Thailand Zero Dropout (TZD) “การลงทุนที่ทรงพลังที่สุดสำหรับอาเซียนในวันนี้”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. นำเสนอในการประชุมสุดยอด AVPN Southeast Asia Summit 2025

Thailand Zero Dropout (TZD) “การลงทุนที่ทรงพลังที่สุดสำหรับอาเซียนในวันนี้”

25 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รับเกียรติให้เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษ (Keynote Speech) ในหัวข้อ “การลงทุนที่ทรงพลังที่สุดสำหรับอาเซียนในวันนี้” ซึ่งนำเสนอประสบการณ์จากประเทศไทยผ่านโครงการ Thailand Zero Dropout (TZD) ที่มุ่งแก้ปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ในการประชุมสุดยอด AVPN Southeast Asia Summit 2025 สร้างอนาคตการศึกษาที่เท่าเทียมในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ประเทศสิงคโปร์

การประชุมสุดยอด AVPN Southeast Asia Summit 2025 เป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากทั่วภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในภูมิภาค โดยครั้งนี้มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษา (Out-of-School Children and Youth หรือ OOSCY) ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนถึง 11.8 ล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยเมื่อปี 2566 ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามากถึง 1.02 ล้านคน ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

ผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา โดยการประเมินพบว่า ต้นทุนทางสังคมจากการละเลยปัญหาเด็กที่ไม่ได้รับการศึกษาอาจมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก หรือคิดเป็น ร้อยละ 0.3-2.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

วิกฤตการณ์นี้ยิ่งทวีความรุนแรงในบริบทของภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างรวดเร็ว โดยรายงานจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ปี 2567 ระบุว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังประสบปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิงคโปร์และไทยมีอัตราการเจริญพันธุ์รวม (จำนวนบุตรโดยเฉลี่ยต่อสตรีหนึ่งคนตลอดวัยเจริญพันธุ์) เพียง 1.04 และ 1.32 ตามลำดับในปี 2565 นับเป็นสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของทั้งสองประเทศ

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากับวิสัยทัศน์สู่ Thailand Zero Dropout (TZD)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท

ในการปาฐกถา ดร.ไกรยส ได้เน้นย้ำว่า “การศึกษายังคงเป็นรากฐานสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ในขณะที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ ทุกประเด็นของการประชุม AVPN SEA Summit ตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์และเพศสภาพ ไปจนถึงความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินแบบผสมผสาน และการลงทุนเพื่อผลกระทบล้วนเชื่อมโยงกับการศึกษา อันที่จริงแล้ว ทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสามารถได้รับประโยชน์จากเป้าหมายที่ 4 หรือการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคนในอาเซียน”

ดร.ไกรยส ได้นำเสนอความสำเร็จของโมเดล TZD ที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของ 21 หน่วยงานภาครัฐ และการระดมทรัพยากรทั้งจากงบประมาณแผ่นดิน สลากกินแบ่งรัฐบาล และเงินทุนจากภาคเอกชนผ่านตลาดการเงิน ในการขับเคลื่อนโครงการสู่เป้าหมายคืนโอกาสทางการศึกษาให้เด็กนอกระบบกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศไทย

“ตลอดปีแรกนับจากการเปิดตัวโครงการระดับชาติ เราได้ระดมอาสาสมัครกว่า 75,000 คน เริ่มต้นโครงการค้นหาเด็กนอกระบบใน 26 จังหวัดในปี 2567 และจะขยายให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดภายในปี 2569” ดร.ไกรยส กล่าว พร้อมเปิดเผยว่า ในช่วงปี 2567-2568 จำนวนเด็กนอกระบบการศึกษาในประเทศไทยได้ลดลงไปแล้วกว่า 300,000 คน แต่ยังมีภารกิจอีกมากที่ต้องดำเนินการต่อไป

นวัตกรรมทางการเงินเพื่อการศึกษา: จาก Social Impact Bond สู่ Impact Collab

ดร.ไกรยส ยังได้นำเสนอตัวอย่างนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการศึกษา โดยกล่าวถึงความสำเร็จของ Social Impact Bond ด้านการศึกษาปฐมวัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ Tri-Sector โดยได้รับการสนับสนุนจากนักการกุศลในสิงคโปร์และไทย

“โครงการนี้กำลังดำเนินไปตามเป้าหมายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยใน 80 ศูนย์ทั่วประเทศไทยใน 7 จังหวัด และเรากำลังร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทดลองและขยายการดำเนินงานในพื้นที่ของพวกเขาเอง” ดร.ไกรยส กล่าว

นอกจากนี้ ดร.ไกรยส ยังได้ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญว่า “กสศ., AVPN และ Tri-Sector กำลังร่วมกันเปิดตัวแนวตั้งด้านทักษะและการดำรงชีวิต (Skilling and Livelihoods vertical) ของ ImpactCollab Outcomes Marketplace ในเดือนกันยายน 2568 เพื่อขยายการใช้แนวทางการให้ทุนตามผลลัพธ์ (outcomes-funding approaches)”

โครงการ ImpactCollab ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) และมูลนิธิเกตส์ (Gates Foundation) ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญสำหรับความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่มากขึ้นระหว่างผู้ให้ทุนภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐ

“เราหวังว่าจะได้แบ่งปันการเรียนรู้ของเราและช่วยระดมทุนสำหรับเด็กนอกระบบโรงเรียน รวมถึงมุ่งสู่วาระเร่งด่วนด้านการพัฒนามนุษย์และวาระที่เกี่ยวข้องอีกมากมายในภูมิภาค” ดร.ไกรยส กล่าวเสริม

สู่เป้าหมาย ASEAN Zero Dropout ภายในปี 2573

ดร.ไกรยส ได้เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “ASEAN Zero Dropout” ให้เป็นจริงภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยเน้นย้ำว่า “ราคาของการไม่ดำเนินการนั้นมหาศาลอย่างที่เรารู้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันในวงกว้าง โดยใช้หลักฐานในการประเมินใหม่และกระตุ้นนวัตกรรมเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

การประชุมสุดยอด AVPN ครั้งนี้เป็นการเรียกร้องให้ลงมือปฏิบัติ (call to action) เพื่อร่วมมือกัน สร้างนวัตกรรม และลงทุนในเรื่องสำคัญอย่างการศึกษาซึ่งเป็นกุญแจสู่อนาคตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดร.ไกรยส กล่าวทิ้งท้าย