กสศ.-อบจ.ปัตตานี MOU 15 หน่วยงานเดินหน้านวัตกรรม “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต”
เชื่อมงานการศึกษาเชิงพื้นที่ สู่สวัสดิการแก้ปัญหาสายตาเด็กเยาวชนและประชาชนทั้งจังหวัดภายในปี 2567

กสศ.-อบจ.ปัตตานี MOU 15 หน่วยงานเดินหน้านวัตกรรม “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” เชื่อมงานการศึกษาเชิงพื้นที่ สู่สวัสดิการแก้ปัญหาสายตาเด็กเยาวชนและประชาชนทั้งจังหวัดภายในปี 2567

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ท้องถิ่นจังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลปัตตานี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดปัตตานี สมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย บริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทพิธานพาณิชย์ จำกัด และหอการค้าจังหวัดปัตตานี ขับเคลื่อนการตรวจคัดกรองสายตาเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ตลอดจนทุกคนในจังหวัดปัตตานี เพื่อปิดจุดเสี่ยงปัญหาด้านสายตาที่อาจกลายเป็นอุปสรรคด้านการเรียนรู้ เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

ความร่วมมือระหว่าง 15 หน่วยงานเป็นผลจากการทำงาน ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ หรือ Area-based Education’ ของ อบจ.ปัตตานี และ กสศ. ที่เริ่มต้นในปี 2565 โดยมุ่งใช้กลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ซึ่งแต่ละจังหวัดมีอำนาจในการออกแบบวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะกับโจทย์เฉพาะของพื้นที่นั้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่ตรงกับปัญหา ความต้องการ พร้อมมีแนวทางการทำงานกับเด็กเยาวชนในระดับพื้นที่ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงเป้าหมายสำคัญคือการค้นหาเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา เพื่อพากลับสู่การเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามความต้องการ ความถนัด และเป็นเส้นทางเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต สืบเนื่องถึงโครงการออกแบบนวัตกรรมเพื่อการคัดกรองสายตา “I SEE THE FUTURE แค่มองเห็นก็เปลี่ยนอนาคต” ที่ห้องปฏิบัติการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equity Lab โดย กสศ. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มุ่งสร้างกลไกส่งเสริมการทำงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นสายตาที่มีคุณภาพ และเกิดระบบส่งต่อเด็กที่มีปัญหาสายตาซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อเข้าถึงสิทธิการดูแลรักษาที่ทันท่วงที โดยโครงการดังกล่าวได้พัฒนาการทำงานในพื้นที่ต้นแบบมาแล้ว 3 ภูมิภาคที่จังหวัดสมุทรสงคราม สุรินทร์ และปัตตานี ขณะที่การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ได้มุ่งเป้าเชื่อมต่องานไปยังภารกิจ Thailand Zero Dropout เพื่อสำรวจค้นหาเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา และใช้ความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในการออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือที่สอดคล้องกับข้อแม้อุปสรรคของเด็กและครอบครัวเป็นรายกรณี

ทั้งนี้การลงพื้นที่ตรวจคัดกรองนักเรียนจังหวัดปัตตานีจาก 72 โรงเรียนในสังกัด อปท. และโรงเรียนใกล้เคียง ครั้งแรกในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 คณะทำงานสามารถคัดกรองสายตานักเรียนชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้ทั้งหมด 1,725 คน ซึ่งผลระบุว่าปัญหาหลักที่พบคือมีเด็กกลุ่มสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง สายตาสั้นและเอียง สายตายาวและเอียง จำนวน 238 คน คิดเป็น 13.8% ส่วนนักเรียนกลุ่มที่เป็นโรคตา (ต้อกระจก ตาขี้เกียจ ตาเหล่ ตาเข แผลที่กระจกตา) ซึ่งต้องมีการส่งต่อเข้ารับการรักษาจากจักษุแพทย์ จำนวน 77 คน คิดเป็น 4.46% โดยเด็กทุกคนที่ได้รับการตรวจค่าสายตาและวินิจฉัยโรค จะได้รับมอบแว่นตาในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้เบื้องต้น 125 คน โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนจากโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ได้แก่โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านจะบังติกอ โรงเรียนเทศบาล 2 วัดตานีนรสโมสร โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านปากน้ำ โรงเรียนเทศบาล 4 วัดนพวงศาราม โรงเรียนเทศบาล 5 เทศบาลเมืองปัตตานี และโรงเรียนเมืองปัตตานี

กรณีตรวจพบความผิดปกติทางสายตา จะมีการส่งต่อเพื่อวัดค่าสายตาโดยนักทัศนมาตรและพยาบาลเวชปฏิบัติทางสายตา ภายใต้การกำกับดูแลและตรวจรักษาจากจักษุแพทย์ ผู้มีปัญหาทางสายตาจะได้รับแว่นสายตาที่มีคุณภาพ ส่วนกรณีตรวจพบว่ามีกลุ่มเสี่ยงจากโรคทางสายตาและต้องการการวินิจฉัยขั้นสูง จะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีเครือข่ายทุกระดับ

เศรษฐ์ อัลยุฟรี

เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานแก้ปัญหาสายตานักเรียนในจังหวัดปัตตานี ได้เริ่มต้นมาจาก กสศ. และ สปสช. จนมาถึง อบจ. โดยความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะทุกฝ่ายเห็นร่วมว่าปัญหาสายตาของเด็กเยาวชนคือเรื่องสำคัญ และก่อนหน้าการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ทุกหน่วยงานที่มีรายชื่อได้ร่วมประชุมและลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า อุปสรรคด้านการมองเห็นนั้นมีความเกี่ยวพันโดยตรงต่อการคงอยู่ในระบบการศึกษาของเด็กเยาวชนจำนวนไม่น้อย 

“หากวิเคราะห์ลงในข้อมูลเชิงลึก จะพบว่าความผิดปกติทางสายตาส่งผลต่อดัชนีชี้วัดด้านการศึกษา และไม่เพียงการพัฒนาทางสติปัญญา แต่ความผิดปกติทางสายตายังเป็นต้นตอของปัญหารอบด้านที่เด็กต้องเผชิญในขั้นตอนของการเติบโต ทั้งนี้จากข้อมูลที่ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ว่าในเด็กเยาวชนราว 1,700 คน ปัตตานีมีเด็กที่มีปัญหาสายตามากกว่าสองร้อยคน นั่นหมายถึงถ้าคำนวณตามข้อมูลที่ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานีรายงาน ว่าทั้งจังหวัดปัตตานีมีเด็กเยาวชนในช่วงวัยประถมและมัธยมศึกษาอยู่ราว 190,000 คน เท่ากับว่ายังมีเด็กอีกไม่น้อยเลยในจังหวัดปัตตานีที่ยังรอคอยการเข้าถึงความช่วยเหลืออยู่ตรงไหนสักแห่ง ส่วนประเด็นสำคัญนอกจากตัวเลขของเด็กตกหล่น คือข้อเท็จจริงที่บอกเราว่าเด็กหลายคนไม่พร้อมจะเรียนหนังสือเพราะมีปัญหาเรื่องสายตา และแม้ สปสช. จะยืนยันว่าเด็กเยาวชนทุกคนมีสิทธิในการตรวจสายตาและตัดแว่นฟรี แต่ด้วยข้อจำกัดของการเข้าถึงไม่ว่าจะมาจากความยากจน สุขภาพ ความห่างไกลหรือใด ๆ ก็ตาม เด็กเยาวชนอีกมากก็ยังต้องอดทนต่อสู้กับปัญหาทางสายตาต่อไป และนี่คือปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องทราบข้อมูล และนำมาหาทางทำงานต่อร่วมกัน”

