เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 สมัชชาการศึกษานครลำปาง ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา และเครือข่ายความร่วมมือในจังหวัดลำปาง จัดเวที ‘ผสานเครือข่ายเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง’ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เพื่อร่วมกันหาแนวทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด เชื่อมโยงไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายตั้งแต่ระดับพื้นที่และในระดับประเทศ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ และกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนว่า กสศ. มีสองบทบาทที่สำคัญคือ ‘การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการทำงานเชิงพื้นที่’ และ ‘การปฏิรูปการศึกษา’ โดยเฉพาะในการทำงานร่วมกับหน่วยงานเชิงพื้นที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์สำคัญของการจัดการศึกษาเสมอภาค
สำหรับสาเหตุของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เบื้องต้นมีสององค์ประกอบหลัก ประการแรกมาจากผู้ปกครองหรือครอบครัว ประการที่สองคือสถานศึกษา จากการศึกษาวิจัยและลงพื้นที่ในหลายส่วนของประเทศพบข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่า ครอบครัวของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมากเป็นครอบครัวที่เด็กอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือเป็นครอบครัวแหว่งกลาง และมีอีกไม่น้อยที่เป็นครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบเพิ่มขึ้นคือเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ผลสำรวจระบุว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวเด็กกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,044 บาทต่อเดือน หรือเฉลี่ยเพียงวันละ 34 บาท เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงตัดสินใจให้ลูกหลานออกจากโรงเรียนมากขึ้น ถ้าทางสถานศึกษาหรือท้องถิ่นไม่ช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จำนวนเด็กหลุดจากระบบจะยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนที่หลุดจากระบบไปแล้วก็แทบไม่มีทางกลับมาเรียนหรือเข้าสู่กระบวนการพัฒนาตนเองได้อีก และด้วยการติดตามที่ทำได้ยาก หลายครั้งที่พากลับมาได้ เด็กเยาวชนเหล่านี้ก็สูญเสียช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการไปแล้ว
“คำตอบที่ต้องหาให้พบในการแก้โจทย์การศึกษา คือต้องสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็กได้เรียนจนจบ และก้าวข้ามช่วงชั้นไปได้ เครือข่ายระดับจังหวัดถือเป็นต้นแบบของงานด้านการศึกษาที่ผลจากการทำงานของ กสศ. พบว่าถ้าจังหวัดจัดการตนเองได้ การตามหาเด็กและออกแบบกระบวนการดูแลช่วยเหลือจะทำได้ดียิ่งว่าระบบคัดกรองใด ๆ ซึ่งในหลายพื้นที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การทำงานโดยบูรณาการหน่วยงานในจังหวัดสามารถช่วยให้เด็กกลุ่มนี้รอดจากการหลุดจากระบบได้ถึง 80%
“จังหวัดลำปาง มีมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นหน่วยประสานความร่วมมือให้แต่ละองค์กรมาทำงานร่วมกัน และสามารถจัดตั้งเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัด ถือเป็นกุญแจในการไขปัญหาการศึกษาที่จะทำให้การทำงานเดินไปข้างหน้า เราได้เห็นตัวอย่างของการพัฒนาศูนย์เด็กปฐมวัย ที่มีการฝึกอบรมครูผู้ช่วยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น มีการให้คำปรึกษาแนะนำและดึงความร่วมมือผู้ปกครองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทำงานกับครูในศูนย์เด็ก มีตัวอย่างของการที่ผู้นำท้องถิ่นเห็นความสำคัญเรื่องการศึกษา ช่วยดำเนินนโยบายของสมัชชาการศึกษาให้ก้าวไปได้เร็วขึ้น มีผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีภาคเอกชนที่ทุกฝ่ายพร้อมเข้ามาทำงานในบทบาทที่ตนถนัด และพร้อมส่งต่อเคสเด็กเสี่ยงหลุดหรือหลุดจากระบบมาแล้วให้ไปถึงมือของหน่วยงานที่ชำนาญในปัญหานั้น ๆ เหล่านี้คือการหลอมรวมเอาความหลากหลายแตกต่างมาประกอบขึ้นเป็นเครือข่าย จนเป็นพลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการศึกษาในจังหวัด ซึ่งลำปางแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. กล่าวถึงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ซึ่งจะเป็นคำตอบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า การทำงานในหลายพื้นที่ทำให้เห็นว่าแนวโน้มการทำงานในมิติเชิงพื้นที่และความพยายามดูแลกันในจังหวัดเริ่มมีมากขึ้น สำหรับ กสศ. ซึ่งทำงานกับเด็กเยาวชนกลุ่มด้อยโอกาส 15% ล่างสุดของประเทศ จำเป็นต้องมีวิธีการที่ต่างออกไป เราต้องมีเครื่องมือที่ช่วยค้นหาว่าเด็กเยาวชนกลุ่มนี้อยู่ที่ไหน มีตัวเลขที่ชัดเจนในทุกช่วงชั้นการศึกษา นับตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับ แล้วทำให้ระบบสามารถประคับประคองดูแลกลุ่มเป้าหมายได้ในลักษณะปัญหาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผ่านไปจนถึงปลายทางการศึกษาได้สำเร็จ
