เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) และ AI Fund ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สู่การมีผู้ช่วยเอไอ (AI Assistant) ด้านการศึกษา เป็นเสมือนเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้ สนับสนุนการสอน และส่งเสริมสุขภาวะ (Well-being) ให้กับเด็ก เยาวชน และบุคลากรทางการศึกษาในประเทศไทย
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มี คุณแอนดรูว์ อึ้ง (Mr.Andrew Ng) คณะกรรมการบริหารบริษัทแอมะซอน (Amazon.com, Inc.) ผู้ก่อตั้งบริษัท AI Fund ผู้ทรงอิทธิพลในแวดวง AI ที่มีชื่อเสียงระดับโลก คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป และ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และหารือถึงแนวทางการพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
คุณแอนดรูว์ อึ้ง (Mr.Andrew Ng) ผู้ก่อตั้งบริษัท AI Fund กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของ AI ต่อการศึกษา โดยมีจุดเน้นสำคัญใน 2 เรื่อง คือการสอนให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และการนำมาใช้แก้ปัญหาทางการศึกษา ซึ่งในประเด็นหลังนำมาสู่ความร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง KBTG AI Fund และ กสศ. ที่จะนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาและปรับใช้ในด้านการศึกษาและสุขภาพจิต โดยเริ่มจากนักเรียนระดับชั้น ม.ต้น
“ผมมองว่าเอไอจะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญต่อการศึกษาและอนาคตของเด็ก ๆ ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้เรื่องการเขียนโค้ด (Coding) ในด้านเอไอ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้งานเอไอ ให้เอไอช่วยทำงานตามที่พวกเขาต้องการ รวมทั้งเป็นการพัฒนาทักษะรองรับการทำงานของพวกเขาในอนาคตที่เอไอจะเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ เอไอยังสามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้อีกด้วย” คุณแอนดรูว์กล่าว
คุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการรวมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศทางเทคโนโลยีขั้นสูงของ KBTG เข้ากับกองทุน AI Fund และช่วยขับเคลื่อนความสามารถด้านดิจิทัลของไทย ปลดล็อกข้อจำกัดด้านศึกษา และการลงนามครั้งนี้ คือการแสดงเจตนาว่า KBTG, AI Fund และ กสศ. ต่างให้ความสำคัญในการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ที่มี ใช้การศึกษาวิจัยเป็นฐาน เพื่อต้องการสร้างสังคมการอยู่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ และการผลักดันการพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นในประเทศไทย
“การลงนามครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นศักยภาพของเอไอ มาดูกันว่าเทคโนโลยีเอไอ จะสามารถช่วยด้านการศึกษาในแง่ใดได้บ้าง ที่ผ่านมา เคยมีการใช้เอไอเป็นเพื่อนช่วยเรียน เป็นเพื่อนช่วยสอน เป็นเสมือนผู้ช่วยของครู ที่สามารถช่วยเสริมศักยภาพในการสอนของครู ทั้งการสอนในหลักสูตร นอกหลักสูตร ช่วยได้กระทั่งสอนเด็ก ๆ เรื่องวิธีคิด ยิ่งน่าสนใจว่าเราจะนำคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เอไอมี มาพัฒนาคุณภาพการศึกษาในแง่ใดได้บ้าง และการช่วยให้เด็ก ๆ เข้าถึงเอไอ จะช่วยให้เด็ก ๆ เห็นการศึกษาในมุมมองใหม่” คุณเรืองโรจน์กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า การลงนาม MOU ร่วมกันนี้ เป้นการร่วมกันหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันระหว่าง KBTG AI Fund และ กสศ. เป็นเรื่องที่ทั้ง 3 หน่วยงาน จะต้องช่วยกันสร้างความเป็นไปได้ร่วมกัน ในการใช้เทคโนโลยีอย่างเอไอซึ่งมีบทบาทและศักยภาพในการความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
“เอ็มโอยูครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการใช้เทคโนโลยีอย่างเอไอ ซึ่งมีบทบาทและศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา คุณแอนดรูว์ อึ้ง เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมทางเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยของเขา ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงมหาศาล เทคโนโลยีด้านเอไอที่ถูกคิดค้นขึ้น สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์บริการแล้วก็นวัตกรรมอะไรหลาย ๆ อย่างสำหรับการเรียนรู้ กสศ. จึงคิดว่าน่าจะใช้หัวใจของการพัฒนาตรงนี้ มาช่วยสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และมีกลุ่มเป้าหมายร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการหาเครื่องมือที่ช่วยเด็กและเยาวชนด้านต่าง ๆ เช่น ช่วยเด็กที่มีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเส้นทางในการศึกษา เส้นทางในการประกอบอาชีพ เส้นทางในการจัดการชีวิตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
