Andreas Schliecher เสนอภาคนโยบายพิจารณาแนวทางสู่การปฏิรูปการศึกษา

Andreas Schliecher เสนอภาคนโยบายพิจารณาแนวทางสู่การปฏิรูปการศึกษา

Andreas Schleicher ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านการศึกษาและทักษะ ของ OECD

แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

Andreas Schleicher ผู้อำนวยการคณะกรรมการด้านการศึกษาและทักษะ (Directorate for Education and Skills) ขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยรายงานผลการศึกษาที่น่าสนใจ โดยกล่าวถึงแนวทางในการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและประสบความสำเร็จเชิงลึก จากการถอดบทเรียนของบรรดานักการศึกษาในการรับมือกับปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19

บ่อยครั้งที่คนในแวดวงการศึกษาพูดกันว่าเส้นทางการปฏิรูปการศึกษามักเต็มไปด้วยแนวคิดนามธรรมที่ดีมากมาย แต่กลับอ่อนในการนำไปปฏิบัติให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นคำถามคาใจนักการศึกษาส่วนใหญ่ว่า ทำไมการผลักดันระบบการศึกษาของโลกให้ก้าวไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องยากเย็นนัก

นักปฏิรูปการศึกษาให้ความสำคัญในการจัดการกับข้อกฎหมาย ระเบียบข้อกำหนดต่างๆ  โครงสร้างและสถาบัน แต่ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ยังมีปัญหาอีกมากมายจมอยู่ใต้ผืนน้ำ ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เว้นแต่จะสร้างความเข้าใจและความรู้สึกในการเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลงร่วมกันให้เกิดขึ้น

จับมือกันด้วยวัตถุประสงค์ร่วมกัน

การปรับเปลี่ยนผู้คน เกิดการหลอมรวมวิธีคิดเข้าด้วยกัน บุคลากรในแวดวงการศึกษาต่างลุกขึ้นมาตอบสนองและช่วยกันออกแบบวิธีการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น เพื่อช่วยให้ทุกคนประสบความสำเร็จในวิกฤตครั้งนี้

ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมา เราเห็นการปฏิรูปการศึกษาน้อยลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากขึ้น

ที่มาภาพ : oecdedutoday.com

แต่ก็ยังมีคำถามต่อไปว่า การลงมือทำครั้งนี้จะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาวหรือไม่ หากมีวัคซีนออกมาแล้ว การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังเป็นตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านระบบการศึกษาที่ยิ่งใหญ่นี้ได้อีกหรือไม่ 

คำถามดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการถอดบทเรียนการดำเนินงานด้านการศึกษาในช่วงโควิด-19 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาในอนาคตนับจากนี้

 

โควิด-19 ทำให้มุมมองต่อการศึกษาของเราเปลี่ยนไป

การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นให้เราขบคิดหลายประเด็น ในอดีตเคยมีการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรามองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยี ที่ไม่ได้เข้ามาแทนแนวทางปฏิบัติเดิม แต่เป็นการพลิกโฉมวงการการศึกษา เทคโนโลยีด้านการศึกษาช่วยตอกย้ำแนวคิดที่ว่า การเรียนรู้ไม่ใช่ประสบการณ์ในเชิงซื้อขายแลกเปลี่ยน แต่เป็นประสบการณ์เชิงสังคมและความสัมพันธ์ และการประเมินนั้นจะต้องใช้เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงนักเรียนและระบบ แทนที่จะทำหน้าที่คัดกรองข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียว

แนวคิดที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นท่ามกลางความยากลำบากที่ต้องเผชิญในปีนี้ จึงนับเป็นปีที่นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญจะได้เริ่มสร้างแผนภูมิเส้นทางไปสู่ ‘ภาวะปกติใหม่’ ที่ดีกว่าเดิม

 

การปรับเปลี่ยนความคิด นำไปสู่การลงมือทำ

OECD’s Education Policy Outlook ได้สำรวจความคิดริเริ่มเกี่ยวกับนโยบายการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 โดยตั้งแต่เริ่มระบาดจนถึงเดือนกันยายนปี 2020 แม้นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษากว่าครึ่งหนึ่งของประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจจะได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนตามปกติแล้ว แต่นักเรียนระดับมัธยมปลายก็ยังคงเรียนรู้ทางไกลในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น