เด็กนอกระบบการศึกษามองเห็นได้ยาก การจัดการดูแลจำเป็นต้องใช้วิธีที่ไม่เหมือนกับเด็กในระบบ สิ่งที่ กสศ. ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดการศึกษาให้เสมอภาคถึงเด็กทุกคน คือทำระบบให้เล็กลงในระดับจังหวัด หรือเล็กลงไปอีกถึงในระดับตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งจะทำให้มองเห็นเด็กเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น เพราะคนที่รู้ เข้าใจ สัมผัสความรู้สึกร่วมไปด้วยกับเด็กเยาวชนเหล่านั้น ก็คือคนในพื้นที่ การทำงานเชิงพื้นที่จึงสำคัญ เมื่อไหร่ที่เราสามารถออกแบบระบบภายในจังหวัด ให้เด็กทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มด้อยโอกาส 15% ล่างสุดเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ ผลสำเร็จจะประกอบเป็นภาพใหญ่ในระดับประเทศตามมา
“ประเด็นสำคัญของการทำงานเชิงพื้นที่ ประการแรกต้องช่วยกันพัฒนาแนวทางหรือกลไกเชื่อมการทำงานในจังหวัดที่เป็นรูปแบบเฉพาะ ตามคุณลักษณะของพื้นที่ บางแห่งมีท้องถิ่นเป็นแกนนำ บางแห่งใช้ภาคประชาสังคม บางแห่งมีสถาบันการศึกษาเป็นแกนนำ ประการต่อมาคือพัฒนาระบบสารสนเทศให้เชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงาน สามารถเข้าถึงฐานข้อมูลและมีวิธีนำข้อมูลไปใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากข้อมูลจะช่วยประชาสัมพันธ์ความร่วมมือให้ไปถึงคนในจังหวัดที่มีใจอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา แล้วการบูรณาการภายในก็จะชัดเจนมากขึ้น และนำไปสู่การเกิดขึ้นของนวัตกรรม เทคนิค เครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์พื้นที่หนึ่ง ตำบลหนึ่ง หรือจังหวัดหนึ่ง และสุดท้ายเครื่องมือและนวัตกรรมนี้จะเป็นโมเดลที่ขยายต่อไปถึงพื้นที่อื่น ๆ”
รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อนุกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กสศ. ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณะบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ผศ.ดร.วิยดา เหล่มตระกูล คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า ในนามสมัชชาการศึกษานครลำปาง ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่รวมพลังกันจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในจังหวัดลำปางให้ประสบความสำเร็จ การทำงานบูรณาการเรียนรู้สู่ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ ที่ลำปาง คือการประกอบการทำงานจากหน่วยงานเล็ก ๆ จนเป็นระบบดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาสขนาดใหญ่ ซึ่งจะจุดประกายให้เกิดความร่วมมือที่กว้างออกไป ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของคนทั้งจังหวัด
“โครงสร้างสมัชชาการศึกษาจังหวัดลำปาง ได้เชื่อมโยงการทำงานเข้ากับ กสศ. เพื่อครอบคลุมเด็กเยาวชนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่งานของสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษาภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษ ที่จะค้นหาและติดตามเด็กกลับเข้าสู่ระบบ และส่งต่อไปยังความช่วยเหลือที่เหมาะสม ต่อมาคือโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนผ่านฐานข้อมูลของ กสศ. ซึ่งสำรวจผ่านบุคลากรในสถานศึกษาต้นสังกัดและคณะทำงานภาคส่วนอื่น ๆ ส่วนที่สามคืองานของสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาผ่านโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และโรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP) ซึ่งทำให้เกิดโอกาสของการระดมเครือข่ายการพัฒนาครูในพื้นที่ร่วมกัน และสามารถส่งต่อการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับบริบทโรงเรียน และสี่คืองานของสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ ที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของแหล่งฝึกอาชีพในชุมชน และขยายเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับพื้นที่ชุมชนอื่น ในฐานะโมเดลการพัฒนาชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างระบบนิเวศชีวิตที่เหมาะกับคนทุกช่วงวัย นอกจากนี้ทางสมัชชาการศึกษาลำปางยังได้ทบทวนถึงการขยายบทบาทการทำงานโดยจะเพิ่มจำนวนสมาชิก และวางระบบโครงสร้างที่สามารถรองรับส่วนงานที่กำลังจะขยายไปพร้อมกับภาคีเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น” ดร.วิยดา กล่าว