เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน ‘ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปีการศึกษา 2566’ ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงกว่า 2,000 คน จากสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ เอกชน วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยในกํากับของรัฐและเอกชน จํานวน 69 แห่งใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี และเวทีคู่ขนานในพื้นที่ภูมิภาค 9 จังหวัด
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวว่า กสศ. เชื่อมั่นตลอดมา ว่านักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง คือผู้ที่มีขีดความสามารถและศักยภาพที่จะได้รับการพัฒนาเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต จึงได้พยายามผลิตนักศึกษาออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 5 โดยสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมีส่วนในการคัดเลือกและคัดกรองนักศึกษาทุนทั้งหมด 2,221 คน จาก 66 สถานศึกษา ใน 33 จังหวัด โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยทุน 5 ปี จำนวน 594 คน ทุน 2 ปี หรือ 2.5 ปี จำนวน 1,230 คน ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาผู้ที่มีความต้องการพิเศษ 124 คน และทุน 1 ปี จำนวน 406 คน
ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ กล่าวว่า กสศ. ตระหนักว่าการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ดังนั้น การสร้างโอกาสในการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นและมีงานรองรับ จะเป็นทางออกหนึ่งในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ หากนักศึกษาทุนกลุ่มนี้มีรายได้สูงขึ้น ย่อมเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสในชีวิตที่มากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และหยุดวงจรความยากจนที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นให้สิ้นสุดลงในรุ่นของพวกเขาได้
“วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศให้ก้าวข้ามความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยออกแบบให้เกิดผล 3 ด้าน 1.) เยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และขาดโอกาสทั่วประเทศ สามารถศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาได้ 2.) สร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันการศึกษา และ 3.) ตอบโจทย์ระดับประเทศ ที่มีเป้าหมายรองรับยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งมีความต้องการนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง
“ปัจจุบันประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น เยอรมนี เกาหลีใต้ ไต้หวัน ให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาให้สามารถรองรับอุตสาหกรรม 4.0 ค่อนข้างมาก ทำให้สามารถพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้ ขณะที่ประเทศไทยมีแรงงานทักษะสูงเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงต้องเร่งพัฒนากำลังแรงงานกลุ่มนี้ให้มากที่สุด เพราะหากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อไปสู่ประเทศรายได้สูง จะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาสายอาชีพและหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนา เพื่อจูงใจผู้เรียนที่มีศักยภาพเข้ามาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่านักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูงจะเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศได้ในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ กล่าว
เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า อาชีพต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง อาชีวศึกษาจึงไม่สามารถจัดการศึกษาแบบเดิมได้ แต่ต้องมองตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ สถาบันอาชีวศึกษาในฐานะต้นทางการผลิตกำลังคนของประเทศ ต้องทบทวนเรื่อง Future Skill หรือทักษะในอนาคต โดยเฉพาะการ Upskill Reskill เพื่อรับมือการก้าวเข้ามามีบทบาทของ AI รวมถึงแรงงานต้องปรับสภาพการทำงานให้เข้ากับโลกยุคใหม่
เรืออากาศโทสมพร กล่าวว่า ทุนนี้จะเป็นจุดคานงัดสำคัญที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคขึ้นในสังคมไทย การพัฒนาประเทศนั้นต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคน และหัวใจสำคัญของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คือ ประชาชนต้องได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ
การศึกษาคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้จับมือกับ กสศ. เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีความเสมอภาคด้านผลลัพธ์การเรียนรู้ และการเข้าถึงการเรียนรู้โดยใช้ศักยภาพด้านการศึกษาอย่างเต็มที่ ให้สามารถนำไปสู่การมีงานทำ สร้างกลไกการศึกษาและการฝึกอบรมนอกระบบ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการมีงานทำและการเรียนรู้ตลอดชีวิต แม้จะมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่ก็สามารถบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