นายก อบจ.ปัตตานี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทำให้เกิด ‘เส้นทาง’ และ ‘ความต่อเนื่อง’ ตั้งแต่การลงพื้นที่คัดกรอง ซึ่งเริ่มโดยท้องถิ่นและหน่วยงานด้านการศึกษา จนถึงการส่งไม้ต่อไปยังหน่วยงานสาธารณสุข จึงแน่ใจได้ว่าเด็กที่มีค่าสายตาผิดปกติหรือเป็นโรคตาจะได้รับแว่น ได้รับการส่งต่อถึงการดูแลที่เหมาะสมจากทีมสหวิชาชีพ ดังนั้นเส้นทางการทำงาน I SEE THE FUTURE จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ปกครอง และคือการทำงานที่คาดหวังได้ในเรื่องการยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ และนอกจากเด็กที่อยู่ในโรงเรียน การคัดกรองนี้จะมีการสร้างกลไกพื้นที่ที่เชื่อมโยงไปถึงเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิที่ควรได้รับ และมีโอกาสได้กลับมาอยู่ในเส้นทางการเรียนรู้อย่างมั่นคง  

“ณ โอกาสนี้ ขอขอบคุณ กสศ. และ สปสช. ที่นอกจากเป็นหน่วยงานตั้งต้น ยังเข้ามาดูแลกระบวนการทำงานและจัดทำข้อมูลความเสี่ยงของเด็ก รวมถึงยังช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดหางบประมาณเบื้องต้น และทำให้เห็นว่าการจะก้าวข้ามข้อจำกัดต้องอาศัยพึ่งพากัน เพราะงานบางส่วนเราอาจต้องมีภาคการศึกษาเป็นหลัก บางส่วนต้องใช้ความรู้ความชำนาญจากภาคสาธารณสุข หรืองานบางส่วนก็ต้องอาศัยพลังจากภาคเอกชน ซึ่งจากนี้ไป ทุกฝ่ายจะมาร่วมขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน และในนาม อบจ.ปัตตานี ขอประกาศว่าก่อนถึงปี 2568 เด็กเยาวชนในจังหวัดปัตตานีทุกคนจะต้องได้รับการคัดกรองสายตา และจะตั้งเป้าให้เด็กเยาวชนทุกคนได้อยู่ในระบบการศึกษาโดยไม่มีใครหลุดออกมาอีก”

ดร.สุริยา หมาดทิ้ง

ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดจึงมีความยินดียิ่งที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยภารกิจหลักของ ศธจ. คือการประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนเด็กเยาวชนผู้ต้องการแว่นตามีจำนวนสูงขึ้น แม้ตอนนี้การคัดกรองจะทำได้แล้วในบางพื้นที่ แต่ยังมีเด็กอีกมากที่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล จึงต้องมีการสื่อสารไปยังโรงเรียน ซึ่งด่านหน้าของการทำงานจะเป็นครูประจำชั้นและครูอนามัยโรงเรียน ที่จะได้รับการอบรมทักษะให้สามารถคัดกรองกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น จากนั้นเมื่อพบเด็กที่มีปัญหาสายตา กลไกจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่จังหวัดปัตตานีได้โยกเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารของ อบจ. ทั้งหมดแล้ว มารับหน้าที่คัดกรองเชิงลึก พร้อมส่งให้หน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการต่อ

“กลไกความร่วมมือนี้จะขับเคลื่อนผ่านหน่วยงานที่มีหน้าที่อยู่แล้ว โดยสิ่งซึ่งจะเชื่อมโยงให้ทุกฝ่ายเล่นไปบนกระดานเดียวกันได้คือ ‘ข้อมูล’ ที่เป็นชุดเดียวกันทั้งหมด เบื้องต้นเราใช้ฐานข้อมูลที่ กสศ. พัฒนาขึ้น แล้วกระจายความรับผิดชอบงานออกไปยังโรงเรียน ก่อนขยับขึ้นมาที่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อให้เกิดเส้นทางการส่งต่อที่เหมาะสม นอกจากนี้ข้อมูลที่เป็นชุดเดียวกันในการลงพื้นที่คัดกรอง ยังทำให้ปัตตานีสามารถเชื่อมต่อทำงาน I SEE THE FUTURE และภารกิจ Thailand Zero Dropout ไปได้พร้อม ๆ กัน โดยเราจะให้ความสำคัญที่การค้นหา ทำความเข้าใจปัญหาทั้งเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เพื่อจำแนกส่งต่อและมีกลไกติดตาม เสริมแรงสนับสนุนแต่ละหน่วยงาน

“สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจร่วมกันคือ เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่อาจแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีเพียงหนึ่งเดียว เพราะการที่เด็กคนหนึ่งอยู่นอกรั้วโรงเรียนนั้นตั้งอยู่บนความซับซ้อนของปัญหามากมาย ดังนั้นไม่ใช่ว่าพอเจอแล้วเราจับเด็กส่งกลับเข้าโรงเรียนแล้วจบ ในความเป็นจริงจึงต้องมีกระบวนการหลากหลายมารองรับ ซึ่งสำหรับปัตตานีเรามองที่การปรับการศึกษาให้ยืดหยุ่นผ่าน ‘โรงเรียนทางเลือก’ ซึ่งกฎหมายเอื้อให้ทำได้ โดยจะให้มีหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพื้นที่ ที่ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับปัญหาของเด็กเป็นรายคน หมายถึงเด็กปกติก็เรียนรู้ตามหลักสูตรปกติ แต่สำหรับเด็กตกหล่นที่กลับมาหรือกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็นต่าง ๆ ในชีวิต จะมีการปรับการเรียนรู้ให้สามารถเก็บหน่วยกิตได้ตามตัวชี้วัดและจบการศึกษาได้ ซึ่งเราจะทดลองกับชั้นมัธยมหรือเด็กในช่วงอายุ 13-18 ปีก่อน แล้วค่อยมองถึงการขยายไปที่ชั้นประถมต่อไป” ศธจ.ปัตตานีระบุ

สุรี สะหนิบุตร ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ปัตตานี กล่าวว่า การที่ อบจ.ปัตตานี เข้าร่วมงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาโดยใช้การทำงานเชิงพื้นที่ (ABE) กับ กสศ. ได้นำมาสู่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการทำงานกับภาคีทั้งในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ จนเกิดแนวทางที่ชัดเจนในการทำงานกับเด็กเยาวชนที่มีความหลากหลาย จนมาถึงโครงการ I SEE THE FUTURE ที่ กสศ. และ สปสช. มุ่งความสำคัญไปที่ปัญหาสายตาของเด็กโดยเฉพาะ โดยทาง อบจ.ปัตตานี มองว่าการทำงานในสองฟากฝั่งสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยข้อมูล เนื่องจากผลสำรวจข้อมูลจากงานด้านการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่พบว่า มีเด็กเยาวชนอยู่จำนวนหนึ่งที่มาจากครอบครัวรายได้น้อย ซึ่งมีปัญหาทางสายตาและเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบ

สุรี สะหนิบุตร

“การสำรวจเด็กเยาวชนในท้องถิ่นที่ทำอยู่แล้ว ถ้าขยับมาเชื่อมกับการแก้ปัญหาสายตาไปพร้อมกัน เราคิดว่าจะทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและครอบคลุมความหลากหลายของปัญหามากขึ้น โดยจากการลงพื้นที่คัดกรองสายตาจนเจอเด็กกลุ่มแรกและมอบแว่นไปแล้วรอบหนึ่ง เราพบว่านอกจากเด็กจะมีปัญหาทางสายตา เขายังต้องการความช่วยเหลือในด้านอื่นด้วย คณะทำงานจึงปรับแผนการคัดกรองให้ขยายออกไปไกลกว่าเด็กในสังกัดโรงเรียนท้องถิ่น โดยประสานไปยังเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนทุกแห่งที่อยู่ใกล้กับจุดคัดกรอง ทำให้เจอเด็กมากขึ้น ประเด็นสำคัญคือการคัดกรองที่ขยายออกไปทำให้เราทราบว่ามีเด็กที่มีปัญหาทางสายตาอีกมากที่เข้าไม่ถึงสิทธิ ฉะนั้นเพื่อการทำงานที่ครอบคลุมไปถึงเด็กทั้งจังหวัดจริง ๆ คณะทำงานจึงมองถึงการคัดกรองสายตาเต็มพื้นที่จังหวัด พร้อมเตรียมแผนรองรับในเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ทั้งนี้การที่ รพ.สต. ทั้งจังหวัดปัตตานีได้ถ่ายโอนนมาอยู่กับ อบจ. ทั้งหมด ทำให้งานเคลื่อนได้อย่างไร้รอยต่อ โดย รพ.สต. จะรับหน้าที่คัดกรองเด็กในทุกพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมจัดทำฐานข้อมูลกลางสำหรับหน่วยงานภาคีทั้งหมด แล้วจากนั้นจะเริ่มคัดกรองเด็กเต็มพื้นที่ต่อไป

