รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับคณะกรรมการชาติ ลงพื้นที่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชู ‘โคราชโมเดล’
ต้นแบบ ‘Thailand Zero Dropout’ ผ่าน 333 ท้องถิ่น ใน 32 อำเภอ

รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับคณะกรรมการชาติ ลงพื้นที่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ชู ‘โคราชโมเดล’ ต้นแบบ ‘Thailand Zero Dropout’ ผ่าน 333 ท้องถิ่น ใน 32 อำเภอ

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงเรียนหนองน้ำใส ตำบลหนองน้ำใส อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การต้อนรับนายประเสริฐ จันทรรวงทองรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ พร้อมกับนางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีในฐานะรองประธานกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนฯ เพื่อเดินหน้าผลักดัน ‘โคราชโมเดล เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ และคณะ ลงพื้นที่โรงเรียนหนองน้ำใส ต.หนองน้ำใส อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา

โดยรองนายกรัฐมนตรีฯ และคณะได้ลงพื้นที่รับฟังการทำงาน ‘สีคิ้วโมเดล’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอต้นแบบ Thailand Zero Dropout’ พร้อมกันนี้ยังได้มอบนโยบาย Thailand Zero Dropout แก่หน่วยงานและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 333 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นได้เยี่ยมชม ‘ศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนหนองน้ำใส ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ’ ตลอดจนรับฟังกรณีตัวอย่างการช่วยเหลือเด็กนอกระบบในพื้นที่ตำบลหนองน้ำใส และพบปะอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และประชาชนในตำบลหนองน้ำใส อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวถึงการทำงาน Thailand Zero Dropout ว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด และศึกษาธิการจังหวัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และให้ร่วมมือกับ กสศ. และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ที่มีแพลตฟอร์ม EWE หรือ ‘อี-วี่’ (E-workforce ecosystem) ในการพัฒนากำลังคนบนมาตรฐานของมืออาชีพ เพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ยั่งยืน รวมถึงผลักดันให้เกิดระบบการเทียบโอนสมรรถนะที่มีประสิทธิภาพและเที่ยงตรง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชากรทุกช่วงวัย และเป็นมาตรการรองรับการช่วยเหลือของเด็กเยาวชนกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษา 

ประเสริฐ จันทรรวงทอง

ทั้งนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขอสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการค้นคว้าหาข้อมูลและองค์ความรู้ต่าง ๆ สำหรับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกคน โดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตนอกเวลาเรียน และเป็นเครื่องมือเข้าถึงความรู้ของกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษาในการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ทุกที่ทุกเวลา ผ่านโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ เพื่อรองรับการพัฒนาทักษะดิจิทัล การเรียนรู้เพื่อมีรายได้ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Leam to Earn Platform)

“ศูนย์ดิจิทัลชุมชนจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยมีการจัดเก็บข้อมูลด้านการศึกษา การฝึกอบรม การจัดหางาน รวมถึงความต้องการของตลาดแรงงาน และมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่มีพันธกิจเกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการ เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้ที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และสามารถนำประสบการณ์มาเป็นอาสาสมัครดิจิทัลชุมชน (อสด.) ในลักษณะเครือข่ายให้ความรู้ด้านดิจิทัล และสร้างงานและสร้างอาชีพแก่คนในชุมชน เพื่อให้บุคลากรในจังหวัดมีคุณภาพและเป็นกำลังพัฒนาประเทศชาติต่อไป ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการศึกษาเรียนรู้ได้ โดย ณ วันนี้ได้มีศูนย์ ฯ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,722 แห่ง และจะเพิ่มเติมอีก 500 แห่งในปี 2568 

“โอกาสนี้ขอให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ กับการขับเคลื่อนให้เกิดการนำ ‘โคราชโมเดล เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ ไปใช้ต่อยอดบูรณาการในทุกพื้นที่ ซึ่งการทำงานจากนี้ต้องจริงจัง ทุ่มเท เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์เกิดขึ้นจริงได้”

สานิตย์ ศรีทวี

นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอสีคิ้ว กล่าวรายงานความคืบหน้าของ ‘สีคิ้วโมเดล’ อำเภอต้นแบบ Thailand Zero Dropout’ ภายใต้แนวคิด ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ว่ามุ่งเน้นที่การสร้างกลไกช่วยเหลือติดตามเพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศไทยเผชิญปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา อันส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว ผนวกกับอัตราการเกิดของเด็กและเยาวชนไทยต่ำกว่า 5 แสนคนต่อปี อันหมายถึงการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ (Complete Aged Society)

