กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. รับมอบทุนสนับสนุนการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล จากการระดมทุนผ่านกิจกรรม ‘ACMA RUN 2024’ โดย สมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน (สวตท.) หรือ Association of Capital Market Academy (ACMA)
กิจกรรม ‘ACMA RUN 2024’ เป็นความตั้งใจของสมาคมนักศึกษาสถาบันวิทยาการตลาดทุน ซึ่งร่วมเรียนหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของ ‘สถาบันวิทยาการตลาดทุน’ หรือ วตท. ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรภาครัฐ เอกชน มีการสร้างเครือข่ายผู้บริหารองค์กรที่มีปลายทางคือการพัฒนาประเทศเป็นองค์รวมอย่างยั่งยืน ในนาม ‘สมาคมสถาบันวิทยาการตลาดทุน’ หรือ สวตท. มีกิจกรรมสานสัมพันธ์ต่อเนื่องของผู้เข้าร่วมหลักสูตรบนฐานของการ ‘ระดมความร่วมมือ’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมในแง่มุมต่าง ๆ โดย ACMA RUN 2024 ฝ่ายกิจกรรม Health & Wellness & Mindfulness สวตท. ได้เชิญชวนชาว สวตท. ร่วมวิ่งในรูปแบบ Virtual Run เพื่อนำระยะทางสะสมมาเปลี่ยนเป็น ‘ทุนการศึกษา’ และผู้เข้าร่วมยังสามารถระดมทุนส่วนตัวสมทบ เพื่อนำไปมอบเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี โดย กสศ.
คุณสินีนุช โกกนุทาภรณ์ ประธานฝ่ายกิจกรรม Health & Wellness & Mindfulness สวตท. กล่าวว่า สมาชิก สวตท. เห็นตรงกันว่าการสนับสนุนด้านการศึกษา เป็นการสร้างโอกาส สร้างอนาคต ซึ่งคือการทำประโยชน์ที่ให้ผลลัพธ์ต่อเนื่องในหลายมิติและไม่สิ้นสุด ประการแรกคือโอกาสที่เด็กคนหนึ่งจะได้ศึกษาต่อ มีโอกาสเติบโตในเส้นทางอาชีพ และใช้วุฒิการศึกษาไปต่อยอดยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัว ประการที่สองคือการสร้างคนสายอาชีพที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในสายงานสาธารณสุขไม่ว่าผู้ช่วยพยาบาลหรือผู้ช่วยทันตแพทย์ที่ตลาดแรงงานยังขาดแคลนบุคลากรอยู่มาก ฉะนั้นเมื่อเยาวชนเหล่านี้เรียนจบเขาจะเข้าไปเติมเต็มระบบได้ทันที โดยเฉพาะจะมีคนที่นำความรู้ความสามารถกลับไปยังชุมชนบ้านเกิด กลายเป็นหนึ่งกำลังสำคัญของการพัฒนางานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ของตนต่อไป
“สำหรับยอดบริจาค ตั้งไว้ก่อนเริ่มกิจกรรมอยู่ที่ 500,000 บาท แต่เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมทาง ACMA สามารถรวบรวมมูลค่าเงินรางวัลได้ 675,005 บาท ซึ่ง สวตท. ตั้งใจส่งมอบให้ กสศ. เต็มจำนวน พร้อมสมทบเงินที่ระดมผ่านความตั้งใจส่วนตัวของผู้เข้าร่วมอีก 322,000 บาท ในจำนวนนี้มีท่านหนึ่งบริจาคส่วนตัวเป็นเงิน 168,000 บาท หรือเท่ากับ 1 ทุนการศึกษาสำหรับการเรียนในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี จึงมียอดบริจาครวมทั้งหมดอยู่ที่ 997,005 บาท และก่อนปิดงานมีการบริจาคเพิ่มเติมจากสมาชิกจนยอดรวมครบจำนวนเต็มที่ 1,000,000 บาท” คุณสินีนุช กล่าว
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล (ทุน 1 ปี) มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาของเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาส โดยปัจจุบันมีนักศึกษาทุนสะสมราว 1,360 คน แบ่งเป็นจบการศึกษาแล้ว 730 คน และอยู่ในระหว่างการศึกษา 620 คน ในสถานศึกษาสายอาชีพ 160 แห่งจากทุกสังกัด กระจายใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้จุดมุ่งหมายสำคัญของทุนคือการ ‘สร้างโอกาสทางการศึกษา’ เพื่อสร้างบุคลากรในสายงานสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่จบการศึกษาสูงกว่าชั้นมัธยมปลาย และมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนรุ่นนพ่อแม่ราว 4 เท่า