ผอ.กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ปัตตานี กล่าวว่า งาน ABE ที่ต่อเนื่องมาถึง I SEE THE FUTURE ทำให้เห็นว่า ‘ความร่วมมือ’ จากหลายหน่วยงาน คือ ‘หัวใจ’ ของการทำงาน โดยในฐานะท้องถิ่นอาจมีอำนาจบริหารจัดการหรือมีงบประมาณ แต่หลายอย่างยังต้องการการเติมเต็ม เช่นความรู้วิชาการจากภาคการศึกษา หรือบางสิ่งที่ท้องถิ่นดำเนินการเองไม่ได้ก็จำเป็นต้องใช้มือจากหน่วยงานอื่น การปฏิบัติงานจึงสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ตัวอย่างเช่นการลงพื้นที่ค้นหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา ถ้าไม่มีพลังจาก สกร. และท้องที่ ก็จะไม่มีทางเลยที่จะได้ข้อมูลหรือพบตัวเด็ก เพราะในความซับซ้อนของปัญหา บางอย่างเราต้องมองให้พ้นจากเรื่องข้อมูล กระบวนการ หรือการค้นพบค้นเจอ ซึ่งสำหรับเด็กเยาวชนที่หลุดออกไป ร้อยทั้งร้อยเขาจะปิดกั้นตัวเอง ดังนั้นต้องเป็นคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะเข้าถึงเข้าใจ การคัดกรองสายตาก็เช่นกัน ถ้าโรงเรียนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เห็นความสำคัญ ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกันที่เราจะคัดกรองเด็กได้ครบทุกคน หรือถ้าการคัดกรองมีแค่ครูในโรงเรียน ไม่มีเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ไปช่วย เราก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าการคัดกรองจะมีคุณภาพเต็มที่ ทั้งหมดนี้คือการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อที่ทุกฝ่ายจะบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน”

นพ.รุซตา สาและ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า ในฐานะหนึ่งในภาคีขับเคลื่อนโครงการ I SEE THE FUTURE โรงพยาบาลปัตตานีจะมีหน้าที่ตรวจคัดกรองเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งจะมีนักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญในการวินิจฉัยอาการอย่างถูกต้องแม่นยำ ดังนั้นสำหรับเด็กที่มีโรคตาแฝงอยู่แต่ยังไม่แสดงอาการ ก็สามารถตรวจพบและรักษาได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้โรคไม่ลุกลามและหายขาดได้  

