บ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน

บ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน

ที่มาภาพ: The LEGO Foundation

สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการศึกษาทั่วโลก เร่งปรับปรุงหลักสูตรและระบบการศึกษาที่ล้าสมัย เพื่อสร้างความพร้อมด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางสังคม ความฉลาดทางอารมณ์ และความสมบูรณ์ทางร่างกายให้แก่เด็กนักเรียน

โดยสภาเศรษฐกิจโลกได้เปิดเผยบทความบนเว็บไซต์ว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้ระบบการศึกษาของแทบทุกประเทศทั่วโลกตกอยู่ในภาวะชะงักงัน และส่งผลเสียต่อเด็กนักเรียนที่กำลังจะเติบโตเป็นฟันเฟืองสำคัญในการฟื้นฟูประเทศต่อไปในอนาคต ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะโรคระบาด ผลการประเมินหลักสูตรการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกก็ชี้ชัดว่าระบบการศึกษาที่มีอยู่ส่วนใหญ่ค่อนข้างล้าสมัย ทั้งยังมีการประเมินว่าภายในปี 2030 จะมีเด็กและเยาวชนเกินครึ่งทั่วโลก หรือราว 800 ล้านคน ขาดทักษะหรือคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับการเป็นแรงงานในโลกยุคดิจิทัล

ซึ่งการระบาดของ COVID-19 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพปัญหาของระบบการเรียนการสอนที่ล้าสมัยชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของสภาเศรษฐกิจโลกจึงเตือนว่า ประสิทธิภาพของระบบการศึกษาที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะเตรียม ‘คนรุ่นใหม่’ ให้เพียบพร้อมและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อกระตุ้นให้นักการศึกษา ผู้ปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันคิดวางแผนประยุกต์ใช้วิธีการและเครื่องมือที่มีอยู่ ส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเด็กนักเรียนอย่างเต็มที่

ปัจจุบันมีการประเมินว่า ราว 1 ใน 5 ของคนหนุ่มสาวทั่วโลก หรือประมาณ 267 ล้านคน ตกอยู่ในสภาวะตกงานเพราะวิกฤตโรคระบาด และมีแนวโน้มว่าจะหารายได้ได้น้อยลง ส่วนเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเรียนก็มีแนวโน้มที่จะได้รับรายได้น้อยลงเช่นกัน คิดเป็นมูลค่าที่ลดลงมากถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบเท่าค่าใช้จ่ายต่อปีในการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในโรงเรียนรัฐทั่วโลก และมีการประเมินว่าประชากรโลก 1,300 ล้านคนที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงานในอีก 10 ปีข้างหน้า จะได้รับผลกระทบจากหลักสูตรการศึกษาอันล้าสมัยที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความเจริญก้าวหน้า

แน่นอนว่า การเรียนการสอนด้านวิชาการยังคงเป็นทักษะที่มีความสำคัญ แต่การเล่น ความคิดสร้างสรรค์ การเพิ่มพูนประสบการณ์จริง ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กมีภูมิคุ้มกันในการเผชิญหน้ากับสังคมดิจิทัล ซึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาและยากที่จะคาดเดาได้ โดยทักษะที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งต่อโลกอนาคตคือ ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแบกรับแรงกดดันจากความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่างๆ

มีผลการวิจัยระบุว่า สติปัญญาและกระบวนการคิด ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางสังคม ทักษะทางอารมณ์ และความสมบูรณ์ทางร่างกาย เมื่อผนวกรวมกับความรู้ด้านวิชาการจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาเด็กนักเรียนทั้งหลายให้สามารถดำรงชีวิตในทิศทางที่เหมาะสมบนโลกอันซับซ้อนยุ่งเหยิงใบนี้

ที่มาภาพ: Unsplash-Kevin Jarrett

ดังนั้น สิ่งจำเป็นเร่งด่วนจึงไม่ใช่แค่การหาวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคระบาดเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องจัดการกับระบบการศึกษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำ เพื่อให้หลักสูตรมีความทันสมัยเพียงพอที่จะตระเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มี ‘ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

ซึ่งสภาเศรษฐกิจโลกได้ยกตัวอย่างบางประเทศที่ริเริ่มส่งเสริมการเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นต่อโลกยุคใหม่ โดยอ้างอิงรายงานของมูลนิธิ LEGO Foundation ภายใต้หัวข้อ Creating Systems – how can education systems reform to enhance learners’ creativity skills? (ระบบความคิดสร้างสรรค์: การปฏิรูประบบการศึกษามีผลต่อการเพิ่มพูนทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียนอย่างไร?) โดยสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านการศึกษาในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สก็อตแลนด์ เวลส์ และไทย

เนื้อหารายงานเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอธิบายว่า ความพยายามในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาส่งผลบวกต่อการบ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน รวมถึงช่วยเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงานในอนาคต

แต่เมื่อเกิดการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนไปดำเนินการเรียนการสอนผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งวิธีการเรียนดังกล่าวมุ่งให้ความสนใจในทักษะด้านการอ่านออกเขียนได้และการคิดคำนวนเพียงอย่างเดียว ทำให้การเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ผ่านกิจกรรม และการเคลื่อนไหวทางร่างกายถูกละเลยไป จึงเป็นความเสี่ยงต่อการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเด็กนักเรียนที่จำเป็นต้องมีความรู้อย่างรอบด้านในการเผชิญหน้ากับโลกยุคใหม่

สภาเศรษฐกิจโลกจึงเรียกร้องให้นานาประเทศใช้โอกาสนี้ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ด้วยการหาทางพัฒนาระบบการศึกษาให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการติดอาวุธหรือทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในภายภาคหน้าอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ที่มา World Economic Forum