กสศ. มูลนิธิกระจกเงา จับมือเครือข่าย เปิดธนาคารโอกาสและถนนครูเดินครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก
สนับสนุนทรัพยากรโรงเรียนห่างไกล สร้างขวัญกำลังใจให้ครูรับเปิดเทอม

กสศ. มูลนิธิกระจกเงา จับมือเครือข่าย เปิดธนาคารโอกาสและถนนครูเดินครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก สนับสนุนทรัพยากรโรงเรียนห่างไกล สร้างขวัญกำลังใจให้ครูรับเปิดเทอม

แม้ว่านโยบาย “เรียนฟรี” เป็นหนึ่งในรัฐสวัสดิการของระบบการศึกษาไทย แต่ข้อมูลจาก กสศ. พบว่า การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรระหว่างโรงเรียนขนาดเล็ก พื้นที่ห่างไกล กับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากเพราะ 1.หากจำนวนของนักเรียนน้อย ก็จะทำให้ได้รับงบประมาณน้อย 2.นักเรียนและคนในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน 3.ขาดแคลนครูและบุคลากรในโรงเรียน และ 4.เสียเปรียบเรื่องลักษณะภูมิประเทศ ทำให้การเดินทางของครูต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าโรงเรียนในเมือง

การจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จะช่วยสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV Thai PBS ขับเคลื่อน “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” เป็นตัวกลางรับบริจาคสิ่งของจำเป็น เช่น สื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อเรียนรู้ทุกประเภท คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ให้แก่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ที่มีความต้องการเร่งด่วน เชื่อมโยงผู้ให้และผู้รับมาเจอกันด้วยฐานข้อมูลการชี้เป้าที่แม่นยำและกลไกการจัดสรรส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับระดมพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชาชน ขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อความยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ได้เคลื่อนขบวนความร่วมมือครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก ส่งมอบทรัพยากรด้านการศึกษาสนับสนุนครู 23 โรงเรียน ณ โรงเรียนบ้านท่าเรือจ้าง (ประชาชนูปถัมภ์) อ.เมือง จ.ตราด มอบคอมพิวเตอร์ 250 เครื่อง และทรัพยากรด้านการศึกษา เช่น ชุดนักเรียน อุปกรณ์กีฬา หนังสือส่งเสริมการอ่าน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์เสริมทักษะ ฯลฯ และเปิดวงเสวนาเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการสนับสนุนทรัพยากรการศึกษาที่เสมอภาค โดยมีผู้แทนเข้าร่วม อาทิ ดร.นพดล พลเยี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. นางนิกร ผงทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเกาะกูด นายสมเกียรติ แซ่เต็ง ครูรางวัลคุณากร รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2566 นายจิรายุ มัทธจิตร์ ครูโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง ตัวแทนครูรักษ์ถิ่นรุ่น 1 จ.ตราด นายสุรศักดิ์ ภูติภัทร์ นายกเทศมนตรีเมืองตราด นายเสรี สำราญจิตร นายกเทศมนตรีตำบลบ่อพลอย ทันตแพทย์หญิงวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด นายศักดินัย นุ่มหนู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด ผู้อำนวยการและคุณครู จาก 23 โรงเรียน รวมกว่า 200 คน

ดร.นพดล พลเยี่ยม

ดร.นพดล พลเยี่ยม รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด กล่าวว่า “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ถือได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนตามแนวนโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ที่ว่า “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” เพื่อระดมพลังทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาอย่างเสมอภาค

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด รับผิดชอบการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานครอบคลุมทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดตราด มีโรงเรียนในความรับผิดชอบจำนวน 101 แห่ง โดยแบ่งเป็นอำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอเกาะช้าง และอำเภอเกาะกูด ดูแลนักเรียนราว 20,000 คน

“กิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดินครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืนด้วย เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และที่สำคัญคือนักเรียนของเราทุกคน ในนามของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตราด ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายแทนโรงเรียนทุกแห่ง ที่เข้ามาสนับสนุนและให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน และคุณครูในพื้นที่ห่างไกล”

พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โรงเรียนและคุณครูคือหัวใจสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อคุณภาพของการศึกษาที่เสมอภาค

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้ อาทิ โครงการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพตนเอง โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในการมุ่งแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยพลังของพื้นที่ และโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น สร้างครูตามแนวคิด “ครูนักพัฒนาชุมชน” บรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลซึ่งเป็นท้องถิ่นของตนเอง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนครู ครูไม่ครบชั้นและการโยกย้ายบ่อย โดยรุ่นที่ 1 จำนวน 327 คน ได้สำเร็จการศึกษาและประจำการสอนเด็ก ๆ ในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งในจังหวัดตราด มีครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น 1 ทั้งหมด 4 คน

“กิจกรรมถนนครูเดินและธนาคารโอกาส เป็นหนึ่งในความพยายาม โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยของ กสศ. ที่ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เพื่อผลักดันให้การปฏิรูปสูตรจัดสรรงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity-based Budgeting) ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล  เราไม่สามารถใช้สูตรจัดสรรงบสูตรเดียวกันทั้งประเทศได้ เพราะโรงเรียนมีสภาพปัญหา บริบทพื้นที่ ความยากลำบากที่แตกต่างกัน หากเราใช้จำนวนของนักเรียนเป็นตัวแปรเพียงอย่างเดียว จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างที่ปรากฎขึ้นในปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า ในระบบการศึกษาไทยเผชิญกับปัญหานี้มาหลายสิบปีแล้ว เด็กนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเหล่าที่จมอยู่กับสภาพปัญหาเหล่านี้ ยังไม่รวมถึง คุณครู ผู้อำนวยการ ที่ต้องเดือดร้อน และเสียสละ โครงการธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน มุ่งขับเคลื่อนสร้างความรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง เพื่อให้สูตรจัดงบประมาณเกิดความเปลี่ยนแปลง

“ท่านผู้แทนจากฝ่ายนิติบัญญัติที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ จึงเป็นภาคีที่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยผลักดันเรื่องนี้ในรัฐสภาเพื่อให้เปิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งกฎ ระเบียบ แนวทางระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรค อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นความเดือดร้อนที่จำเป็นเร่งด่วน ทุกวัน ๆ ที่ผ่านไป คือการเสียโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการระดมทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือทันทีด้วยเช่นกัน”