“อาชีวศึกษาจะเดินหน้าผลิตและพัฒนาอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง เพื่อการพัฒนาประเทศ ด้วยระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ตอบสนองการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก้าวไปสู่ ฉากทัศน์ (scenario) ที่ทุกคนอยากเห็น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยเข้ามาศึกษา เรียนรู้ ต่อยอดอาชีพ พัฒนาทักษะตนเอง มีระบบเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการ สร้างงาน สร้างคน สร้างชาติ จากอาชีวศึกษาทวิภาคีคุณภาพสูง จบแล้วมีงานทำ รับรองคุณภาพและคุณวุฒิผู้เรียน จากสถาบันหรือศูนย์ทดสอบทั้งในระดับประเทศและสากล” เรืออากาศโทสมพร กล่าว
นอกจากนี้ จะมีการฝึกอบรมทักษะ พัฒนาอาชีพ ตามความจำเป็นและเป้าหมายชีวิต ผ่านการออกแบบมาตรการจูงใจสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารหน่วยกิต/เครดิตแบงค์ หรือการเทียบโอนประสบการณ์ การเรียนภาคสมทบ การสนับสนุนเงินอุดหนุน สิทธิประโยชน์ทางภาษี สร้างเครือข่ายการทำงานอย่างเป็นระบบ รวมถึงสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค ตอบโจทย์สภาพปัญหาที่มีอยู่จริงในแต่ละพื้นที่
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องแสดงความยินดีกับนักศึกษาทุกคนที่ผ่านการคัดกรองและคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2566 ซึ่งเดิมจะเป็นรุ่นสุดท้ายของโครงการ แต่ด้วยความสำเร็จของโครงการนี้จากรุ่นที่ผ่าน ๆ มา กสศ. จึงเดินหน้าสนับสนุน โครงการนี้ต่อไป และเตรียมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง
“ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ คือหนึ่งในผู้สมัครรับทุนการศึกษา จำนวน 3,571 คน ที่ผ่านกระบวนการคัดเลือกของสถานศึกษาแต่ละแห่งอย่างเข้มข้น ทำให้ กสศ. เชื่อมั่นว่า น้อง ๆ ทุกคนเป็นคนที่มีคุณสมบัติ มีคุณภาพ มีความรู้และทักษะ พร้อมที่จะเรียนในสาขาวิชาชีพจนสำเร็จการศึกษาตามกำหนดเวลา และพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ และในตอนนี้ถือว่าทุกคนได้รับความสำเร็จก้าวแรกแล้วจากโอกาสเข้าศึกษาต่อในสายอาชีพที่เลือก อันเป็นการศึกษาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และขอให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาตนเอง ให้มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ เป็นบุคลากรที่มีสมรรถนะสูง พร้อมที่จะประกอบอาชีพที่ใฝ่ฝัน ทำงานร่วมกับองค์กรที่น้อง ๆ อยากร่วมงานด้วย หรือเป็นผู้ประกอบการสร้างธุรกิจของตัวเอง”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ทุนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในชีวิตของทุกคนที่จะค้นหา เรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง โดยมีครอบครัว คุณครู ผู้บริหารสถานศึกษา คอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คอยหนุนเสริม เติมเต็มกระบวนการเรียนการสอน มีทีมงานโค้ชสุขภาพจิตในพื้นที่ คอยเป็นที่ปรึกษาและให้กำลังใจ พร้อมด้วยภาคีจากภาคส่วนต่าง ๆ ในทุกสังกัดคอยสนับสนุนดูแลในด้านต่าง ๆ
“ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ การสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ในฐานะที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประชากรที่มีคุณค่า เป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศไทย โดยใช้ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับการหล่อหลอมจากการศึกษาในการทำงาน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดี” ดร.ไกรยส กล่าว
นางสาวสโรชา ศรีสอาด นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสยาม (สยามเทค) สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงเข้ามาช่วยเติมความหวังให้ชีวิต จากที่ก่อนหน้านี้เคยคิดว่าจบการศึกษาภาคบังคับแล้วจะต้องหยุดเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังส่งเสีย ซึ่งทุนนี้ได้เปิดโอกาสให้ได้พิสูจน์คุณค่าของตัวเอง หลังจากนี้จะตั้งใจเรียนให้จบการศึกษาและนำความรู้ที่ได้รับมาไปพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติในอนาคต
นางสาวกรรณิการ์ สะเภาคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาผู้ช่วยพยาบาล กล่าวว่า ตั้งใจเลือกเรียนสาขานี้เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้แล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
เช่นเดียวกับนายศุทธวีร์ ธาราวรณ์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก สาขางานการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กล่าวว่า ด้วยฐานะค่อนข้างลำบากและจัดอยู่ในกลุ่มคนพิเศษที่ประสบปัญหาด้านการได้ยิน จึงทราบดีว่าโอกาสในการได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมาได้พยายามมาแล้วหลายช่องทาง เมื่อได้รับทุนนี้จึงเป็นเสมือนแสงสว่างของชีวิต สามารถก้าวต่อไปในเส้นทางการศึกษาที่เคยตั้งใจไว้ และในอนาคตจะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาดูแลครอบครัวและประเทศชาติต่อไป