“กสศ. ขอประกาศและแสดงเจตนารมย์ว่า กสศ. จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางการศึกษาไปด้วยกัน ให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค ด้วยแนวคิด Education for All – All for Education ปวงชนเพื่อการศึกษา ให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว”
ในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) จัดขึ้น ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. ได้นำประกาศเจตนารมณ์รวมพลังพื้นที่ขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง จาก TSQP สู่ TSQM ที่เป็นการยกระดับจากการทำงานในลักษณะโครงการที่เป็น Program ไปสู่การทำงานในลักษณะของขบวนการ Movement ดังต่อไปนี้
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็นพลังความร่วมมือ ขับเคลื่อนการพัฒนาให้เกิดโรงเรียนพัฒนาตนเองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ด้วยเป้าหมายของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ที่มุ่งส่งเสริมให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเข้มแข็ง ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กสศ. ที่มุ่งเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1.การเข้าถึงการเรียนรู้ (Learning Access) โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กในช่วงการศึกษาภาคบังคับ 2.การพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแง่คุณภาพการศึกษา 3.การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในกระบบการศึกษาหรือหลุดออกไปแล้วไม่สามารถกลับเข้ามาเรียนในระบบการศึกษาแบบเดิมได้ และที่สำคัญคือ 4.การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (System Change) โดยใช้ข้อมูล นวัตกรรม องค์ความรู้ และผลเชิงประจักษ์ที่จะสามารถเป็น “คานงัด” และ “ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง” เชิงระบบ จากผลที่เกิดขึ้นจึงเป็นความสำเร็จที่ตอบเป้าหมายทั้ง 4 ประการดังกล่าว ซึ่ง กสศ. เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่าย และทุกท่านที่ร่วมสร้าง และร่วมเป็นเจ้าของมาด้วยกัน
ในฐานะที่ กสศ. มีบทบาทหรือทำหน้าที่เป็น “กลไกเหนี่ยวนำความร่วมมือ” ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษาเพื่อให้บรรลุผลนั้น จำเป็นต้องทำงานเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มเป้าหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยแนวคิดของการการพัฒนาและเป็น “ตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่ยั่งยืน (Catalyzing Changes for Sustainable Impact)” ที่จะส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและยืดหยุ่น พร้อมได้รับการพัฒนาตามความต้องการเต็มตามศักยภาพ สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
สำหรับก้าวต่อไปของการทำงาน จากบทเรียนของโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ที่ได้สร้างต้นทุนทางปัญญา (Wisdom) ไว้อย่างอย่างมากจึงนำมาสู่การขับเคลื่อนงานในลักษณะของขบวนการ หรือ Movement ในโครงการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQM เพื่อหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทางการศึกษา และร่วมกันสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้ ด้วยกลไกการทำงานในระดับจังหวัดและเครือข่าย เพื่อขยายผลให้มากกว่าโรงเรียนขนาดกลางทั้ง 700 แห่ง ที่ดำเนินงานมา โดยมุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญนี้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน ด้วยพลังจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมรับผิดชอบคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ของตนเองที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายการศึกษาของประเทศ และก้าวไปสู่ Thailand Zero Dropout ได้ในที่สุด
“ในโอกาสนี้ กระผมในนามตัวแทนของ กสศ. ขอประกาศและแสดงเจตนารมย์ว่า กสศ. จะร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงคุณภาพทางการศึกษาไปด้วยกัน ให้เด็กและเยาวชนทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค ด้วยแนวคิด Education for All – All for Educationปวงชนเพื่อการศึกษา ให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งเด็กคนใดไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว” ดร.อุดม วงษ์สิงห์
อ่านข่าว : กสศ. ชูบทพิสูจน์ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”
อ่านข่าว : ศธ. หนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ยินดีส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นได้ พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ทันการเปลี่ยนแปลง