นพ.รุซตา สาและ

“การที่เด็กมีสายตาสั้นหรือสายตาเอียงและยังไม่ได้รับการตรวจพบ หรือบางคนมีโรคตาแฝงอยู่แต่ยังแสดงอาการไม่ชัด ทั้งสองสาเหตุล้วนส่งผลต่อการเรียนรู้ การพัฒนาบุคลิกภาพ ไปจนถึงทักษะอื่น ๆ เช่นการสื่อสาร หรือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากโรงพยาบาล เพื่อให้ได้เข้าสู่กระบวนการตัดแว่นที่ตรงกับค่าสายตา หรือถ้าเป็นโรคตาก็จะได้รับการรักษาทันที ก่อนที่เด็กจะโตขึ้นไปสู่วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลปัตตานีได้วางแนวทางไว้ว่าภายในปี 2568 จะรณรงค์ให้มี ‘เดือนแห่งการคัดกรองสายตา’ ประจำปีสำหรับเด็กทั้งจังหวัด และจะทำต่อเนื่องทุกปี โดยเราจะยกคณะจักษุแพทย์และทีมนักทัศนมาตรลงไปที่โรงเรียนหรือจุดตรวจในแต่ละพื้นที่แบบครบวงจร นอกจากนี้จะมีการเปิดคลินิกอบรมทักษะสำหรับครูอนามัยโรงเรียน รวมถึงการประเมินจำนวนครูที่มีทักษะคัดกรองสายตา ว่ามีเพียงพอและครอบคลุมทั้งจังหวัดหรือไม่”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ นับว่าเป็นการแก้ปัญหาของการทำงานในระดับโครงสร้าง ที่แต่เดิมแต่ละหน่วยงานมักเดินหน้าไปตามภารกิจที่เกี่ยวข้องเป็นเส้นตรงเส้นเดียว ขณะที่การจับมือกันไว้ด้วย MOU ฉบับนี้ ทุกฝ่ายจะเริ่มมองปัญหา ทิศทาง และเป้าหมายการทำงานต่างไป โดยแม้ต่างฝ่ายจะมีหน้าที่หรือความชำนาญเฉพาะ อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการไปบนกฎกติกา กระบวนการ และชุดข้อมูลเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาย่อมหมายถึงความเชื่อมโยงและถ่ายเทส่งต่อเนื้องานไปได้อย่างไร้รอยต่อ

ลุตฟี สะมะแอ

ลุตฟี สะมะแอ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนวัยรุ่น ศูนย์อนามัยที่ 12 จังหวัดยะลา กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 12 เป็นส่วนหนึ่งของกรมอนามัยที่รับผิดชอบดูแลระดับท้องถิ่น ใน 7 จังหวัดภาคใต้ประกอบด้วยตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในเรื่องสุขภาพของคนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย สำหรับบทบาทของศูนย์ฯ ในโครงการ I SEE THE FUTURE ได้มีมติที่ประชุมจาก Service Plan สาขาตามอบหมายให้ดำเนินงานในเรื่องการสื่อสารเป็นหลัก โดยทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดในการประชาสัมพันธ์ และมีกระบวนการทำงานที่เอื้อต่อการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของเด็กเยาวชนทุกคน 

“ในวงกว้างเรามองว่าเด็ก ๆ และครอบครัวจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบเรื่องสิทธิประโยชน์ จึงจำเป็นต้องสื่อสารว่าเด็กทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงการตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นหนึ่งชิ้นต่อคนต่อปี ในเรตอัตรา 800-1,000 บาท นอกจากนี้เรายังเป็นศูนย์วิชาการที่จะเข้าไปจัดการอบรมวิธีการคัดกรองสายตาเบื้องต้นให้กับครู ด้วยหลักสูตร 1 โรงเรียน 1 ครูอนามัย และเมื่อเจอเด็กที่มีปัญหาด้านสายตา ทางศูนย์ฯ ยังมีหน้าที่ประสานงานกับ รพ.สต. ในพื้นที่เพื่อสนับสนุนนระบบส่งต่อให้แข็งแรง 

“ทั้งนี้ในปี 2567 นี้ ทาง Service Plan สาขาตา ได้มีนโยบายเปลี่ยนการทำงานจากเชิงรับ ซึ่งแต่เดิมขั้นตอนจะซับซ้อนและเข้าถึงยาก มาเป็นงานเชิงรุกที่มุ่งลงพื้นที่ไปหาเด็ก ดังนั้นกระบวนการจึงเอื้อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยวิธีการนี้เป็นการถอดบทเรียนจากที่ กสศ. ทำต้นแบบในหลายจังหวัด นอกจากนี้ทางศูนย์ฯ ยังเตรียมขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งเริ่มแล้วที่ยะลาและนราธิวาส และเรามองว่าถ้าสามารถขยายการทำงานไปได้ในทุกพื้นที่ โอกาสที่จะคัดกรองเด็กทั้ง 7 จังหวัดหรือทั้งประเทศก็เป็นไปได้”