ช่วงสิ้นปีท่ามกลางการแพร่ระบาดระลอกใหม่ OECD ได้นำแนวทางการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดกลับมาใช้อีกครั้ง โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็กปฐมวัย และใช้การเรียนรู้แบบผสมผสานสำหรับเด็กนักเรียนที่อายุมากกว่า

ครูผู้สอนต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนทุกคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีการริเริ่มวางแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักการศึกษาในการสอนทางไกลและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและกฎระเบียบสำหรับการศึกษาทางไกลในอนาคต

 

เปลี่ยนลำดับความสำคัญเพื่อการเสริมความเข้มแข็งในการเรียนรู้

การถ่ายทอดความรู้ด้วยวิธีการผสมผสานเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ต่อไป ดังนั้น แนวทางปฏิบัติคือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยขับเคลื่อนจากการตอบสนองต่อภาวะวิกฤตไปเป็นสู่การเป็นหัวใจสำคัญของระบบวิธีคิดใหม่

Andreas Schleicher ระบุว่า ได้มีการวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติในระบบการศึกษา 43 ระบบ ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงหลังจบมัธยมศึกษา โดยผลการวิเคราะห์เผยให้เห็นประเด็นสำคัญบางอย่างในการตอบสนองเชิงนโยบาย เช่น การเสริมสร้างขีดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา และการสร้างความมั่นใจว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการเรียนรู้ โดยการส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าวก็มีความท้าทายที่เกิดขึ้นเช่นกัน แม้ความพยายามในการปรับเปลี่ยนแนวทางการสอนในระดับโรงเรียนจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่การสนับสนุนของรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในระดับอาชีวะและอุดมศึกษากลับขาดความชัดเจน

Andreas Schleicher เสนอให้ภาคนโยบายด้านการศึกษาต้องพิจารณาถึงแนวทางที่จะประนีประนอมความพยายามในการเปลี่ยนแปลงหลักการปฏิบัติ โดยไม่ละเลยการปกป้องความสุขในการทำงานของครูอาจารย์ผู้สอน เพื่อรักษาบุคลากรที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดการศึกษาแบบใหม่เอาไว้

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลนานาประเทศจะมุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา แต่กลุ่มเป้าหมายก็มักต้องเผชิญกับปัญหาในอีกหลายมิติ จึงต้องอาศัยความพยายามในการช่วยเหลือและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากแนวทางการกู้วิกฤตเฉพาะหน้าในปัจจุบัน 

ที่มาภาพ : unsplash-Kelly Sikkema

Education Policy Outlook รายงานฉบับล่าสุดของ OECD (Lessons from COVID-19 : A Policy maker’s handbook) มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพยายามเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวถึงนโยบายที่สามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงในด้านการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ทักษะของนักการศึกษา และความเท่าเทียมกันของนักเรียน

ตัวอย่างของแนวทางเชิงนโยบายข้างต้นที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ได้แก่ นโยบายตอบสนองต่อโควิด-19 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ตลอดจนข้อมูลเชิงลึกจากนโยบายก่อนวิกฤตที่มีผลกระทบ ซึ่งหนังสือคู่มือเล่มนี้จะสนับสนุนให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายสามารถรักษาแรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างแนวคิดใหม่ที่เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่

Andreas Schleicher กล่าวปิดท้ายว่า แม้สิ่งที่เราทุกคนได้สัมผัสในปีนี้คือการเว้นระยะห่างทางสังคมที่ทำให้เราต้องอยู่ห่างไกลกัน แต่ปี 2020 ก็ได้หลอมรวมสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้ความเข้าใจร่วมกันอันดีถึงหนทางที่จะพัฒนาแวดวงการศึกษาให้ดีขึ้นได้ และขณะนี้เราทุกคนจะก้าวต่อไปตามเส้นทางดังกล่าว เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและยั่งยืน

 

ติดตามรายงานฉบับเต็ม Education Policy Outlook รายงานฉบับล่าสุดของ OECD ได้ที่ : https://www.oecd-ilibrary.org/education/lessons-for-education-from-covid-19_0a530888-en
หรือติดตามบทความสรุป “รายงานฉบับล่าสุดของ OECD” จาก กสศ. ได้เร็วๆ นี้

ที่มา :