เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2564 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการรับนักเรียนและการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ภายหลังการหารือกับนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ณ ห้องวชิราวุธ กระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้หารือร่วมกับ สพฐ. เกี่ยวกับแนวทางการรับนักเรียนและการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 สำหรับแนวทางการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นต่างๆ นั้น ขณะนี้ สพฐ. ได้แจ้งให้สถานศึกษาเปิดรับสมัครผ่านระบบออนไลน์ ส่วนการจัดสอบรวมถึงการรายงานตัวเข้าศึกษาต่อ จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง โดยยึดหลักมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุข และ สพฐ.จะเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการดำเนินงาน เสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้หารือถึงการเตรียมความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยจะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ และคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงผู้ปกครองเป็นหลัก ทั้งนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีความรุนแรงขึ้น อาจจะมีการหารือกับ ศบค.อย่างใกล้ชิด เพื่อเลื่อนเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ในส่วนของแผนการจัดการเรียนการสอนในช่วง COVID-19
กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอน ทั้งรูปแบบ On-air ด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม, รูปแบบ Online ซึ่งมีความเหมาะสมกับเด็กในระดับชั้นที่สามารถเข้าศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการเรียนรูปแบบ On demand และรูปแบบ On-site ที่ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ จึงได้มอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำการสำรวจและประเมินความพร้อมในการจัดการศึกษาในแต่ละพื้นที่ เพื่อจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนในพื้นที่
ส่วนการสอบบรรจุครูผู้ช่วยนั้น ในช่วงนี้อาจจะยังไม่สามารถดำเนินการจัดสอบได้ จึงมีแนวทางจะนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอน “โรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง” มาใช้ โดยให้สถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านทรัพยากรและบุคลากร เข้าไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียง และมี สพฐ. กำกับติดตามอย่างใกล้ชิด
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สพฐ. ได้วางแผนการดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน และได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ ศบค. โดยได้กำชับไปยังผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองทุกคน แต่หากเปิดภาคเรียนแล้ว ผู้ปกครองยังไม่มั่นใจในการส่งบุตรหลานมาที่โรงเรียน สพฐ. ก็มีวิธีจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับนักเรียนทุกคน โดยคำนึงถึงความพร้อมของนักเรียนและเนื้อหาที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในทุกมิติ เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เด็กทุกคนต้องได้รับความรู้อย่างทั่วถึง