เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ คุรุสภา และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) จัดการประชุมวิชาการภายใต้หัวข้อ ‘Inspiring Moral Symposium จากแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลง’ ภายใต้แนวคิดจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด้วย 4 + 6 โมเดล ร่วมกับ 30 โรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมผ่าน 4 + 6 โมเดล ร่วมกับ 30 โรงเรียนนำร่องโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ผ่าน Zoom และ Facebook มุ่งส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมคุณธรรมให้แก่นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และชุมชนอย่างสอดคล้องกับยุคสมัย




ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุมได้กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งส่งเสริมการเรียนดีมีความสุข โดยเน้นความสำคัญของการสร้างทัศนคติทางบวกในครู ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการพยายามลดภาระงานครูและส่งเสริมการทำงานในเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของเด็กในทุกมิติ ทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรม
“ครูเป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก การสอนหนังสือตามหลักสูตรเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ครูต้องดูแลและส่งเสริมเด็กในทุก ๆ ด้าน”

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการตระหนักถึงภาระงานครู โดยพยายามปรับหลักเกณฑ์ แนวทางต่าง ๆ เพื่อเอื้อต่อการทำงาน เช่น ปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ หรือออกแบบเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนครูในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลให้เหมาะสมอย่างการเพิ่มเบี้ยกันดาร โดยคาดหวังว่าจะเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับครู
การพูดคุยแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญของการทบทวนข้อปฏิบัติ ตลอดจนรวบรวมข้อคิดเห็นและประสบการณ์ทำงานจากทั้งวาระความสำเร็จ บทเรียนจากข้อผิดพลาด และข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อจะนำไปถ่ายทอดให้เป็นแบบอย่างสำหรับครูท่านอื่น ๆ ที่สนใจต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กสศ. คือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพครูเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยตลอดเวลา 6 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้สนับสนุนการผลิตครูรัก(ษ์)ถิ่นร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ถือเป็นปีการศึกษาแรกที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นจำนวน 327 คนได้เข้าบรรจุในโรงเรียนปลายทาง 285 แห่งทั่วประเทศ
“กสศ. ได้ร่วมมือกับคุรุสภาและ SYSI เพื่อสนับสนุนครูรัก(ษ์)ถิ่น โดยส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมในโรงเรียนตามแนวทาง 4 + 6 โมเดล ซึ่งจะส่งเสริมการสร้างจริยธรรมและคุณธรรม โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสถานศึกษา หากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จใน 30 โรงเรียนนำร่อง เราจะสามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีครูรัก(ษ์)ถิ่น เพื่อสร้างผลกระทบในวงกว้าง” ดร.ไกรยสกล่าว


ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การใช้ 4+6 โมเดลในโรงเรียนแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเหล่านี้ยังสามารถนำมาศึกษาและเรียนรู้ร่วมกันได้ สิ่งสำคัญคือการถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาเพื่อสนับสนุนโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจในการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมของตัวเอง โดย กสศ. เชื่อมั่นว่า เมื่อครูรัก(ษ์)ถิ่นเริ่มทำงานตามกระบวนการต่าง ๆ นี้ จะเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนทั้งในโรงเรียนและชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยให้เกิดครูที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและสังคมไทยในอนาคต
“การพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมตามแนวทาง 4 หลักการ 6 กระบวนการ หรือ 4+6 โมเดลนี้ เป็นรูปแบบการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสถานศึกษา โดยเริ่มต้นจากการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้าใจและเห็นความสำคัญของการสร้างจริยธรรมและคุณธรรมในโรงเรียนอย่างยั่งยืน หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จใน 30 โรงเรียนนำร่องที่เป็นปลายทางของครูรัก(ษ์)ถิ่น เราจะสามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ที่มีครูรัก(ษ์)ถิ่นได้ต่อไป”

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ด้านพัฒนาวิชาชีพ กล่าวว่า คุรุสภามีแนวนโยบายการพัฒนาเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามหนุนเสริมให้โรงเรียนมองเห็นต้นแบบเชิงบวกของการสร้างครูเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นโมเดลให้กับนักเรียน เป็นโมเดลให้กับเพื่อนครู และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม ผ่านจรรยาบรรณวิชาชีพครู 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.จรรยาบรรณต่อตนเอง 2.จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ 3.จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ 4.จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และ 5.จรรยาบรรณต่อสังคม พร้อมสนับสนุนกระบวนการ ‘ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ’ หรือ PLC (Professional Learning Community) เพื่อให้ครู ผู้บริหาร และนักการศึกษา ร่วมแบ่งปันแนวคิดการพัฒนาแนวทางการสอน และสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้ ‘นักเรียนทุกคนสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเอง’

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่สามารถเชื่อมโยงทุกฝ่ายในสังคมหรือชุมชน ให้เกิดความสามัคคีในการพัฒนาการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้โจทย์หนึ่งของความท้าทายคือ ‘ทำอย่างไรให้โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมเหมือนอย่างที่เคยเป็น’ ซึ่งหวังอย่างยิ่งว่าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นจะเป็นกลไกสำคัญของการรื้อฟื้นให้สถานะของโรงเรียนเป็นที่เคารพ และเป็นที่พึ่งทางปัญญาและความรู้ของชุมชน สิ่งสำคัญคือโรงเรียนต้องเข้าใจบริบทของสังคมรอบโรงเรียน และเข้าใจมิติต่าง ๆ ของชุมชน โดยรู้ที่มาที่ไป รู้ประวัติศาสตร์ และเข้าใจถึงจุดแข็งจุดอ่อนของสังคมนั้น ๆ เพราะการศึกษาจะพัฒนาได้ ครอบครัวและชุมชนต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
“ถ้าคำนวณว่าเด็กอยู่ที่โรงเรียนอาทิตย์ละ 40 ชั่วโมง ในหนึ่งปีมี 2 เทอม จะเท่ากับเด็กอยู่ที่โรงเรียนประมาณ 17% ของเวลาทั้งปี ดังนั้นถ้าจะคาดหวังความเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์ทุกอย่างจาก 17% คงเป็นไปยาก ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องทำให้อีก 83% ของเวลาที่ใช้นอกข้างนอกโรงเรียนเป็น Learning Space ที่ช่วยพัฒนาเด็กได้มากขึ้น”