กสศ. จังหวัดสมุทรสาคร ยูนิเซฟ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมปฏิบัติการขยายผลฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้นักเรียน

กสศ. จังหวัดสมุทรสาคร ยูนิเซฟ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมปฏิบัติการขยายผลฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้นักเรียน

นายอาคม ศาณศิลปิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการศึกษาในวงกว้าง เช่นเดียวกับจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประสบปัญหานักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนได้เป็นเวลาหลายเดือน และครูได้รับผลกระทบ การปิดโรงเรียนและการเรียนการสอนทางไกลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรและการเรียนการสอน ส่งผลให้เกิดภาวะความรู้ถดถอยในหลายมิติ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ การอ่านเขียน ด้านอารมณ์และสังคม

“ปัญหาด้านการศึกษาที่จังหวัดสมุทรสาครเผชิญในช่วงนั้น เป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักเป็นจังหวัดแรก มาตรการและโครงการฟื้นฟูการเรียนถดถอย จึงถูกนำมาใช้กับพื้นที่ เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบการทำงาน ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้กับครูจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยให้ครูมีทักษะในการจัดการเรียนการสอนอย่างหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ช่วยให้เด็กในจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเรียนรู้ได้ดีในสถานการณ์ที่กำลังเกิดวิกฤตด้านการเรียนรู้”

อาคม ศาณศิลปิน

นายอาคม กล่าวว่า การดำเนินการและความร่วมมือในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิด “สมุทรสาครโมเดล” ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมมาช่วยกันหาทางแก้ไข จนสามารถสร้างกระบวนการที่ช่วยลดภาวะการเรียนรู้ถดถอย รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ไม่ให้ขาดช่วงเมื่อโรงเรียนกลับมาเปิดได้ โดยมีเครือข่ายอย่างองค์การยูนิเซฟและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาช่วยในหลายด้าน เช่น นำแนวคิดฟื้นฟูพัฒนาระดับนานาชาติมาสนับสนุน สามารถรักษาเด็กไม่ให้หลุดจากระบบ ระบบส่งต่อช่วยเหลือนักเรียนในภาวะฉุกเฉินทางการศึกษา จัดระบบส่งเสริม-ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต เพื่อปรับอารมณ์และความพร้อมด้านสังคมของเด็ก ฯลฯ

“ความร่วมมือระหว่างองค์กร ทั้งยูนิเซฟ กสศ. มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม โรงเรียน และองค์กรทุกสังกัดในจังหวัด ทำให้สมุทรสาครสามารถสร้างแรงกระเพื่อมในการต่อสู้กับภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ได้ตั้งแต่ในวันที่ยังไม่เปิดเรียนปีการศึกษา 2565  และส่งผลให้ในวันนี้เราได้เห็นแล้วว่าการทำงานได้ช่วยฟื้นฟูเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในเด็ก ๆ ได้อย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันยังได้เกิดผลพลอยได้อีกด้านหนึ่ง คือการพัฒนาครูให้มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย และสามารถเรียนรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยแก้ปัญหาได้มากขึ้น โดยหลังจากนี้เชื่อว่าแม้ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตอีกกี่ครั้ง ก็มั่นใจได้ว่าเด็กในพื้นที่สมุทรสาคร จะเข้าถึงการพัฒนาตนเอง องค์ความรู้ และทักษะชีวิตได้อย่างเสมอภาคทุกคน” ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์

ดร.รังสรรค์ วิบูลย์อุปถัมภ์ เจ้าหน้าที่การศึกษาขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ผลจากการทำงานที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาความรู้ถดถอยของนักเรียน โดยสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมต่าง ๆ มาผสมผสานในการสอนแล้ว ผลที่ได้รับจากความร่วมมือในการทำงานครั้งนี้ ยูนิเซฟจะนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน

ดร.รังสรรค์ กล่าว่า คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครได้แนะนำให้มีการนำโมเดลนี้ ไปขยายผลเพื่อให้เกิดแรงเสริมหนุนด้านการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ของการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรสาคร กสศ. มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม และยูนิเซฟ ประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมเสริมความเข้มแข็งอบรมออนไลน์ให้กับคณะครูในจังหวัดสมุทรสาครผ่านเครือข่าย ONE TEACHER Thailand

“การทำงานนี้จะประสบผลสำเร็จไม่ได้เลย หากขาดกลไกสำคัญคือ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด หน่วยงานในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และแรงพลังที่ขับเคลื่อนที่มาจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  ประสบการณ์ในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของจังหวัดสมุทรสาครนี้ จะจุดประกายและส่งเสริมให้การศึกษาของประเทศไทยได้มีอัตราเร่งในการพัฒนาการเรียนรู้ให้สมกับความตั้งใจที่จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”

ดร.รังสรรค์ กล่าวอีกว่า โครงการนี้ ได้ออกแบบมาตรการสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อพัฒนาทักษะครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน, การจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning, การใช้เทคโนโลยีการสารสนเทศและการ สื่อสาร รวมถึงการจัดการเรียนการสอนและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านต่าง ๆ เพื่อลดช่องว่างของความสามารถในการจัดการเรียนสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิค-19 โดยมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมได้มีการจัดทำเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะครูและบุคลากร เพื่อช่วยฟื้นฟูภาวะความรู้ของผู้เรียนในโครงการนี้ ประกอบด้วย บทเรียนออนไลน์ 10 บทเรียน, การอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านสื่อออนไลน์ 20 ครั้ง, การอบรมและให้ปรึกษาวางแผนการโค้ช, การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (PLC), การสนับสนุนเครื่องมือเพื่อการจัดการเรียนรู้ ได้แก่ สื่อการเรียนการสอน, เครื่องมือการเรียนรู้, ชุดการเรียนรู้ (Learning Box และ Learning Bag) และสื่อ Micro Learning ส่งเสริมการอ่านเขียน คณิตศาสตร์และการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์สังคม สำหรับครู ผู้ปกครอง หรือตัวแทนชุมชน และผู้เรียนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 360 บทเรียน โดยครูทั่วประเทศสามารถเข้าไปติดตามเนื้อหาต่าง ๆ ได้จากแพลตฟอร์มของ Starfish Labz