เด็กและเยาวชนไทยกว่า 1.02 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะสำหรับชีวิตและอาชีพ
ในการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 กสศ. เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคตมากขึ้น

เด็กและเยาวชนไทยกว่า 1.02 ล้านคนที่อยู่นอกระบบการศึกษา จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะสำหรับชีวิตและอาชีพ

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 ในงานประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ ‘จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน’ ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก กรุงเทพฯ และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 260 คน ณ สถานที่จัดงาน พร้อมกับผู้เข้าร่วมอีกกว่า 3,000 คนผ่านทางออนไลน์ ประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากหน่วยงานทั้งในระดับพื้นที่ และหน่วยงานระดับนโยบายของประเทศไทย ผู้นำเยาวชน ผู้แทนจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมนานาชาติ จาก 40 ประเทศทั่วโลก เพื่อเน้นโอกาสการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การพัฒนาทักษะสำหรับทุกคน และความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ได้กล่าวในที่ประชุมว่า กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศทั่วโลกได้ประสบกับสถานการณ์ความขัดแย้งและความไม่แน่นอนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลทำให้รูปแบบการศึกษาสำหรับอนาคตต้องมีการปรับตัวให้มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการแรงงานในอนาคตมากขึ้น เพื่อสร้างความตระหนัก และขับเคลื่อนเรื่องวิกฤตการศึกษา สำนักเลขาธิการสหประชาชาติจึงได้จัดการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงการศึกษา (TES) ในปี 2565 เพื่อระดมความร่วมมือเพื่อผลักดันเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษา และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

แม้กระนั้น การเข้าถึงการศึกษายังคงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายในระดับนานาชาติ โดยทั่วโลกมีเด็กและเยาวชนประมาณ 244 ล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา ในประเทศไทยจากการทำงานของ กสศ. ก่อตั้งขึ้นในปี 2561 โดยมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการสนับสนุนทางการเงินและการจัดตั้งสถาบันให้กับเด็ก เยาวชน และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในประเทศไทย เด็กนักเรียนกว่า 1.8 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา และยังมีเด็กและเยาวชนอีก 1.02 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าเรียนในโรงเรียน เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจ สุขภาพ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสังคมอื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงทำงานเป็น Catalyst เพื่อทำงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญนี้ ในปี 2567 ด้วยความตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา รัฐบาลไทยจึงได้ดำเนินโครงการ Thailand Zero Dropout เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชน (อายุ 3-18 ปี) ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ร่วมกับ 11 กระทรวง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการศึกษาทางเลือก โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิต และอาชีพ

นอกเหนือจากปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาแล้ว โจทย์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภายหลังวิกฤตโควิด-19 ต่างทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้องการการระดมความร่วมมือและบทเรียนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาจากประเทศต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟู และการปฏิรูประบบการศึกษาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ กสศ. จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นครั้งแรกในปี 2565 ในวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาจอมเทียน ข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ “การศึกษาเพื่อปวงชน (Education for All) จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ด้วย ปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education)” เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน

ในปี 2567 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย สำนักงานโครงการปราเกอร์จา มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และ สมาชิกกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (หรือ EEA) ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ จินตภาพใหม่การศึกษา ร่วมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน

การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นวัตกรรมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา รวมทั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงกลยุทธ์ กลไก และแนวทางปฏิบัติที่ดีจากประเทศต่างๆ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย และข้อเสนอเชิงการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา การสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น การส่งเสริมการพัฒนาทักษะ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำด้านการศึกษา และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางการศึกษาได้เรียนรู้ตัวอย่างและกรณีศึกษาในระดับนานาชาติในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนความเสมอภาคทางการศึกษาในบริบท วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เงื่อนไขทางสังคม ที่หลากหลาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยูเนสโก กรุงเทพฯ และกลุ่มพันธมิตรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (EEA) แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3