“เด็กในช่วง ม.ต้น หลาย ๆ คน อาจจะตัดสินใจที่จะออกจากระบบการศึกษา หลุดจากระบบการศึกษา หรือว่าตัดสินใจที่จะไปเรียนสายอาชีพ ตัดสินใจที่จะไปเรียนนอกระบบ การตัดสินใจเหล่านี้ หลาย ๆ คนอาจจะนึกไม่ออกว่าจะปรึกษาใคร คุยกับใคร หาข้อมูลจากไหน และอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเข้าใจตัวเองจริง ๆ หรือเปล่า หากนึกถึงเด็กในชนบท ซึ่งเป็นนักเรียนยากจนยากจนพิเศษ เด็กที่ได้รับทุนเสมอภาค พวกเขาอาจจะมีช่องทางที่จะพูดคุยปรึกษาหารือค่อนข้างจำกัด จึงอยากจะช่วยกันหาว่าจะมีเทคโนโลยีอย่างเอไอในรูปแบบไหน ที่จะช่วยต่อให้เด็ก ๆ มีโอกาสในการหาคำตอบให้กับตัวเองและหาอนาคตให้ตัวเองได้ เข้าใจตัวเองมากขึ้น มีข้อมูลที่พร้อมสำหรับในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในชีวิต
“ปัญญาประดิษฐ์ ที่ถูกคิดค้นขึ้นจะช่วยให้เด็ก ๆ ตัดสินใจบนข้อมูลที่ดีที่สุด และช่วยให้มีโอกาสทัดเทียมกับเด็กที่มีรายได้ของครัวเรือนที่แตกต่างจากพวกเขา เพราะฉะนั้น หากถามว่าเอไอช่วยความเสมอภาคอย่างไร สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือการสร้างโอกาสที่จะเข้าถึงข้อมูล โอกาสที่จะเข้าถึงความรู้ ประสบการณ์ เพื่อมาประกอบการตัดสินใจ และหาช่องทางที่ดีที่สุดอย่างเสมอภาคกับคนอื่น” ดร.ไกรยสกล่าว
คุณปวรินทร์ พันธุ์ติเวช หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรีสำหรับนักเรียนยากจนพิเศษและผู้พิการ โดยจะสนับสนุนซิมการ์ดอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.ต้น เริ่มจากกลุ่มตัวอย่าง 300,000 คน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 Equity Lab โดย กสศ. ก็มาช่วยคิดเรื่องที่การสร้างเครื่องมือเพื่อจะช่วยนักเรียนกลุ่มนี้ ในรูปแบบที่เป็นเหมือนเพื่อนช่วยคิดของนักเรียน
“หากอินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา ซึ่งเราเคยพบว่า นักเรียนทุนเสมอภาคคือกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างจำกัด เพราะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แต่หลังจากนักเรียนทุนเสมอภาคในทุกสังกัด 300,000 คน ได้ซิมฟรีแล้ว เอไอจะกลายเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของพวกเขาได้ เพราะเอไอ เป็นเสมือนผู้ช่วยด้านต่าง ๆ เราสามารถออกแบบเอไอให้ช่วยพัฒนาและเสริมสร้างทักษะทางด้านการศึกษาได้หลายด้าน ทั้งด้านสื่อการสอนที่น่าสนใจ แนวทางช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ ช่วยประเมินผลการเรียน ประเมินทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบถึงจุดที่เรียนเข้าใจ หรือยังไม่เข้าใจ ปรับเปลี่ยนแนวทางการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับทักษะของผู้เรียน สามารถช่วยเพิ่มทักษะของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นหากผู้เรียน ต้องการเรียนด้านทักษะอาชีพ เอไอก็จะสามารถช่วยแนะแนวทาง ด้านทักษะอาชีพได้อย่างเหมาะกับความสามารถของแต่ละคน
“นอกจากนี้ เอไอยังสามารถเป็นผู้ช่วยด้านสุขภาวะ ที่ผ่านมา กสศ.พบว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้านอื่น ๆ ของนักเรียนนั้น นอกเหนือไปจากด้านเศรษฐกิจ ยังมีปัญหาอื่น ๆ ในอีกหลากหลายมิติ จึงได้มีการประสานกับ หน่วยงานต่าง ๆ อย่าง สพฐ. กรมสุขภาพจิต เก็บข้อมูลและประมวลผล สำหรับสร้างเครื่องมือที่จะช่วยทำให้ครูทราบความเสี่ยงหรือปัญหาด้านสุขภาวะที่นักเรียนมี เพื่อที่จะให้ครูได้ดำเนินการสนับสนุนป้องกันหรือส่งต่อนักเรียนได้ เอไอจะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ โดยอาจจะเป็นเหมือนเพื่อนช่วยคิด ที่ปรึกษา เป็นเพื่อนคุย หรือกระทั่งช่วยนักเรียนหาทางออก ดูแลด้านสุขภาพจิตได้
“ในส่วนของการทำงาน การสร้างความร่วมมือครั้งนี้ KBTG จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดงานวิจัย AI Fund จะมาช่วยด้านเทคนิค ด้านความเป็นไปได้ ในการออกแบบเอไอเพื่อใช้งานตามเงื่อนไข และความต้องการด้านต่าง ๆ เช่น อาจจะช่วยสร้างหรือพัฒนา Generative AI Chatbot หรือ ซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่พัฒนาไว้สำหรับตอบคำถาม ตอบโต้ คอยให้คำแนะนำหรือคำปรึกษากับผู้ใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเรียนรู้ ด้านโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพ และด้านสุขภาวะ หรือว่าอาจจะต่อยอดไปไกลกว่าแชตบอต เป็นเรื่องที่จะต้องมาหาความเป็นไปได้ร่วมกัน” คุณปวรินทร์ กล่าว