เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 กระทรวงศึกษาธิการจัดเวทีสัมมนา ‘กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทยในระดับภูมิภาค’ และได้เชิญ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้าร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ‘การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และความเสมอภาคทางการศึกษา’ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในทิศทาง ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย การพัฒนาการศึกษาในปีงบประมาณ 2567 ให้แก่บุคลากรในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในระดับภาคและกลุ่มจังหวัดให้เป็นไปตามทิศทางการพัฒนาประเทศ
ดร.ไกรยส ระบุว่า กสศ. ตั้งเป้าสร้างความเสมอภาคทางด้านการศึกษาไทย ในปี 2570 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ที่กำหนดว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” โดยนำเสนอเป้าหมาย 3 ฉากทัศน์ ได้แก่
- หลักประกันโอกาสทางการศึกษา
- การศึกษาที่ยืดหยุ่น มีทางเลือกสำหรับทุกคน
- กระจายความเป็นเจ้าของ
ฉากทัศน์ที่ 1: หลักประกันโอกาสทางการศึกษา
ดร.ไกรยส ชี้ข้อมูลสำคัญว่า ประชากรไทยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2519 ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม จนถึงระดับอุดมศึกษา ในขณะที่ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ต้องการทำให้คนไทยเป็นกลุ่มผู้มีรายได้สูง เพื่อจะสร้างหลักประกันโอกาสทางศึกษา โดย ดร.ไกรยส นำเสนอ 3 ภารกิจของหน่วยงานด้านการศึกษาในแต่ละสังกัดที่ควรดำเนินการในทางปฏิบัติ ได้แก่
- เสนอให้ต้นสังกัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน และติดตามเชิงคุณภาพ
- เสนอให้ต้นสังกัดปรับอัตราเงินอุดหนุนยากจน และติดตามเชิงคุณภาพ
- ครม. เห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุนทุนเสมอภาค และติดตามเชิงคุณภาพ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือประชากรเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน
ดร.ไกรยส ยังเสนอให้เห็นข้อมูลการยืนยันสิทธิ์เข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ในหมู่เด็กยากจนและยากจนพิเศษ เปรียบเทียบอัตราการเข้าเรียนชั้น ม.3 ในปี 2562 และอัตรายืนยันสิทธิ์ชั้นอุดมศึกษาปี 2566 พบว่า มีเด็กที่หลุดออกจากระบบไม่ต่ำกว่า 150,000 ราย สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และรุนแรงขึ้นเมื่อเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เด็กยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
หนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ การเก็บข้อมูลเชิงสถิติที่จะช่วยทำให้เห็นภาพรวมของประชากรเด็กที่เข้าสู่ระบบศึกษา แต่การเก็บข้อมูลเชิงสถิติในภาพกว้างอาจไม่เพียงพอที่จะรู้ว่าเด็กหลุดจากระบบไปอยู่ที่ไหน จึงจำเป็นต้องหาวิธีเก็บข้อมูลเชิงบุคคล โดยต้องสอดคล้องกับกฎหมาย PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ด้วย
ฉากทัศน์ที่ 2: การศึกษาที่ยืดหยุ่นมีทางเลือกสำหรับทุกคน
ดร.ไกรยส ชี้ให้เห็นแนวโน้มความเป็นไปในแนวทางการศึกษาของโลก ซึ่งสัมพันธ์กับตลาดแรงงาน โดยยกตัวอย่างโครงการ PISA-based Test for Schools (PBTS) เพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กทุน ‘โครงการช้างเผือก’ ของไทย
