ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง หรือ “โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง” กล่าวตอนหนึ่งในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program: TSQP) ปีที่ 2 ในหัวข้อ “ยกระดับคุณภาพโรงเรียน ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความมั่นคงระยะยาวของประเทศชาติ” เมื่อวันที่ 14 พ.ย.ที่ห้องประชุมแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า ทุกคนที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้ คือคนที่จะทำให้เกิดคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบ้านเมือง ซึ่งทุกคนถือว่าทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สำคัญกับ 3 กลุ่มเป้าหมาย
โดยมุ่งประโยชน์ที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนครูได้รับการพัฒนาศักยภาพเป็นอันดับสอง และประโยชน์สูงสุดคือ ประเทศชาติ เพราะหากเด็กได้รับการศึกษาไม่เต็มศักยภาพ คนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ดังนั้นเป้าหมายของโครงการฯ คือการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดกลางที่ดูแลนักเรียนด้อยโอกาสจำนวน 10% ของโรงเรียนที่มีอยู่ประมาณ 8,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างต้นแบบให้กับโรงเรียนที่เหลืออีก 90%
เน้นเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งไม่ใช่เพียงการรู้วิชา แต่เป็นการพัฒนาคนทั้งคนให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยพลังความร่วมมือจากทุกคนที่ต้องพยายามหาวิธีร่วมกันทำโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนแห่งอนาคต เป็นโรงเรียนที่เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
“เป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เป็นลักษณะ Spill over effect คือ หวังผลที่จะได้ทั้งผลกระทบทางตรง และผลกระทบทางอ้อม หรือผลพลอยได้ จากการยกระดับคุณภาพโรงเรียนต้นแบบ 733 แห่งในโครงการนี้ จะกระทบไปสู่โรงเรียนขนาดกลางทั่วประเทศ 8,000 แห่ง และกระทบต่อไปยังโรงเรียนทั่วประเทศอีกกว่า 30,000 แห่ง และสุดท้ายผลพลอยได้เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งต้องใช้ความสำเร็จเชื่อมโยงโรงเรียนพัฒนาตนเองและเครือข่ายที่พร้อมจะทำงานหรือสนับสนุน โดยการทำให้เกิดผลสำเร็จเช่นนี้จะไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนและครูเท่านั้น
ดังเช่น ระบบสุขภาพที่ดีของประเทศไทย ไม่ใช่หน้าที่ของหมอ พยาบาลเท่านั้น แต่ระบบสุขภาพที่ดีสำคัญที่สุดคือ พฤติกรรมการดูแลรักษาสุขภาพ และการป้องกันโรคของทุกคน เช่นเดียวกับการเรียนรู้ของคน จะต้องเป็นเรื่องของทุกคน ขอให้ช่วยกัน เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.)
การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 3 ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 226 แห่ง ใน 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งนับว่ามีจำนวนโรงเรียนมากที่สุดในรุ่นที่ 2 ดังที่ ศ.นพ.วิจารณ์ ได้กล่าวไว้ว่า เป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองนั้น หวังผลพลอยได้ที่เป็นผลกระทบทางอ้อมที่นำไปสู่การขยายผลให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับ กสศ. ที่ให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดต้นแบบที่นำไปสู่การขยายผลใน 4 ประเด็น ได้แก่
- สนับสนุนโรงเรียนขนาดกลางที่มีนักเรียนด้อยโอกาสหนาแน่นให้สามารถพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบ และสามารถเป็นต้นแบบในการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ได้สอดคล้องกับบริบท
- สนับสนุนครูให้ได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 (Learning Outcome)
- สนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเครือข่ายการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนตามแนวทาง “จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ”
- สนับสนุนการศึกษาวิจัย ติดตาม ประเมินผล (เชิงปริมาณและคุณภาพ) และถอดบทเรียน ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบโรงเรียน (School Transformation)
3 กลุ่มเป้าหมายที่หวังผลเพื่อก้าวต่อไปสู่การทำงานที่ยั่งยืน คือ โรงเรียน สามารถคิดและพัฒนาคุณภาพตนเองได้ทั้งระบบ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่สามารถขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ได้ ครู มีทักษะจัดการเรียนรู้ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learning) สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท และเครือข่าย เรียนรู้ร่วมกันในระดับโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน และชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพโรงเรียน ให้ไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งสู่ Learning Outcome ซึ่งประกอบด้วย
- ความรู้ ที่ต้องรู้และเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้และได้รับประสบการณ์จากกิจกรรมต่างๆ เห็นความสำคัญและคุณค่าของสิ่งที่เรียนรู้
- ทักษะ ด้านการคิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญหา และวิพากษ์อย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การใช้ความรู้และสร้างนวัตกรรมใหม่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต
- ด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งการมีวินัย เคารพกติกาของสังคมที่ดี มีความซื่อสัตย์ มีจิตสาธารณะ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง และปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดีและเหมาะสมกับบริบท ซึ่งสอดคล้องกับฐานสมรรถนะที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน