วันที่ 20 เมษายน 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนา ‘Learning City ร่วมก้าวไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้’ ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระดมความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อน ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างความเสมอภาคในระดับพื้นที่ กระจายอำนาจ สร้างการศึกษาที่มีทางเลือกหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่
เพราะเมืองแห่งการเรียนรู้คือรากฐานทางการศึกษา และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน เพื่อกลายเป็นเมืองแห่งความจริงที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ หากทุกคนมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. อธิบายว่า เมืองแห่งการเรียนรู้จะช่วยตอบโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันได้แก่ คุณภาพคน
“เรามีคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องการการเข้าถึงการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพ และโอกาสอีกจำนวนมาก นั่นคือวิธีการหนึ่งที่ กสศ. ทำมาโดยตลอด ส่วนเมืองแห่งการเรียนรู้ก็เป็นการทำงานอีกมุมหนึ่ง กล่าวคือเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่ช่วยสร้างโอกาสทางการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น”
นายพัฒนะพงษ์ เห็นว่า การสร้างและพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการสร้างคนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเห็นว่า เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นตัวเร่งให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม การสร้างระบบนิเวศขนาดใหญ่อย่างเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งจะทำได้ตามลำพัง กสศ. จึงให้ความสำคัญกับการมีภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนไปสู่สังคมที่มีความเสมอภาคได้จริง
เวที ‘Learning City ร่วมก้าวไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้’ ครั้งนี้ คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย เพราะการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือแม้แต่กลุ่มที่ยากจนพิเศษ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน
“กสศ. ต้องการแก้โจทย์เรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา หรือแม้แต่เด็กเยาวชนที่มีความยากจนพิเศษ แต่เครื่องมือเหล่าแก้ปัญหาเหล่านี้อยู่ในหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้นเครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ” ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าว
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ความเห็นว่า เมืองแห่งการเรียนรู้จะทำให้คนเข้าถึงการพัฒนาตัวเองได้ง่ายขึ้นและสะดวกมากขึ้น เมื่อเทียบกับการหาความรู้สมัยก่อนที่อาจจะต้องเริ่มจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย แต่เมืองแห่งการเรียนรู้จะใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายโอกาสให้คนเข้าถึงระบบการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
“การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องของการยกระดับประสิทธิภาพเมืองเพียงอย่างเดียว แต่คือการลดความเหลื่อมล้ำด้วย สองขานี้ต้องเดินคู่กัน”
เมื่อคนเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างสะดวก ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การเลื่อนระดับทางสังคม (social mobility) และการส่งต่อความยากจนข้ามรุ่นก็จะหมดไปในที่สุด
นายพัฒนะพงษ์ อธิบายเสริมว่า โจทย์ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีหลายมิติ บางมิติเกี่ยวพันกับเด็กปฐมวัย บางมิติเกี่ยวพันกับเด็กในระบบการศึกษา บางมิติเกี่ยวพันกับกลุ่มเปราะบางที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา หรือบางคนก็หลุดออกไปแล้ว และบางมิติก็เกี่ยวพันกับคนที่จบการศึกษาไปแล้ว แต่ยังต้องการเสริมทักษะทางอาชีพเพิ่มเติม
“เราใช้พื้นที่เป็นฐานในการทำงาน คือสร้างตัวแบบในแต่ละประเด็น ในแต่ละพื้นที่ขึ้นมา แล้วค่อยเชื่อมพื้นที่เหล่านี้เข้าด้วยกัน”
นายพัฒนะพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ปลายทางของการกระจายอำนาจด้านการศึกษา คือการทำให้แต่ละพื้นที่มีอิสระในการจัดการศึกษาหรือดูแลคนของตัวเอง แต่ ณ ปัจจุบัน การกระจายอำนาจทางการศึกษาในประเทศไทยยังไม่เกิดขึ้น ซึ่ง กสศ. ยังคงมุ่งมั่นทำงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่อไป
“เราเชื่อว่าถ้าเราได้ทดลองภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดแบบนี้ เมื่อถึงวันที่โอกาสเปิดหรือการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริง ความพยายามเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุนในการทำงานที่แข็งแรงขึ้น”
ในมุมของ กทม. ความท้าทายที่รองผู้ว่าฯ ศานนท์ มองเห็นคือ การจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับประชากรในเมือง เพื่อให้มองเห็นความต้องการที่แท้จริงของคนก่อน จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง
จุดแข็งของ กทม. คือการมีโรงเรียนในสังกัดจำนวนมาก โดยเปิดรับนักเรียนทุกกลุ่ม ไม่เว้นกระทั่งนักเรียนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มชายขอบ โรงเรียนจึงเป็นพื้นที่เริ่มต้นที่สำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมา กทม. มีการอุดหนุนอาหาร ชุดนักเรียน ตลอดจนการเรียนฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย รองผู้ว่าฯ ศานนท์ เห็นว่า สวัสดิการเบื้องต้นจากโรงเรียนเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปกครองของนักเรียนประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย
“โจทย์สำคัญอย่างหนึ่งคือการขยายผลในโรงเรียน ทำให้โรงเรียนเป็นที่ปลอดภัยของเด็ก และในอนาคตก็ควรจะต้องทำให้โรงเรียนเข้าถึงชุมชนมากขึ้น”
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ อธิบายว่า จุดแข็งของ กทม. คือการมีเครือข่ายมากมาย ซึ่ง กทม. ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ลงมือทำเป็นผู้ประสานงานที่ดี เพื่อให้ได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
“ข้อดีที่สุด คือ กทม. มีเครือข่ายที่เยอะมาก จึงสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ต้องรองบประมาณ ไม่ต้องแก้ระเบียบ เพียงแต่ต้องดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาเป็นจุดเปลี่ยนในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสให้ประชาชน” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
ท้ายที่สุด รองผู้ว่าฯ กทม. เห็นว่า การกระจายอำนาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี เพราะคนที่จะแก้ไขปัญหาได้ คือคนที่กำลังประสบปัญหานั้นอยู่ และควรได้รับการเสริมพลังเพื่อให้มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง หากแต่ละท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง ก็จะเกิดโมเดลแก้ปัญหาที่หลากหลายขึ้น เมืองแต่ละเมืองก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
“การกระจายอำนาจคือบันไดขั้นที่หนึ่ง บันไดขั้นที่สองคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ การเชื่อมโยงความสำเร็จจากที่อื่น เรียนรู้ระหว่างเมืองต่อเมือง ไม่จำเป็นที่ต้องสร้างสิ่งใหม่ เราอาจจะยืนบนไหล่ยักษ์ ไปร่วมมือกับคนที่เก่งแล้วก็ได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ วันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ถูกแก้ไขแล้วในสิงคโปร์ ยุโรป หรืออเมริกา สิ่งสำคัญก็คือการเรียนรู้ระหว่างกัน เพราะเมืองแห่งการเรียนรู้คือการสร้างเครือข่ายระหว่างเมือง”