เด็กทุกคนต้องได้เรียนต่อ กสศ. ศธ. ตชด. อปท. สช. สร้างกลไกช่วยเหลือและติดตามนักเรียน ในช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 และ ม.3 ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียน ภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยในเวทีเสวนา “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน” ซึ่งจัดขึ้นโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ ว่าในปีการศึกษา 2563-2564 พบมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากถึง 238,000 คน จึงได้ร่วมกับทุกภาคส่วนเดินหน้าติดตามพาน้องกลับมาเรียน ส่งผลให้ปัจจุบันเหลือเพียง 17,000 คนเท่านั้นที่ยังตามกลับเข้ามาไม่ได้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งศูนย์ประสานงานตามน้องกลับมาเรียน ติดตามเด็กกลุ่มนี้ให้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
“การตามนักเรียนให้กลับมาถือว่ายากแล้ว แต่ที่สำคัญกว่าคือทำอย่างไรไม่ให้ต้องหลุดออกไปอีกครั้ง เพราะปัญหาของเด็กที่มีความซับซ้อนมากกว่าแค่ 1 เรื่อง จึงมองแต่ตัวเด็กไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผู้ปกครองด้วย ทั้งเรื่องของปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จทุกหน่วยงาน ทั้ง กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ จะต้องร่วมกันดูแลอย่างเป็นระบบไปจนถึงตัวผู้ปกครอง ซึ่งโรงเรียนเองก็จะเป็นหัวใจหลักในการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่”
ในเวทีเสวนา ยังได้ยกกรณีตัวอย่างกลไกการช่วยเหลือ “น้องนนท์” (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.1 อายุ 14 ปี ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชนสองภาษา มีผลการเรียนระดับดีมาก จากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ครอบครัวเกิดปัญหาความยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม จึง ทำให้ “น้องนนท์” ไม่มีสิทธิสอบ ไม่มีสิทธิเข้าเรียน จนในที่สุดต้องหลุดจากระบบไป 1 ปีการศึกษา เปิดเทอมปีการศึกษา 2565 มาหนึ่งเดือนแล้วยังไม่ได้กลับไปเรียน
นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เปิดเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาและนำ “น้องนนท์” กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการใช้ “ไทรน้อยโมเดล” โดยทำงานร่วมกันกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติทางการศึกษา กสศ. ด้วยแนวทางรับเด็กเข้าเรียนทันที แม้จะเปิดเทอมมาแล้วกว่า 1 เดือน เพราะเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันที่ยิ่งทำให้เด็กเสียโอกาส ปัญหาที่โรงเรียนเก่าค่อยมาหาทางแก้ไขกันทีหลัง ขอให้เด็กได้กลับมาเรียนก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายรายหัว ค่าหนังสือ และอื่นๆ ทางโรงเรียนไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้ เพราะสามารถนำไปเฉลี่ยกับเด็กทั้งหมดได้
“ไทรน้อยโมเดล เป็นระบบการดูแลช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหา โดยไม่ใช่แค่การพาเด็กกลับเข้าระบบมาแล้วส่งเข้าห้องเรียนแค่นั้น แต่จะมีการสำรวจความพร้อม และความต้องการของเด็กหลังจากหยุดเรียนไป 1 ปี และจัดทำโปรแกรมการฟื้นฟูทุกด้าน โดยความร่วมมือของทุกฝ่ายในโรงเรียน และมีการประสานนักจิตวิทยาเข้ามาดูแลเพราะการหยุดเรียนไปนานส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจพอสมควร ซึ่งโรงเรียนของเรามีความเชื่อว่าเมื่อเด็กอยากเรียนแล้วเขาก็จะมีพลังบวกในตัวเอง โดยตอนนี้ น้องนนท์ได้กลับมาเข้าเรียนต่อในระดับ ม.2 แล้ว”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยว่า การพาน้องกลับมาโรงเรียนได้ จะได้รับการดูแลและสวัสดิการต่างๆ ที่รออยู่ที่โรงเรียน เช่น ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ทุนเสมอภาค นมโรงเรียน อาหารกลางวัน ซึ่งครอบครัวก็ได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหมายมากกว่าการไปเรียนหนังสือ ดังนั้นการพาเด็กกลับมาได้นับแสนคนจึงถือว่าเป็นคุณูปการต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคม ซึ่งช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระยะยาว
กสศ. ร่วมกับโรงเรียน 17,432 แห่ง 4 สังกัด (สพฐ. ตชด. อปท. สช.) ซึ่งเป็นโรงเรียนเดิมที่นักเรียนยากจนพิเศษ ช่วงชั้นรอยต่อ เคยศึกษาในภาคเรียนที่ 2 /2564 เพื่อติดตามสถานะการศึกษาต่อของนักเรียน และให้กลับมารับทุนการศึกษาลมหายเพื่อน้องที่โรงเรียน เนื่องจากคุณครูมีประสบการณ์ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ติดตามนักเรียนกลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดเทอมยังมีเด็กจำนวนมากที่ไปไม่ถึงโรงเรียน หนึ่งในปัญหาที่สำคัญคือปัญหาความยากจนเฉียบพลัน โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่าเด็กนักเรียนใน กทม.ผู้ปกครองจะมีค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมประมาณ 37,000 บาทต่อคน ต่างจังหวัดจะอยู่ที่ 17,800 บาทต่อคน ดังนั้นถ้าเราไม่ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ปกครอง โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะได้ไปต่อก็ยากขึ้น และยังพบว่าเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดสูงนั้นจะมีปัญหามากกว่า 1 เรื่องทั้งเศรษฐกิจ ครอบครัว การหย่าร้าง และสุขภาพ โดยตัวอย่างการทำงานในหลายพื้นที่ของโครงการพาน้องกลับมาเรียนในวันนี้ทำให้เห็นว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่หลังจากนี้จะต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดซ้ำ เพราะตอนนี้เราดึงกลับมาได้แล้วกว่า 2 แสนคน ต้องหาทางประคับประคองไม่ให้กลุ่มนี้หลุดซ้ำ สิ่งที่ช่วยได้ก็คือเรื่องของทุน การมีงานทำ และการมีครูที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤติ
“ทุกปัญหาในครอบครัวทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การมีงานทำ ปัญหาสังคม ผลกระทบทุกอย่างจะตกไปอยู่ที่ตัวเด็กทั้งหมด ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนที่ต้องมีการกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันในการดูแล และในภาวะแบบนี้ควรจะต้องพลิกมุมมองจากการดูแลเด็กจากเด็กเก่งและดี เป็นดูให้เด็กรอด และต้องบูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวงในทุกๆ พื้นที่ โดย กสศ.จะทำหน้าที่ป้องกันให้พ้นวิกฤติ แล้วส่งต่อให้จังหวัดดูแลต่อในระยะยาว”
“โครงการพาน้องกลับมาเรียน” เป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ 14 องค์กร และเอกชน เพื่อสร้างกลไกการค้นหาและติดตามเด็กที่ประสบปัญหาความยากจน พิการซ้ำซ้อน ไม่มีค่าเดินทาง ต้องเสียสละให้น้องเรียน ไม่ได้จ่ายค่าเทอม ไม่มีวุฒิไปเรียนต่อ จนทำให้หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยการร่วมกันพาน้องกลับโรงเรียน โดยมีบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมสมทบเงินบริจาค 150 ล้านบาท จากโครงการลมหายใจเพื่อน้อง เพื่อช่วยนักเรียนช่วงชั้นรอยรอยต่อที่หลุดนอกระบบ