นายอำเภอสีคิ้ว กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวน 1,600 คน ใน 12 ตำบล จึงได้ดำเนินการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา และวางแนวทางในการแก้ไข ช่วยเหลือ และป้องกันปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาตามเป้าหมาย โดยทำงานผ่านระบบสารสนเทศ Thailand Zero Dropout จนสามารถติดตามช่วยเหลือเด็กเยาวชนผ่านเครือข่ายสหวิชาชีพ (Case Management System) และนำเข้าสู่การจัดการเรียนรู้แบบยึดหยุ่น 

“การดำเนินการงานครั้งนี้ อำเภอสีคิ้วเป็นต้นแบบในการสร้างกลไกติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา และจัดสรรการช่วยเหลือที่เหมาะสมตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน เพื่อลดอัตราการหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เป็นศูนย์ โดยใช้ ‘สีคิ้วโมเดล’ เป็นแนวทางนำร่อง ผ่านแนวทางการดำเนินงานโดยสร้างฐานข้อมูลที่ครอบคลุมร่วมกับ กสศ. ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัคร เพื่อดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงลึกของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ร้อมตรวจสอบสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ 

“สำหรับกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษาในอำเภอสีคิ้ว สามารถใช้ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เพื่อการศึกษาเรียนรู้ได้ ที่เด็กและเยาวชนและประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าเรียนรู้ ตลอดจนมีอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) จำนวน 69 คนในอำเภอสีคิ้ว ที่พร้อมให้ความรู้ด้านดิจิทัล และเป็นเครือข่ายในการสร้างงานและสร้างอาชีพแก่คนในชุมชน และแพลตฟอร์ม EWE (อีวี่) (E-workforce ecosystem) ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) ในการพัฒนากำลังคนด้วยมาตรฐานอาชีพให้เป็นมืออาชีพ และจัดทำข้อมูลร่วมกับ กสศ. ภายใต้นโยบาย Thailand Zero Dropout 

“ในส่วนของตำบลหนองน้ำใส มีข้อมูลระบุว่า มีทั้งหมด 232 คน ซึ่งจากที่ได้ติดตามข้อมูลเด็กทั้ง  232 คน พบว่า เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาที่หลุดจากระบบมีเพียง 97 ราย ส่วนที่เหลือ ทางเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้ว และมีแผนที่จะขยายโมเดลของอำเภอสีคิ้วให้ครบทั้ง 12 ตำบล 15 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อที่จะดูแลเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา

(ขวา) ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากมติของคณะรัฐมนตรีที่รับทราบถึงปัญหาสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ส่งผลให้หน่วยงานระดับจังหวัดและกลไกท้องถิ่นสามารถเริ่มทำงานในการตามเด็กกลับมาเรียนได้อย่างเต็มที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะทีมติดตามเด็ก แต่ละจังหวัดสามารถออกแบบได้เองว่าจะใช้หน่วยงานใดมาช่วยพาเด็กกลับมาเรียน เช่น บางจังหวัดเลือกอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) บางจังหวัดเลือก อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นต้น

“เมื่อเริ่มกระบวนการติดตามเด็กและเยาวชนใน 25 จังหวัด แต่ละทีมจะได้ข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จะนำไปคิดเป็นนโยบายเพื่อช่วยเหลือเด็กได้อย่างตรงจุด พร้อมขยายพื้นที่ช่วยเหลือให้กว้างขึ้นในปี 2568”

ดร.ไกรยส ย้ำว่า เด็กแต่ละคนที่ออกจากระบบการศึกษาไป ล้วนมีเหตุจำเป็นที่ทำให้พวกเขาต้องละทิ้งการศึกษา ทั้งปัญหาความยากจน สภาพร่างกายที่ไม่พร้อม อยู่ในถิ่นทุรกันดาร หรืออยู่ในวังวนของความรุนแรง ดังนั้น ระบบการศึกษาต้องยืดหยุ่นให้มากขึ้น เรียนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ต้องมีภาคเอกชนรับช่วงต่อหลังจบการศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้มีงานทำและมีโอกาสหลุดพ้นจากกับดักของความยากจนได้ 

“โดยเชื่อมั่นว่าท้องถิ่นเป็นกลไกและพลวัตสำคัญในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ตามศักยภาพ หรือ ‘Thailand Zero Dropout’ และเชื่อว่าท้องถิ่นทุกแห่ง มีศักยภาพในการบูรณาการการค้นหาเด็กเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา และพากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา”   

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังได้มอบนโยบายให้กับผู้ว่าราชการ 4 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และจังหวัดสุรินทร์ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล ในซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2567 พบว่าใน 4 จังหวัดได้มีการพาเด็กเยาวชนเข้าสู่การศึกษาได้แล้วราว 1 ใน 3 โดยนครราชสีมาพากลับมาแล้ว 10,325 คน (35.7%) ชัยภูมิ 3,518 คน (34.4%) บุรีรัมย์ 5,40 คน (30.7%) และสุรินทร์ 3,878 คน (30.5%) และจากนี้จะมีการค้นพบและพากลับสู่การเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง