เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต จัดกิจกรรมคัดกรองสายตานักเรียนในโครงการทัศนมาตรศาสตร์เคลื่อนที่ ภายใต้ความร่วมมือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสุพรรณบุรี, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 5 ราชบุรี, องค์การบริหารส่วนตำบลสองพี่น้อง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากมากกว่า 50 โรงเรียนในอำเภอสองพี่น้องและพื้นที่ใกล้เคียง กว่า 300 คนเข้ารับการตรวจคัดกรองสายตาที่โรงเรียนบางลี่วิทยา อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
จากความพยายามของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการให้บริการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านการตรวจสายตาและแว่นตาสำหรับเด็กอายุ 3-12 ปี ที่ได้รับการตรวจพบปัญหาสายตา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถตรวจซ้ำเพื่อรับแว่นใหม่ทุกปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กสศ. โดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ร่วมมือกับ สปสช. และสมาคมทัศนมาตรแห่งประเทศไทย จัดโครงการ I SEE THE FUTURE เพื่อสร้างกลไกท้องถิ่นในการให้เด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองและรักษาปัญหาสายตา เพื่อให้เด็กได้รับแว่นสายตาที่เหมาะสมและได้รับการรักษาทันเวลา ซึ่งในโครงการนี้ได้เริ่มต้นจากการลงพื้นที่ในจังหวัดต้นแบบ
กิจกรรมคัดกรองสายตาครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการนำระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ หรือ OBEC CARE มาใช้ในการคัดกรองสายตาเด็ก โดย OBEC CARE เป็นระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดเก็บข้อมูลนักเรียนและคัดกรองความเสี่ยงในทุกมิติ ซึ่งสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผลเพื่อช่วยในการพัฒนาและดูแลนักเรียนได้อย่างตรงจุด ทั้งในระดับบุคคล ชั้นเรียน โรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษา
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ระบบ OBEC CARE ได้เชื่อมโยงข้อมูลการสำรวจเด็กกลุ่มเสี่ยงและนำมาสู่การตรวจคัดกรองสายตา เพื่อให้เด็กที่มีความเสี่ยงได้เข้ารับการตรวจ และได้รับแว่นตาที่เหมาะสม หรือส่งต่อเพื่อรักษาต่อไป โดยเป็นการสร้างกลไกที่ช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพได้อย่างเท่าเทียมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นายวชิระ ขวัญเพชร ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า บริการตรวจคัดกรองสายตาเบื้องต้นเคลื่อนที่ในครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากโรงเรียนในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้สามารถตรวจคัดกรองนักเรียนได้กว่า 500 คน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนจากครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งถือเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ประสิทธิภาพของระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ ‘OBEC CARE’ ที่โรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีได้ดำเนินการอยู่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองและติดตามสุขภาพสายตาของนักเรียนในพื้นที่ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลที่เหมาะสมและทันท่วงที
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในปัญหาการเรียนรู้นั้นมีสาเหตุมาจากความบกพร่องทางสายตา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับการให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ ดังนั้นการเกิดขึ้นของกิจกรรมนี้ จึงแสดงถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและหน่วยงานสาธารณสุข ที่จะช่วยให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงสิทธิ์บริการพื้นฐานอย่างเสมอภาคยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าผลที่จะตามมาคือโอกาสของเด็กทั้งในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่จะเพิ่มขึ้นตามกัน
อย่างที่ผ่านมาเด็กบางคนเราไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขามีปัญหาทางสายตา แต่เมื่อมีระบบจัดเก็บข้อมูลและมีโครงการเกิดขึ้น หลายฝ่ายโดยเฉพาะครู โรงเรียน และผู้ปกครองจึงเริ่มตระหนัก และทำความเข้าใจว่าถ้าเด็กมีปัญหาสายตา การเรียนรู้จะลดทอนประสิทธิภาพลงมาก ทุกฝ่ายจึงต้องให้ความสำคัญกับการสังเกตความผิดปกติ เพื่อสามารถนำเด็กเข้าสู่การตรวจคัดกรอง และช่วยให้ปัญหาได้รับการแก้ไขทันท่วงที
ส่วนในบทบาทของเขตพื้นที่ก็จะเป็นผู้ประสานเพื่อให้เกิดการรับรู้ที่ขยายออกไปมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ทั่วถึงเด็กทุกคน เนื่องจากการทำงานในระดับเขตพื้นที่ที่มีอยู่ 345 เขต ย่อมได้ผลที่ดีและทั่วถึงกว่าการติดต่อสื่อสารในระดับโรงเรียนซึ่งมีอยู่มากกว่า 20,000 แห่ง”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อการทำงานของทุกภาคส่วน กสศ. ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการทำให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสมากขึ้น และไม่ใช่แค่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ความร่วมมือนี้จะเป็นต้นแบบของการทำงานที่จะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป โดยภาพในวันนี้ทำให้เห็นว่าเมื่อหลายหน่วยงานที่ไม่จำเป็นต้องทำงานด้านการศึกษาทั้งหมดพร้อมใจกันร่วมมือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็สามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งใกล้ตัวของเด็ก รวมถึงบางเรื่องที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยตรง เช่น ปัญหาด้านสายตาและการมองเห็น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็กทุกคน
“ถ้าเด็กทุกคนมีแว่นที่เหมาะสมกับค่าสายตา การมองเห็นจะชัดขึ้น การเรียนรู้ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงภาพอนาคตที่คมชัด และเป็นหลักประกันว่าเด็กจะอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้ได้ในระยะยาว”
ดร.ไกรยส ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลบ่งชี้ว่าในจังหวัดสุพรรณบุรีมีนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับราว 70,000 คน โดยมีเด็กจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยประมาณ 8,000 คน และมีเด็กที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษาอีกประมาณ 8,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. กำลังทำงานด้วย ทั้งนี้ จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหนึ่งใน 29 เขตพื้นที่การศึกษาที่ใช้ระบบ OBEC CARE โดยมีโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษารวม 162 โรงเรียน และมีนักเรียนที่มีข้อมูลในระบบมากกว่า 50,000 คน ซึ่งหมายถึงการเพิ่มโอกาสในการดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงในทุกมิติ และช่วยแก้ปัญหาได้ก่อนที่เด็กจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
นอกจากบริการตรวจคัดกรองสายตาจากคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว กิจกรรมครั้งนี้ยังได้รับความสนใจจากตัวแทนจาก มหาวิทยาลัยชิคาโก (The University of Chicago) ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำวิจัยเรื่องการคัดกรองสายตาในหลายประเทศทั่วโลก โดยได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทำงานวิจัยร่วมกับ กสศ. และแสดงความสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบวิธีการและแนวทางการคัดกรองและแก้ไขปัญหาสายตาและการมองเห็นของเด็กไทยในอนาคต
อาจารย์วรรธนัย ปิ่นทอง รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จุดประสงค์หลักของโครงการทัศนมาตรศาสตร์เคลื่อนที่ คือการตรวจคัดกรองสายตา ซึ่งครอบคลุมถึงการดูแลสุขภาพดวงตาทั้งหมด เนื่องจากปัญหาการมองเห็นไม่ได้เกิดจากแค่สายตาสั้นหรือยาวเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโรคตาและกล้ามเนื้อตา ซึ่งอาจส่งผลต่อการมองเห็นได้
“โครงการนี้เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยรังสิตทำเป็นประจำทุกปี ผ่านโครงการ ทัศนมาตรศาสตร์เคลื่อนที่ โดยนักศึกษาจากหลักสูตรปริญญาตรี ทัศนมาตรศาสตร์บัณฑิต และโครงการ Eyes Screening โดยหลักสูตรปริญญาโท ทัศนมาตรคลินิก โดยมีเป้าหมายให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางวิชาชีพออกมาปฏิบัติจริงเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม การบริการตรวจคัดกรองสายตาจะได้รับการดำเนินการโดยนักศึกษาแพทย์และจักษุแพทย์ พร้อมทั้งการแจกแว่นที่เหมาะสมกับค่าสายตาของแต่ละคน”
อาจารย์วรรธนัย กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่พบว่ามีโรคตาหรืออาการอื่น ๆ ที่อาจแฝงอยู่ นักศึกษาจะทำการส่งต่อให้เด็กได้รับการรักษาต่อในโรงพยาบาลตามสิทธิ์ที่มี ซึ่งถือเป็นการทำให้ปัญหาสายตาของเด็ก ๆ ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด นอกจากนี้ กิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่ได้ทำร่วมกับ กสศ. ในฐานะหน่วยงานที่ประสานข้อมูลและชี้เป้าให้กับกลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ
“การร่วมมือในครั้งนี้ทำให้โครงการสามารถขยายผลไปสู่เด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง และถือเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการแก้ปัญหาสายตา เมื่อเด็ก ๆ ที่ได้รับการตรวจคัดกรอง ได้รับแว่น และได้รับการรักษาความผิดปกติทางสายตาอย่างตรงจุด ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของพวกเขาได้มากขึ้นในอนาคต”
นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวถึงการใช้ระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ OBEC CARE มาเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดกรองสายตาเด็กว่า กสศ. ได้พัฒนา OBEC CARE ร่วมกับ สพฐ. ให้เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลความเสี่ยงต่าง ๆ ของเด็กเป็นรายบุคคล โดยปัญหาสายตาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่กระทบต่อการเรียนรู้และอาจส่งผลให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้
“ข้อเท็จจริงคือถ้าเด็กมองเห็นไม่ชัด การเรียนรู้ก็จะยากขึ้น เด็กหลายคนเมื่อเรียนไม่เข้าใจ ผลลัพธ์ก็จะออกมาไม่ดี แต่ครูและผู้ปกครองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนสุดท้ายบางคนอาจต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. อธิบายต่อว่า การใช้ระบบ OBEC CARE ที่สามารถสะท้อนข้อมูลความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ เช่น สุขภาพกาย สุขภาพจิต พฤติกรรม และปัจจัยอื่น ๆ รอบตัว จะช่วยให้สามารถระบุสาเหตุของปัญหาได้อย่างตรงจุด และช่วยชี้เป้าในการดูแลเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหากทุกโรงเรียนสามารถขยับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ครอบคลุมถึงเครือข่ายในระดับพื้นที่ เช่น หน่วยงานด้านสาธารณสุข พัฒนาสังคม หรือสถาบันการศึกษา จะทำให้การช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรอบด้าน
“สำหรับงานครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ กสศ. ได้นำข้อมูลจาก OBEC CARE มาช่วยประสานงานกับคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีศักยภาพในการคัดกรองความเสี่ยงด้านสายตา มาลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งทำให้เราสามารถใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและนำคณะทำงานมาพบกับเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือได้ตรงเป้า”
ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวต่อไปว่า กิจกรรมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเก็บข้อมูลเด็กรายบุคคลผ่านระบบสารสนเทศ โดยข้อมูลที่เก็บผ่านครูในโรงเรียนเกี่ยวกับความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ของเด็ก ไม่เพียงช่วยสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา แต่ยังเป็นหลักประกันโอกาสให้เด็กทุกคนเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่ควรได้รับ และยังเป็นต้นแบบของความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายทำงานด้านการศึกษาระดับพื้นที่
“ระบบ OBEC CARE ไม่ได้มีผลแค่ต่อการดูแลเด็กทุนเสมอภาคของ กสศ. หรือทุนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นระบบที่ช่วยตรวจจับความเสี่ยงในทุกด้านของเด็กในโรงเรียน เช่น กรณีนี้ที่เด็กบางคนมีปัญหาสายตาแต่ครอบครัวไม่รู้มาก่อน ข้อมูลที่บันทึกผ่าน OBEC CARE ก็ช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการสังเกตและตรวจพบได้เร็วขึ้น”
นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ยังอาจเป็นต้นแบบในการจัดสรรสิทธิประโยชน์ให้กับเด็กทั่วประเทศ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองและการตัดแว่น ซึ่ง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้สิทธิ์บริการนี้ฟรีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้หรือเข้าไม่ถึงสิทธิ์ หรือแม้แต่ผู้ที่รู้ก็ไม่ทราบว่าจะเข้าถึงสิทธิ์ได้อย่างไร ต้องไปที่ไหน และมีขั้นตอนอย่างไร
“การทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียน ผ่าน OBEC CARE ทำให้เห็นแล้วว่าสามารถสื่อสารข้อมูลและชี้เป้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้เด็กและผู้ปกครองเข้าถึงสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับได้ดีขึ้น”