25 เมษายน 2567 ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ปลุกพลังและเปิดมุมมองเรื่องการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นและเป็นไปได้เพื่อเด็กทุกคน ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ซึ่งมีครูและบุคลากรทางการศึกษาสมัครเข้าร่วมกว่า 150 คน จัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สมพงษ์ ชี้ว่า “การจัดการศึกษาที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง กล้าคิดนอกกรอบ” คือทัศนคติที่สำคัญของการสร้างห้องเรียนแห่งโอกาสเพื่อทำให้เด็กทุกคนได้เข้าสู่การศึกษา และ กสศ. จะสนับสนุนและร่วมมือกับทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน ทุกสถาบันการศึกษา เพื่อทำให้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบเกิดขึ้นให้ได้และเกิดการขยายผล
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็นการจัดการศึกษาที่มีกฎหมายรับรองถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 15 ที่เปิดโอกาสให้สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาในระบบด้วยหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน การศึกษานอกระบบที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม และการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ โดยที่สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้ง 3 รูปแบบเลยก็ได้ โดยให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ ทั้งจากสถานศึกษาเดียวกัน ต่างกัน รวมทั้งการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย ฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์ทำงาน และมาตรา 6 ที่มีใจความว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวชื่นชมรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีทิศทางและนโยบายสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วยแนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับครูและโรงเรียนเพื่อทำงานกับเด็กตามนโยบาย Thailand Zero Dropout ที่นายกรัฐมนตรีประกาศมุ่งเป้าลดจำนวนเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้เหลือศูนย์
“ความหมายของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติทั้งสองมาตรา เป็นจุดเริ่มต้นของการวางโครงสร้างระบบการศึกษาใหม่ที่เด็กเยาวชนทุกคนจะไม่ถูกกำหนดผ่านมาตรฐานเพียงลู่เดียว ระบบเดียว ทั้งยังกินความถึงแก่นแท้ของวิชาชีพครู ที่ไม่เพียงสอนหนังสือ แต่ยังต้องเป็นผู้มอบโอกาสการศึกษาตามสิทธิให้กับลูกศิษย์ โดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความสนใจ ความต้องการ และออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนรายคน เพื่อการพัฒนาศักยภาพมนุษย์คนหนึ่งอย่างเต็มที่
“การทำงานเช่นนี้ ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษาผ่านระบบและบุคลากรภายในกระทรวงศึกษาเอง เพื่อทำให้เกิดโครงสร้างและมาตรฐานที่หลากหลายขึ้น ซึ่งเราได้เห็นแล้วผ่านโรงเรียนต้นแบบ การพบกันครั้งนี้จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนการศึกษาไทยครั้งสำคัญก่อนเปิดภาคเรียนใหม่”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวถึงข้อมูลตัวเลขเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับ 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บูรณาการการทำงานสำรวจเด็กเยาวชนวัย 3-18 ปีที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 1,025,514 คน โดยมองว่าการสร้างโอกาสการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถพาเด็กกลับเข้าสู่การศึกษาได้
“เราต้องไม่ลืมว่า การพาเด็กกลับมาเรียนไม่ได้สิ้นสุดที่การพบตัวและพากลับไปที่โรงเรียน แต่การตามเด็กกลับมาแล้วจะทำให้เขาไปต่อได้ ต้องมีแนวทางรับมือที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีวิธีการที่เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กที่มีภาระหน้าที่ต่าง ๆ อาทิต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว หรือต้องไปประกอบอาชีพหารายได้ ดังนั้นเราต้องมีระบบศูนย์การเรียน มีการฝึกอาชีพ มีห้องเรียนแห่งโอกาส โดยเฉพาะในโรงเรียนขยายโอกาสและโรงเรียนขนาดเล็ก”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่ากุญแจสำคัญของการมาพบกันครั้งนี้ คือ ถ้าทุกโรงเรียนมองร่วมกันว่าจะเอาหลักสูตรเป็นตัวตั้ง แล้วคิดทะลุกรอบออกไป ช่วยกันบูรณาการสาระวิชาต่าง ๆ เข้าไปในกิจวัตรประจำวันหรือภาระงานของผู้เรียน เราจะมีวิธีรับมือกับเด็กทุกกลุ่ม ทุกความเสี่ยง และทุกทางแยกที่เด็กต้องเผชิญในชีวิต
“อย่าลืมว่าเด็กคนหนึ่งเมื่อออกจากโรงเรียน ก็เหมือนถูกผลักไปเป็นปัญหาสังคม แล้วไม่เกินสามเดือนชีวิตจะเข้าสู่วงจรสีเทา อย่างไรก็ตามงานหนึ่งที่ กสศ. ทดลองทำกับเด็กเยาวชนในสถานพินิจฯ ได้พิสูจน์ว่า ถ้าเราออกแบบการศึกษาที่หลากหลายและสอดรับกับความสนใจ การศึกษาจะทำหน้าที่ของมัน เป็นการนำโอกาสเข้าไปช่วยฟื้นฟูเยียวยาเด็ก ๆ ให้เขารู้สึกมีตัวตน ได้รับการยอมรับ แล้วเขาจะพาตัวออกจากวงจรเสี่ยง และกลับมาอยู่บนทิศทางที่เหมาะสมได้อีกครั้ง บทเรียนนี้บอกเราว่า ถ้านำวิธีการนี้ย้อนกลับไปทำที่้ต้นทางคือในโรงเรียน ซึ่งตัวกฎหมายเอื้อให้ทำได้ เราอาจลดปัญหาอาชญากรรมเด็ก จิตเวช ยาเสพติด และปัญหาอื่น ๆ ในสังคมพร้อมลดจำนวนเด็กเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้จำนวนมาก
“อีกประเด็นต้องกล่าวถึงคือในกระบวนการนี้ คือครูจะมีบทบาทสำคัญในการประคองชีวิตเด็กคนหนึ่ง ให้ไปถึงโอกาส ให้เข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา การเตรียมตัวเปิดเทอมใหม่นี้ จึงอยากชวนครูสำรวจครอบครัวศิษย์ เพื่อไปดูข้อเท็จจริงในชีวิตของเขาว่ามีข้อแม้อุปสรรคใด ที่ทำให้เด็กคนหนึ่งขาดเรียนบ่อยหรือมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง แล้วถ้ารู้สภาพจริงที่เด็กเผชิญอยู่ ก็จะสามารถนำข้อมูลนั้นกลับมาวางแผนดูแลช่วยเหลือได้ตรงจุด รวมถึงครูยังต้องเป็นผู้สื่อสารให้ข้อมูลกับผู้ปกครอง เพื่อปลูกฝังทัศนคติเชิงบวกต่อการศึกษาของบุตรหลาน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สพฐ. สร้างความเชื่อมั่น “โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาหลายรูปแบบได้ตาม กม.” พร้อมสนับสนุนขยายผล เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบ