6 หน่วยงานร่วมแสดงความยินดี “ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก” สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก 11 สถาบันผลิตครู เตรียมบรรจุ 285 โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลตุลาคมนี้

6 หน่วยงานร่วมแสดงความยินดี “ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก” สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก 11 สถาบันผลิตครู เตรียมบรรจุ 285 โรงเรียนพื้นที่ห่างไกลตุลาคมนี้

เมื่อวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ อาคาร Impact Forum เมืองทองธานี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรและเข็มสัญลักษณ์แก่นักศึกษาทุนโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ซึ่งสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจาก 11 สถาบันผลิตและพัฒนาครู รวมทั้งสิ้น 327 คน โดยมี ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนองค์กรหลักร่วมดำเนินโครงการ ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คุรุสภา และคณะกรรมการบริหาร กสศ. ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครูรัก(ษ์)ถิ่นสำเร็จการศึกษา

โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการนักเรียนทุนรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.บ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 มีแนวคิดเพื่อพั

ฒนาครูระบบปิดให้ตรงกับความต้องการของประเทศในสาขาที่ขาดแคลน คือ การศึกษาปฐมวัย และการประถมศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลหรือยากลำบาก การผลิต ‘ครูของชุมชน’ ที่มีใจรักในการเป็นครู รักถิ่นฐาน เป็นนักพัฒนาชุมชน โดยมีสัญญาผูกพันในการบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนปลายทางต่อเนื่องอย่างน้อย 6 ปี เพื่อลดอัตราการโยกย้าย และเป็นแนวทางการผลิตและพัฒนาครูระบบปิดของประเทศอย่างเป็นระบบ (Systems change)

นักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรก ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 โดยในเดือนตุลาคมปี 2567 ครูรัก(ษ์)ถิ่น 327 คน จะได้เข้าบรรจุเป็นข้าราชการครูเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ตามโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลต่าง ๆ จำนวน 285 แห่งใน 44 จังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน ดังนี้

  • บนภูเขา : 69 คน 60 โรงเรียน
  • พื้นที่เสี่ยงภัย : 20 คน 17 โรงเรียน
  • พื้นที่ชายแดน : 17 คน 16 โรงเรียน
  • พื้นที่ทุรกันดาร: 14 คน 12 โรงเรียน
  • บนเกาะ : 12 คน 11 โรงเรียน
  • โรงเรียนชนกลุ่มน้อย : 8 คน 7 โรงเรียน
  • โรงเรียนพระราชดำริ : 5 คน 5 โรงเรียน
  • โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ : 35 คน 34 โรงเรียน
  • พื้นที่พิเศษตามประกาศกระทรวงการคลัง : 19 คน 18 โรงเรียน
  • โรงเรียนร่วมพัฒนา : 1 คน 1 โรงเรียน
  • โรงเรียนไม่ทุรกันดารแต่ขาดแคลนครู : 127 คน 104 โรงเรียน
ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยสนับสนุนนักเรียนยากจนให้คงอยู่ในระบบด้วยการเรียนครู และส่งเสริมครูกลุ่มนี้ไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่เด็กชนบทในฐานะ Change Agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง

“กระทรวงศึกษาได้รับเรื่องร้องเรียนบ่อยที่สุดคือครูขอย้ายกลับบ้าน เพราะการทำงานไกลบ้าน ไกลถิ่นฐานของตัวเอง มันเป็นความทุกข์ มันเป็นภาระ วันนี้น้อง ๆ ได้มีโอกาสไปทำงานในบ้านตัวเอง คำถามที่มีมาโดยตลอดว่าโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล อยู่ในชนบท อยู่ชายขอบ ทำยังไงถึงจะมีครูที่มีคุณภาพไปสอนเด็กเหล่านั้น ทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่คือคำตอบ”

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การได้บรรจุเป็นครูทันทีแม้เป็นโอกาส แต่การต้องไปทำงานจริงในโรงเรียนขนาดเล็ก ห่างไกล ย่อมมีความท้าทายทั้งงบประมาณและภาระงานบนข้อจำกัดมากมาย วันนี้นอกจากมาให้กำลังใจ ยังมาให้คำมั่นด้วยว่าครูรัก(ษ์)ถิ่นจะไม่สู้โดยลำพังอย่างแน่นอน กระทรวงศึกษาธิการนำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ จะร่วมสู้ไปกับทุกคน ตรงไหนที่เติมเต็มได้จะพยายามเต็มที่ ทำให้ทุกคนมีความสุขในการทำงานตรงกับนโยบายเรียนดีมีความสุข

“วันนี้เป็นวันที่น้องเก็บเกี่ยวความสุข แล้วก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจกับตัวเองมากที่เราจบการศึกษา วันนี้เราเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความหวัง ฉะนั้นหลังจากทำงานไปแล้ว 1 ปี 2 ปี  3 ปี หรืออาจจะเป็น 10 ปี อย่าลืมความฝันของเรา ความฝันที่เราจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ความฝันที่เราอยากจะกลับไปพัฒนาเด็ก ๆ อย่าให้กระแสสังคมมาเปลี่ยนเจตคติของเรา ขอให้กำลังใจน้อง ๆ ทุกคน เราจะจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน”

