วตท.รุ่น 33 ร่วมเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมบริจาคเงินเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชน

วตท.รุ่น 33 ร่วมเสนอแนวทางลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พร้อมบริจาคเงินเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นตัวแทนรับมอบเงินบริจาคจำนวน 710,000.33 บาท จากนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.)รุ่นที่ 33 ที่ได้ร่วมกันระดมทุนผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งจากการรับบริจาคจากผู้ที่เข้าศึกษาใน วตท.รุ่นที่ 33 และการจัดการประมูลเสื้อยืดทีมฟุตบอลเรอัลมาดริดโดยสามารถประมูลได้ 220,000 บาท

นอกจากนี้ นักศึกษาใน วตท.รุ่นที่ 33 ยังได้ร่วมกันตั้งโจทย์ในการสร้างกลไกเพื่อการระดมทุน และร่วมกันหาแนวทางต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายหลังจากที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท  ผู้จัดการกสศ.ได้ให้ข้อมูลและโจทย์กับนักศึกษาวตท.รุ่นที่ 33 ว่า การทำงานของ กสศ.คือความพยายามลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางจากครัวเรือนยากจน 20% ท้ายของประเทศ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยที่ 1,039 บาทต่อคนต่อเดือน 

“รายได้ของครัวเรือนนักเรียนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการออกกลางคัน ภาวะความยากจนในระดับรุนแรง ส่งผลต่อการตัดสินใจออกจากระบบการศึกษา และส่งผลให้ไม่สามารถก้าวพ้นวงจรความยากจนข้ามรุ่นได้ ขณะเดียวกัน ยังพบว่าระบบการศึกษาที่ขาดแคลนทางเลือก ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของเด็กกลุ่มนี้ ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการผลักดันให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกด้วย” ผู้จัดการกสศ.กล่าว

ดร.ไกรยสยังระบุอีกว่า ที่ผ่านมา กสศ.ได้พยายามเสนอระบบการศึกษาหลายทางเลือก ที่ช่วยตอบโจทย์ชีวิตของเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ และยังต้องการแนวคิดและความคิดเห็นจากบุคลากร หน่วยงานและองค์กรต่างๆ รวมถึงชั้นเรียน วตท.รุ่นที่ 33 ว่า จะทำอย่างไร ให้เด็กกลุ่มยากจนพิเศษสามารถได้รับการศึกษาขั้นสูงสุดหรือกระทั่งมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งตามสถิติพบว่า แต่ละปีเด็กกลุ่มนี้ สามารถเข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้เพียง 12% หรือมีช่องทางอื่นใดที่จะช่วยส่งเด็กและเยาวชนจากครอบครัวกลุ่มดังกล่าวไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ ชั้นเรียน วตท.รุ่นที่ 33 ได้แบ่งกลุ่มอธิบายหัวข้อการทำ Workshop ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกได้ตั้งหัวข้อ ‘Impact Investing’ หรือการลงทุนที่จะสร้างให้เกิดผลกระทบทางบวกต่อส่วนรวม กลุ่มที่ 2 ตั้งหัวข้อ Innovative financing หรือการจัดหาเงินทุนเชิงนวัตกรรมหมายถึงกลไกต่างๆ และได้สรุปผลจากการ Workshop ดังนี้

กลุ่มที่ 1 สรุปว่า ปลายทางที่อยากเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางไปถึงไม่ใช่วุฒิทางการศึกษา แต่เป็นการสร้างโอกาส ให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปจนสุดความสามารถพัฒนาตนเองตามศักยภาพ โดยไม่จำกัดแนวทางเพียงแค่ในรั้วโรงเรียน จึงจำเป็นต้องสร้างระบบและแนวทางสร้างแรงจูงใจให้เอกชนและผู้ประกอบการ เข้ามาเป็นแนวร่วมสำคัญในการสร้างแนวทางหรือทางเลือก ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมและสร้างแรงจูงใจได้ เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษี

กลุ่มที่ 2 สรุปว่า เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนด้วยกลไกทางการเงิน จำเป็นที่จะต้องสร้างโมเดลในการระดมทุนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนและระบบข้อมูลที่ช่วยให้เห็นความความสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับกลไกการลงทุนและการพัฒนาประเทศในอนาคต