคสถาน ซึ่งเป็นโซลูชันที่ครบวงจร ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานต่าง ๆ อาทิ การยื่นเรื่องร้องเรียนที่จะได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรอบเวลา 14 วัน การประเมินการให้บริการของรัฐ และการขอใบอนุญาตต่าง ๆ แนวทางที่ได้รับการปรับปรุงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดเวลาในการดำเนินการและบูรณาการการทำงานของกระทรวงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้กับประชาชน

หัวใจของแพลตฟอร์ม Digital Family Card อยู่ที่ใช้ตัวบ่งชี้ 80 รายการที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ เช่น สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว สถานภาพความเป็นอยู่ และสภาพโดยรวม แพลตฟอร์มนี้ใช้อัลกอริธึมขั้นสูงที่สามารถประเมินสถานการณ์ของครอบครัวได้โดยอัตโนมัติ สามารถระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องและเสนอความช่วยเหลือเชิงรุกที่เหมาะสม กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปโดยแพลตฟอร์ม จึงขจัดขั้นตอนที่ผู้ที่เดือดร้อนจะต้องทำเรื่องขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเองทำให้เกิดความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงเป้า

คุณดมิทรี มุน รองประธานคณะกรรมการ
National Information Technologies (JSC)

คุณดมิทรี มุน รองประธานคณะกรรมการ National Information Technologies (JSC) ได้กล่าวถึงเส้นทางการพัฒนาของคาซัคสถานสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่แพลตฟอร์ม Digital Family Card (DFC) ซึ่งเป็นโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยฐานข้อมูลมหาศาล (Smart Data Ukimet) เป็นการปฏิวัติการกำกับดูแล จัดการกับความท้าทายต่างๆ เช่น การเป็นเจ้าของข้อมูลที่กระจัดกระจายในแต่ละหน่วยงาน อุปสรรคของระบบราชการ ด้วยการออกกฎหมายกำกับดูแลข้อมูลที่ครอบคลุมและการแต่งตั้งผู้ดำเนินการข้อมูล คาซัคสถานตั้งเป้าที่จะบรรลุการบูรณาการข้อมูลที่ราบรื่นทั่วทุกหน่วยงานของรัฐ

คุณดมิทรี ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของกฎระเบียบการเข้ารหัสเพื่อรับรองความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัว ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สมาใช้ร่วมกับกระบวนการบูรณาการที่เรียบง่ายเพื่อปรับปรุงความลื่นไหลของงาน เขาชี้ถึงผลสัมฤทธิ์ของ Digital Family Card ในการส่งมอบบริการจากรัฐด้วยความโปร่งใสและตรงเป้าหมาย ด้วยการแปลงข้อมูลครอบครัวกว่า 6 ล้านครอบครัวให้เป็นข้อมูลดิจิทัล และใช้อัลกอริธึมขั้นสูงในการจำแนกครอบครัวออกเป็น 5 ระดับเพื่อให้บริการเชิงรุก เช่น การตรวจสอบและส่งการแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังผู้รับบริการโดยตรง ซึ่งช่วยเสริมประสิทธิภาพและความเท่าเทียมในการกระจายทรัพยากร และสุดท้ายยังเน้นถึงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงของการกำกับดูแลที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ซึ่งสื่อถึงอนาคตที่สดใส มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และครอบคลุม ในบริบทต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมของคาซัคสถาน

ประเทศไทยเองมีความก้าวหน้าทางดิจิทัลโดยวัดจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน การพัฒนาแพลตฟอร์ม เช่น พม. SMART แอปพลิเคชัน และ ESS Help Me สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการบริการสาธารณะ

ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการริเริ่มด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยอ้างถึงความจำเป็นในการปรับปรุงการดำเนินงานของรัฐบาลและรวบรวมข้อมูลของประชาชน “เราไม่ได้ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาอีกเนื่องจากปัจจุบันก็มีแอปพลิเคชั่นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่หน่วยงานภาครัฐมักขาดการประสานงานในส่วนของข้อมูล” 

ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง (รัฐ และองค์กรเอกชน) ไม่มีข้อมูลที่ดีพอในการแก้ปัญหา ให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กและเยาวชน สตรีและครอบครัว ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ เป็นต้น) ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราต้องมีฐานข้อมูลดิจิทัลแบบครบวงจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ “พม. SMART” แอปพลิเคชัน จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และความไม่เชื่อมโยงกันของข้อมูลทางสังคม

ศ.นพ.ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย ประธาน มศธส.

โครงการ พม. SMART แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและวิธีการที่มีความคล่องตัว โดยมุ่งเป้าไปที่การอำนวยความสะดวกในการนำไปใช้และการขยายผล แตกต่างจากแนวทางดั้งเดิมที่เน้นไปที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวเพียงอย่างเดียว พม. SMART ได้ขยายขอบเขตเพื่อครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ทั้งยังคำนึงถึงความยั่งยืนโดยเน้นการลดการใช้กระดาษและการดำเนินงานที่รวดเร็วผ่านทีมงานสหวิชาชีพ ใช้กรอบแนวทางการประเมินเชิงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่มีศักยภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่หลากหลาย โดยเฉพาะในบริบทของประเทศที่กำลังพัฒนาภายใต้งบประมาณที่จำกัด การใช้ข้อมูลเพื่อการดูแลประชากรกลุ่มเปราะบาง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ กล่าวคือ “พม. SMART” แอปพลิเคชันจะช่วยให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการวินิจฉัยให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง หรือผู้ประสบปัญหาทางสังคมได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น คาดว่าการใช้ประโยชน์จากข้อมูล พม. SMART อย่างจริงจังจะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตในวงกว้างทั่วประเทศ โดยเฉพาะระบบจ่ายเงินตามกลุ่มปัญหาสังคมของกลุ่มเปราะบางซ้ำซ้อน

คุณพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ.

แม้ว่าคาซัคสถานและไทยจะใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันในความพยายามในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล แต่ก็มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน นั่นคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดข้อผิดพลาด ปรับปรุงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และส่งมอบบริการสำคัญให้กับประชากรของตน ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำทางกฎหมายหรือส่งมอบความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการไม่แบ่งแยกและการเสริมศักยภาพในโลกดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้น คุณพัฒนะพงษ์ กล่าวสรุป