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ

รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นตั้งแต่เริ่มต้น ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างครูที่มีคุณภาพสูงให้กับประเทศไทย บัณฑิตใหม่ของเราจบการศึกษาหลักสูตรปฐมวัยและประถมศึกษา ถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ในช่วง 12 ปีแรก ครูปฐมวัยและประถมศึกษาจะได้เห็นช่วงเวลาของการเติบโตจากวัยอนุบาลที่ยังเปราะบางไปสู่ชั้นประถมที่เริ่มมีรากฐานจิตใจที่มั่นคง นี่คือความสุขและความภาคภูมิใจของครู

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวันนี้คือหนึ่งวันที่ทุกคนมีความสุข แต่การทำงานทุกอย่างจะมีปัญหาอุปสรรคอยู่เสมอ อยากให้ทุกคนมองว่าสิ่งนั้นคือความท้าทาย และมีความมั่นคงทางจิตใจและยังคงมีความสุขกับการผู้ให้ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้

“ในการเป็นครูเราต้องเจอเด็กหลากหลาย ทั้งคนที่เก่งช่วยเหลือตัวเองได้ มีคนปานกลางทั่วไป และมีเด็กที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือดูแลพิเศษ เชื่อว่าการได้รับกระบวนการบ่มเพาะในมหาวิทยาลัย 4 ปี จะทำให้บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นของเรามีเครื่องมือ ความรู้ เทคนิค และสำคัญคือมีประสบการณ์เพียงพอในการดูแลลูกศิษย์ทุกคน ทุกประเภท และครูทุกคนจะไม่โดดเดี่ยว เพราะแม้จะเข้าสู่ช่วงปฏิบัติงานจริงแล้ว ก็ยังมีสถาบันมีคณะหนุนเสริมที่จะคอยติดตามให้กำลังใจ เพื่อให้ครูของเราทุกคนสามารถพัฒนาเด็ก ๆ ได้ต่อไป”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นสำเร็จได้ด้วยการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงาน ดังคำว่า It takes a village to raise a child การสร้างคนหนึ่งคนต้องใช้พลังทั้งชุมชน ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 จะเป็นเด็กกลุ่มแรกที่ได้รับโอกาสเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า หากทุกคนร่วมกันพัฒนาครูที่มีจิตใจรักถิ่นฐานบ้านเกิด มีความตั้งใจในการไปพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและลูกหลานในพื้นที่ให้ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลจะลดลง

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งเลยว่านักเรียนกลุ่มแรกที่น้อง ๆ ได้สัมผัส และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตเขา จะสร้างความหวังให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นความหวังให้กระทรวงศึกษาธิการได้มีโอกาสสนับสนุนให้น้อง ๆ มีความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และด้วยพลังของครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 ตรงนี้ รวมกับน้อง ๆ อีก 4 รุ่น รวมกว่า 1,500 คน จะเป็นพลังของการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนกับระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าน้อง ๆ จะเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไร เจอความยากในการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้นึกย้อนถึงวันแรกที่เราตัดสินใจจะเป็นครู โดย กสศ. และอีก 5 หน่วยงานในโครงการ เรายินดีที่จะช่วยส่งเสริมน้อง ๆ ต่อไป”

ดร.อุดม วงษ์สิงห์

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า บัณฑิตครูรัก(ษ์)ถิ่นคงรูู้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทุกคนในวันนี้ คือครูอาจารย์ที่ดูแลน้อง ๆ มาตลอด 4 ปีเต็ม ตั้งแต่วันที่ลงไปค้นหาคัดเลือก จนถึงวันนี้ที่สำเร็จการศึกษา และหลังจากนี้ที่ทุกคนจะแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ครูในพื้นที่ของตัวเอง ครูอาจารย์ก็จะยังไม่ปล่อยมือจากไป 

สำหรับเส้นทางของครูรัก(ษ์)ถิ่นที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ถึงวันนี้ที่นักศึกษารุ่นท่ 1 จบการศึกษาในปี 2567 เชื่อว่าทุกคนรู้ว่ากว่าที่จะก้าวเข้าไปในมหาวิทยาลัยนั้นไม่ง่าย และตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็ยิ่งเหนื่อยกับการเรียนและกระบวนการบ่มเพาะต่าง ๆ แต่เชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่าเราเหนื่อยเพื่ออะไร และเป้าหมายของเราคือสิ่งใด  

“การมาถึงตรงนี้ได้ คือข้อพิสูจน์ว่าทุกคนมีฝีมือ มีความสามารถไม่แพ้ใคร และจากวันนี้ไป อยากให้ทุกคนรักในวิชาชีพด้วยหัวใจ จดจำวันที่เราตั้งใจอยากเป็นครูเอาไว้ และเพิ่มพูนอุดมการณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ปล่อยให้ไฟมอดดับไปตามเวลา จนวันหนึ่งข้างหน้าที่พวกเราจะเติบโตและก้าวไปเป็นผู้ให้ความรู้และแนวทางในการเป็นครูที่ดีกับคนรุ่นต่อ ๆ ไป ขออวยพรให้ทุกคนโชคดี และจำไว้ว่า กสศ. จะยังอยู่กับครูรัก(ษ์)ถิ่นทุกคนไปอีกตลอดหลายปีจากนี้ แล้วพบกันในโอกาสต่อไป”