เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จับมือกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนเอกชนประเภทศึกษาสงเคาระห์) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล) และ สถาบันร่วมพัฒนา 11 สถาบัน ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (2) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (3) มูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต (4) มูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา (5) มหาวิทยาลัยนเรศวร (6) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (7) มูลนิธิสยามกัมมาจล (8) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 2 (9) มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม (10) มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และ (11) ศูนย์ยวพัฒน์ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พร้อมด้วยภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) และ Thai PBS จัดงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” โดยมีครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และนักการศึกษารวมกว่า 200 คนเข้าร่วม ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. เผยข้อค้นพบสำคัญและก้าวต่อไปของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 – 2566 โดยมีโรงเรียนขนาดกลาง ในสังกัด สพฐ. สช. และ อปท. เข้าร่วมการดำเนินงานกว่า 700 แห่ง ใน 41 จังหวัด ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค มีนักเรียนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 250,000 คน ซึ่งโครงการฯ มีเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
1.โรงเรียน มีอิสระ สนับสนุนโรงเรียนให้สามารถพัฒนาตนเองและเป็นแกนนำ (agentic schools) การขับเคลื่อนเครือข่ายของโรงเรียนพัฒนาตนเองได้ โดยมีอิสระในการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนและชุมชน สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ต่อเนื่อง
2.ชุมชน ร่วมสร้าง พัฒนาระบบนิเวศทางการศึกษา (ecosystem) โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน หรือ ALL FOR EDUCATION เพื่อให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม อย่างเต็มตามศักยภาพ
3.หน่วยงาน สนับสนุน สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย ที่สามารถนำไปสู่การขยายผลและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กสศ. ได้สนับสนุนมาตรการและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาโรงเรียน 6 ประการ เพื่อให้เกิดเป็นวงจรหนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการและพัฒนาผู้เรียนได้ คือ
- เป้าหมายของโรงเรียนที่มีคุณภาพ (School goal)
- ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional learning community: PLC)
- ระบบสารสนเทศคุณภาพ (Q-Info)
- นวัตกรรมในชั้นเรียนที่มีคุณภาพ (Classroom Innovation)
- เครือข่ายการทำงานร่วมกัน (Network)
- ระบบดูแลช่วยเหลือและความปลอดภัยของนักเรียน (Student support & Safety)
นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลเชิงพัฒนา (Developmental evaluation: DE) เป็นเครื่องมือสนับสนุนวงจรการพัฒนาของโรงเรียน
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. ระบุว่า บทพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนพัฒนาตนเองกว่า 700 โรงเรียนที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเองตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 – 2566 เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
- นักเรียนกว่า 250,000 คน อยู่ในระบบนิเวศการศึกษาที่มีคุณภาพ
- โรงเรียน 700 แห่ง ปรับเปลี่ยนเป็นชุมชนเรียนรู้ของนักเรียน ครู ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน โดย 20% ก้าวสู่ “ต้นแบบโรงเรียนพัฒนาตนเอง” และสามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้เพื่อนต่างโรงเรียนและเครือข่าย
- ผู้บริหาร เปลี่ยนวิธีคิดในการพัฒนา มีวิสัยทัศน์ มุ่งเน้นนักเรียนเป็นสำคัญ เป็นผู้นำทางวิชาการ และผู้นำการเปลี่ยนแปลง
- ครู เปลี่ยนจากผู้สอน เป็นครูผู้ก่อการ (teacher agency) ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กทุกคน สร้างการเรียนรู้เชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นผู้ให้อย่างไร้รอยต่อ
- พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษากับโรงเรียน สนับสนุนทรัพยากรหลากหลายรูปแบบ ติดตามดูแล ป้องกันปัญหาและร่วมรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
- ศึกษานิเทศก์ มีทักษะการโค้ช สนับสนุนการนำนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูที่หลากหลาย ประยุกต์ ต่อยอด และขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ
- หน่วยงานต้นสังกัด เกิดนโยบายทั้งส่วนกลาง และพื้นที่ หนุนให้โรงเรียนมีอิสระ เลือกใช้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหานักเรียนทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยงและเพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้
ด้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ผลการสุ่มติดตามนักเรียนในโรงเรียน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ พิษณุโลก จำนวน 321 โรงเรียน พบว่า อัตราการคงอยู่ของนักเรียนเพิ่มจาก 93.92% ในปี 2562 เป็น 96.11% ในปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ TSQP ลดลง ในปีการศึกษา 2566 สามารถยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน 81,098 คน ทั้งแนวกว้างและลึก นักเรียนทุกคนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง
ขณะที่การเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพในโรงเรียนและชุนชน ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนผ่านตัวชี้วัด V-A-S-K อยู่ในระดับดี (V – values ค่านิยม A – attitude เจตคติ S – skills ทักษะ, K – knowledge ความรู้ ) นักเรียนกลุ่มเสี่ยง 9 ลักษณะปัญหา จำนวน 66,647 คน ได้รับการดูแลช่วยเหลือพ้นวิกฤต ประมาณ 51,000 คน (78%) จากมาตรการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ขณะที่ 22% อยู่ระหว่างการช่วยเหลือและส่งต่อ
ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เมื่อถอดบทเรียนการดำเนินงาน กสศ. และภาคีมีข้อค้นพบซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จของแกนนำโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่นำมาสู่ข้อเสนอนโยบายเพื่อขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองในอนาคตอย่างยั่งยืน ดังนี้
1.ขยายผลโรงเรียนพัฒนาตนเอง ครอบคลุมทุกสังกัด ทั่วประเทศ ด้วยพลังของทุกคนในพื้นที่ ร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมรับผิดและรับชอบต่ออนาคตของเด็กทุกคนด้วยกัน
2.ทำงานร่วมกับท้องถิ่น เพื่อผลักดันวาระ ALL FOR EDUCATION หรือ ปวงชนเพื่อการศึกษา ทุกหน่วยงานในพื้นที่ทำงานเชื่อมโยงและบูรณาการเพื่อสนับสนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ ทั้งสังกัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ สนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียน ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโรงเรียนอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
3.โรงเรียนมีทรัพยากรที่เพียงพอ ฝ่ายนโยบาย ปรับสูตรการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อความจำเป็นพื้นฐานของโรงเรียน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและการสื่อสาร อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ การเดินทาง การรักษาพยาบาล สุขภาพและความปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดการศึกษาและการพัฒนาโรงเรียนทั้งในภาพรวม และรายกรณีที่เป็นการเฉพาะซึ่งทำให้เกิดการทำงานร่วมกันได้ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น
4.เชื่อมโยงการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองกับสถาบันผลิตและพัฒนาครู ส่งเสริมให้สถาบันพัฒนาหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่น เข้ามาสนับสนุนและพัฒนาครูร่วมกับต้นสังกัดของโรงเรียน (สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล เป็นต้น) ในลักษณะความรับผิดชอบร่วมกันพัฒนา ( co-operative school development) เพื่อการผนึกกำลังและสร้างความเข้มแข็งของระบบการจัดการศึกษาในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
5.หน่วยงานต้นสังกัดเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุน โดยหนุนให้โรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการเรียนรู้ตามเป้าหมายและบริบทของโรงเรียน เสริมพลังและสร้างแรงจูงใจแก่ผู้บริหาร และครู ให้โรงเรียนเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีอิสระในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ เสริมพลังอำนาจ (empowerment) และส่งเสริมการบริหารจัดการตนเองของ ลดการสั่งการ เปลี่ยนเป็นการอำนวยความสะดวก สนับสนุนส่งเสริม ให้กำลังใจ และแก้ปัญหาเชิงระบบที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนและโรงเรียน ให้โรงเรียนใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเป็นฐานและต่อยอดการพัฒนาด้วยระบบการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) รวมทั้งการจัดให้มีองค์กรหรือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนและหรือวิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการ และการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกและท้องถิ่น
“ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากพลังความร่วมมือของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานต้นสังกัด ตลอดจนภาคีเครือข่ายร่วมพัฒนาทั้ง 11 สถาบัน ที่ช่วยกันทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยยึดเด็กทุกคนเป็นตัวตั้งในการทำงานตลอดมา” ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าว