เมื่อวันที่ 14-16 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ Creative Culture and Education (CCE) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศในสหราชอาณาจักร จัดเสวนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง ‘นวัตกรรมการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้’ (International Seminar on Pupil Outcomes Assessments) โดยมีนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผลจากหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development), IEA (International Association for the Evaluation of Educational Achievement), ACER (Australian Council for Educational Research), สำนักทดสอบทางการศึกษา (สพฐ.), สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์กว่า 1,700 คน
การเสวนาครั้งนี้ เน้นย้ำถึงแนวทางการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ ความสำคัญของการประเมินผล การพัฒนาเครื่องมือวัดประเมินผลสำหรับโรงเรียน การประเมินผลด้านความคิดสร้างสรรค์ และเปรียบเทียบรูปแบบการประเมินผลของไทยกับอาเซียน โดยให้ความสำคัญถึงการวัดความสำเร็จของผู้เรียนที่นอกเหนือไปจากการวัดความรู้ ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณค่า ทัศนคติ การคิดวิเคราะห์ ทักษะการบริหารจัดการตน ทักษะทางอารมณ์และสังคม และการประเมินผลการเรียนควบคู่กันไป เป็นต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเรียนการสอนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพการสอน อันเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพของระบบการศึกษาทั้งระบบ สู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับวิทยากรในวันแรก ประกอบด้วย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ., ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ., ดร.ชนาธิป ทุ้ยแป รักษาการผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.), คุณณัฐวุฒิ เพิ่มจิตร นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ส่วนวิทยากรจากต่างประเทศ ได้แก่ Prof. Ricardo Rosas Director of Center for the Development of Inclusion Technologies (CEDETI), Pontificia Universidad Catolica de Chile, Alejandro S. Ibañez SEA-PLM Project Manager / Policy and Programme Specialist, Antoine Marivin SEA-PLM Senior Project Manager, SEA-PLM Secretariat / UNICEF East Asia and Pacific Regional Office (EAPRO) และ Prof. Todd Lubart Professor of Psychology at Université de Paris Cité and President of the International Society for the Study of Creativity and Innovation (ISSCI)
การวัดประเมินผลผู้เรียน นับเป็นเครื่องมือที่ชี้ให้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในการพิสูจน์คุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความสำเร็จของผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงคุณภาพของการเรียนการสอนอีกด้วย
อย่างไรก็ดี การวัดประเมินผลผู้เรียนในปัจจุบันค่อนข้างให้น้ำหนักไปที่ผลคะแนนทางวิชาการ แต่อาจไม่ตอบโจทย์เป้าหมายความต้องการที่จะยกระดับระบบการศึกษาให้มีครบทั้งคุณภาพและความเสมอภาคที่ทุกคนเข้าถึงได้
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า การประเมินผลผู้เรียนจะวัดความสำเร็จใน 4 ด้านหลัก ๆ ด้วยกันคือ ค่านิยม (values) เจตคติ (attitude) ทักษะ (skills) และความรู้ (knowledge) ร่วมกับความสามารถในการบริหารจัดการ ทักษะการคิดเชิงบริหาร (executive functions) ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการบรรลุผลสำเร็จ
ศ.นพ.วิจารณ์ อธิบายว่า การวัดประเมินผลทางการศึกษา ไม่ได้วัดผลแค่เฉพาะผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังต้องวัดผลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หมายความว่านอกจากตัวผู้เรียนแล้ว ครูผู้สอน โรงเรียน และหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ต้องมีการวัดประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการศึกษาทั้งหมดมีคุณภาพอย่างแท้จริง ดังนั้น การที่นักเรียนมีผลการเรียนต่ำ ไม่ได้หมายความว่านักเรียนคนนั้นเรียนไม่ดีแต่เพียงอย่างเดียว หากยังหมายรวมถึงครูผู้สอน โรงเรียน และหลักสูตร ที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนด้วย
ทั้งนี้ ตามความเห็นของ ศ.นพ.วิจารณ์ ปัจจัยทั้ง 4 ด้านดังกล่าวต้องวัดให้ลึก กล่าวคือ การประเมิน ‘ค่านิยม’ ก็ต้องเข้าใจถึงคุณธรรม จริยธรรม ส่วน ‘เจตคติ’ คือการประเมินแนวคิดเชิงบวกในการปรับตัว การประเมิน ‘ทักษะ’ ต้องหมายรวมถึง soft skill และ hard skill และการวัด ‘ความรู้’ ต้องเป็นการวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหา ซึ่งปัจจุบันการวัดประเมินผลส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่ข้อสุดท้ายเป็นหลัก
นอกจากนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ ยังได้ยกตัวอย่างวงจรการเรียนรู้ของ Kolb ที่แวดวงการศึกษารู้จักกันดีอย่าง Kolb’s Experiential Learning Cycle หรือ Experiential Learning Model (ELM) ซึ่งเป็นวงจรการเรียนรู้ 4 ขั้นตอน เริ่มต้นตั้งเเต่การให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติ ฝึกการสะท้อนคิด ฝึกการสรุปหลักการและเหตุผลจนเกิดเป็นความรู้ใหม่ของตน เเละขั้นตอนสุดท้ายคือ ฝึกการนำเอาความรู้ใหม่ไปลองปฏิบัติซ้ำ ๆ บ่อย ๆ จนเกิดความชำนาญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน และพัฒนาไปสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning) ได้ในที่สุด
ทั้งนี้ ภายใต้บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ผู้เรียนจำเป็นต้องเปิดกว้าง มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การเรียนการสอน การประเมินผล รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการวัดจึงไม่อาจใช้รูปแบบเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันก็คือ ครูผู้สอนต้องมีความสามารถในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เครื่องมือในการประเมินผู้เรียน เพื่อหาแนวทางการสอนที่เหมาะสม และทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะทางอารมณ์และสังคม รวมถึงคุณธรรมและจริยธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
นอกจากการวัดประเมินผลด้วยข้อสอบที่มีการพัฒนาโจทย์ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ประมวลความรู้และหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมแล้ว ในเวทีเสวนายังได้นำเสนอนวัตกรรมที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินความรู้ของผู้เรียนและผู้สอน ขณะเดียวกันก็ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของการใช้แบบประเมินในลักษณะของเกมมาเป็นตัววัดประเมินผลผู้เรียนอีกทางหนึ่งด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ในงานเสวนายังได้เสนอแนวปฏิบัติในการประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีทั้งเครื่องมือ แนวทาง และตัวอย่างของการนำไปใช้ โดยการวัดความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจัดอันดับว่าใครดีกว่ากัน แต่เป็นการมองหาแนวทางการสอนที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน เพื่อดูว่าควรจะเสริมในส่วนไหน และเสริมอย่างไร โดยความคิดสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยทักษะหลายด้านประกอบกัน
ดร.ไกรยส ภัทรวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในฐานะกองทุนอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ กสศ. มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษา มีโอกาสและทางเลือกในการศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และใช้ข้อมูลด้านการศึกษาที่มีมาผลักดันเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาที่เสมอภาคเท่าเทียมทั่วหน้ากัน
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว การประเมินผลการเรียนรู้จึงเป็นหนึ่งในแนวทางและเครื่องมือในการทำงานของ กสศ. เพื่อบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษาเช่นกัน ซึ่งความเสมอภาคทางการศึกษาและระบบการศึกษาคุณภาพเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ความเสมอภาคทางการศึกษา หมายรวมถึงความเท่าเทียมของผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ กสศ. ยังคงต้องอาศัยการรับฟังคำแนะนำและประสบการณ์จากนานาประเทศ และภาคีเครือข่ายทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ทำให้ระบบการศึกษาของไทยทั้งระบบได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในความพยายามในการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาค
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า การเสวนาครั้งนี้นอกจากจะทำให้ตระหนักได้ว่า ประเทศไทยยังมีอุปสรรคด้านการศึกษาอีกมากที่ต้องเรียนรู้และเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างทางเลือกทางการศึกษาหลังจบการศึกษาหลักสูตรภาคบังคับ ซึ่งผลการศึกษาจากหลายประเทศบ่งชี้ว่า หากมีเครื่องมือในการประเมินผลที่รอบด้านก็จะช่วยผลักดันให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับความรู้และการพัฒนาทักษะตามศักยภาพได้อย่างเต็มที่
ที่ผ่านมา กสศ. มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับภาคีเครือข่ายและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อหาเครื่องมือในการเก็บข้อมูลและการประเมินผลการเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทยต่อไป รวมถึงเป็นแบบอย่างในการเสริมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับนานาประเทศต่อไปด้วย โดย กสศ. หวังว่าการเสวนาวิชาการนานาชาติในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายในการนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดด้านการศึกษาต่อไป