“เยาวชนที่ได้รับทุนเป็นภาพของความหวังว่า หากความเสมอภาคทางการศึกษาสามารถกระจายไปถึงผู้ขาดแคลนโอกาสได้มากขึ้น เราจะค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของคนกลุ่มหนึ่ง ที่จะพาตัวเองและครอบครัวออกจากวงจรความยากจนได้สำเร็จในรุ่นของเขา และไม่เพียงเท่านั้น เราจะได้เห็นว่า วุฒิการศึกษาที่สูงกว่าระดับขั้นพื้นฐาน นอกจากจะเป็นใบเบิกทางสู่การประกอบอาชีพแล้ว ยังมีสถานะเป็นเหมือนหลักประกันในชีวิต ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงและการเติบโตในอาชีพอีกด้วย
“ดังนั้นเราสามารถบอกได้ว่า การให้โอกาสทางการศึกษา คือการกระทำไม่กี่สิ่งที่จะส่งผลต่อเนื่องเป็นอนันต์ไปสู่อนาคต และสำหรับ ACMA Run 2024 ที่เพิ่งจบลง ทุก ๆ ก้าววิ่งหรือทุก ๆ กิโลเมตรที่ชาว สวตท. ทำได้ จึงหมายถึงการเปลี่ยนอนาคตของเยาวชนคนหนึ่งด้วยโอกาสทางการศึกษา และนอกจากนั้นยังเป็นความเชื่อมั่นว่า เราจะมีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นพร้อมรองรับการทำงานในสังคมไปอีกอย่างน้อยสามสิบปี หรือกล่าวได้ว่า ทุกก้าวที่เราร่วมกันวิ่งนั้นเปรียบได้กับ ‘ปรากฎการณ์ผีเสื้อขยับปีก’ หรือ Butterfly effect ที่จะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงไม่สิ้นสุด”
ผู้จัดการ กสศ. ได้นำผลความสำเร็จเรื่องการศึกษาเปลี่ยนชีวิต นำเสนอต่อ สวตท. โดยยกตัวอย่าง ดังนี้
คนแรกคือ ‘ดาว’ นันทิดา จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่กลับไปทำงานในจังหวัดภูมิลำเนาด้วยตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล แผนกไตเทียม ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก ดาวบอกว่า ทุนที่ได้รับช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้มาก ส่วนปัจจุบันเมื่อมีวุฒิและได้กลับมาทำงานที่บ้านเกิด เธอรู้สึกภูมิใจเป็นสองเท่าเมื่อสามารถดูแลได้ทั้งครอบครัว และยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพัฒนางานด้านสาธารณสุขในท้องถิ่นไปด้วย
คนต่อมาคือ ‘น้ำตาล’ พิมพิศา จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปัจจุบันทำงานที่โรงพยาบาลพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ ในแผนก OPD อายุรกรรม น้ำตาลเล่าว่าการได้รับทุนจนเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษา คือจุดเปลี่ยนที่พามาสู่เส้นทางอาชีพที่มั่นคง ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานที่มีคุณค่า นอกจากนี้ยังมีโอกาสสะสมเงินจากการทำงานเพื่อดูแลครอบครัว ปลดหนี้สิน และยังสามารถส่งต่อโอกาสให้หลานได้เรียนต่อ ไม่ต้องเสี่ยงว่าจะหลุดไปจากระบบการศึกษากลางทาง
และอีกคนหนึ่งคือ ‘ซี’ แวรอซีกีน จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เป็นผู้ช่วยพยาบาล แผนกไตเทียม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อินเตอร์เนชั่นแนล จากที่เคยคิดว่าคงไม่ได้เรียนต่อ แต่เมื่อได้รับทุนและสำเร็จการศึกษา ซีสามารถนำความรู้ความสามารถไปทำงานที่มีรายได้มากพอจะดูแลคนทั้งครอบครัว โดยเฉพาะการสนับสนุนน้อง ๆ ให้มีโอกาสเรียน ซึ่งซีหวังว่าน้อง ๆ จะได้เรียนจบการศึกษาในระดับที่สูงที่สุดเต็มตามศักยภาพ เพราะเธอเห็นแล้วว่าการศึกษานั้นสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนได้จริง