โครงการ PBTS ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลแบบรายบุคคล เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างทักษะด้านอารมณ์และสังคม กับเศรษฐฐานะของเด็ก โดยดูจากคุณลักษณะ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่ ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ความสนใจใฝ่รู้ (curiosity) การควบคุมตนเอง (self-control) การมองในแง่ดี (optimism) และการกล้าแสดงออก (assertiveness) และพบว่า นี่คือคุณลักษณะ 5 ประการที่ใช้พิจารณาทักษะทางอารมณ์ของเด็ก และเด็กที่มีคะแนนประเมินที่ดี มีแนวโน้มจะเป็นเด็กทุนช้างเผือก ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีต้นทุนทางทุนทรัพย์มาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เห็นว่าตลาดแรงงานในอนาคตมีแนวโน้มที่ใส่ใจบุคลากรในด้านทักษะทางอารมณ์ มากกว่าผลลัพธ์ทางการศึกษาในเชิงวิชาการ อีกทั้งแนวโน้มของข้อสอบต่อไปจะเป็นรูปแบบที่ไม่มีคำตอบตายตัว และไม่จำเป็นต้องกดดันด้วยเงื่อนไขของเวลามากเกินไป
ฉากทัศน์ที่ 3: กระจายความเป็นเจ้าของ
การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือแนวคิดในการให้ภาคส่วนต่าง ๆ และประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา บนแนวคิดว่า ‘ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา’ จัดทำในรูปแบบกลไกการทำงานระดับพื้นที่ อันจะนำไปสู่การเป็นตัวแบบเชิงนโยบายในการกระจายอำนาจในอนาคต
ดร.ไกรยส อธิบายว่า กรอบการทำงานแบบ ABE นั้นจะไม่เป็นเส้นตรง แต่เป็นลักษณะเกลียวก้นหอย ที่มีการเดินทางวนกลับมาหลาย ๆ รอบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับประเทศ คือ เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลระดับจังหวัด ไปสู่การเชื่อมโยงและบูรณาการงาน พัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบท จัดการความรู้เครือข่ายการเรียนรู้ เกิดเป็นตัวแบบ ABE มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ก่อนจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และทำซ้ำวนกลับมาได้เรื่อย ๆ
ผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
1) การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย เช่น ผลักดันให้เกิดสมัชชาการศึกษา ภาคีปฏิรูปการศึกษา สภาการศึกษา ผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ หรือการเข้าร่วม ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ (learning city) ของ UNESCO
และ 2) การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ เช่น บูรณาการงาน กสศ. ในระดับพื้นที่ ปรับระบบการทำงานเชิงพื้นที่ สร้างฟันเฟืองกลางให้ระบบกลไกระดับพื้นที่
ดร.ไกรยส ยังยกตัวอย่างนวัตกรรมการทำงาน เช่น จังหวัดราชบุรี มีภาคเอกชนร่วมลงทุนถึงหลักร้อยล้านบาท เพื่อสร้าง Social Impact Bond ด้านการศึกษา
ดร.ไกรยส ได้ทิ้งท้ายด้วยการนำเสนอแหล่งข้อมูล-ระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาระดับจังหวัด ในระบบที่ชื่อ iSEE (https://isee.eef.or.th) ซึ่งรวบรวมทั้งแหล่งที่มาข้อมูลต่าง ๆ อย่างเช่น ข้อมูลในเชิงกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ข้อมูลด้านสถานการณ์การศึกษาในไทย ข้อมูลการดำเนินงานของ กศส. ในแต่ละพื้นที่ที่สามารถสืบค้นถึงสถานศึกษาต่าง ๆ ได้ด้วย พร้อมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโรงพยาบาลในละแวกใกล้เคียง โรงเรียนที่มีเด็กยากจนในระดับ 100 เปอร์เซ็นต์ ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนพิการ ข้อมูลโรงเรียนที่ขาดแคลนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น และยังรวมไปถึงข้อมูลการให้ทุนของ กสศ. ข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ(NEA) และข้อมูลบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาระดับจังหวัด (PEA)
กล่าวได้ว่า ระบบ iSEE เป็นฐานข้อมูลที่ค่อนข้างครบถ้วนและหลากหลาย พร้อมให้หน่วยงานการศึกษาในแต่ละสังกัดนำไปปรับใช้เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ในการดูแลของแต่ละหน่วยได้ทันที
สุดท้ายนี้ ทั้ง 3 ฉากทัศน์ที่ กสศ. ได้นำเสนอในเวทีสัมมนา จะเป็นเหมือนหมุดหมายเพื่อให้แต่ละหน่วยงานได้รับรู้และเข้าใจตรงกัน สู่แนวทางการปฏิบัติที่มุ่งสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทยในอนาคต