เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงวิชาการด้านการพัฒนา เพื่อความยั่งยืนในมิติของเศรษฐกิจการค้า สังคม ความมั่นคง และกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หัวข้อ The Power of Six ‘สานพลัง ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยยั่งยืน’ ในงานสัมมนาวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง 6 สถาบัน ครั้งที่ 13 ซึ่งมีนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน จัดโดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ มีผู้แทนนักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงทั้ง 6 สถาบันประกอบด้วย หลักสูตร วปอ. หลักสูตร TEPCoT หลักสูตร ปปร. หลักสูตร พตส. หลักสูตร บ.ย.ส. และหลักสูตร วตท. เข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองเชิงวิชาการ เพื่อผลักดันการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยให้เกิดความยั่งยืน
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การหยิบยกเรื่องความเหลื่อมล้ำมาเป็นหัวข้อสัมมนาวิชาการ ถือเป็นความหวังสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยมีข้อมูล ชุดประสบการณ์และรายงานสถานการณ์จากผู้รู้ มาใช้เป็นเครื่องมือสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม เพราะภัยความมั่นคงที่คุกคามประเทศอยู่ ณ ปัจจุบัน หาใช่เรื่องกองกำลังทางการทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการรุกล้ำดินแดน แต่คือความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่าง ๆ โดยภาพที่เห็นชัดที่สุดคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาความยากจนที่ผ่านมา เรายังติดกับดักในการมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจ จนมองข้ามข้อเท็จจริงไปว่า ทุกครั้งที่รายได้ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวถึงจุดสูงสุด ในทางกลับกันช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งถ่างกว้างขยายตัวควบคู่ตามกัน ดังนั้นหัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องไม่ใช่มุ่งแต่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสามารถกระจายทรัพยากรไปถึงประชากรได้อย่างเป็นธรรม นั่นถึงจะถือว่าเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่แท้จริง
“ในความเหลื่อมล้ำที่ทับซ้อนหลายมิติ มีข้อมูลด้านการศึกษาที่ระบุว่าเด็กในเมืองกับเด็กในชนบทห่างไกล มีผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต่างกันอยู่มาก นี่คือภาพสะท้อนที่เปิดให้มองเห็นมิติความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ เป็นอย่างดี เพราะตัวชี้วัดนี้กำลังบอกว่าเรายังมีเด็กเยาวชนที่อยู่ห่างไกลจำนวนมากที่ขาดโอกาสพัฒนาตัวเองเพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากร หรืออาจเปรียบได้ว่า ถ้าประเทศไทยมีคน 100 คน จะมีเพียง 20 คนเท่านั้น ที่ถือครองทรัพยากรมากกว่า 80% โดยสถานการณ์ดังกล่าวอยู่กับสังคมไทยมานาน และยังมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น
“ฉะนั้นคำถามสำคัญก็คือ เราจะแก้โจทย์ความเหลื่อมล้ำจากตรงไหนก่อน ซึ่งข้อมูลหลายอย่างชี้ไปที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยเชื่อว่า ‘ความรู้’ จะเป็นต้นทุนในการเปิดประตูโอกาส เพื่อให้คนทุกคนมีทักษะในการเลี้ยงชีพอย่างเสมอภาค และนั่นหมายถึงเราต้องเริ่มต้นด้วยการทำให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทย สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกัน
“การสัมมนาครั้งนี้จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแนะแนวทางและนำข้อมูลมาใช้ ตั้งแต่การทำงานในระดับเล็ก ๆ จนไปถึงฝ่ายการเมืองผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลความรู้ มุมมอง และหลักฐานจากการทำงานที่สดใหม่จากผู้มีประสบการณ์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเส้นทางเดินที่มีความหวัง ว่าในวันหนึ่งข้างหน้า เราจะสามารถกำจัดความเหลื่อมล้ำให้หมดไปจากสังคมได้สำเร็จ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. ร่วมเวทีนำเสนอข้อมูลชุด ‘กลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน’ โดยเผยว่า ก่อนปี ค.ศ. 1997 ประเทศไทยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ 7% มาโดยตลอด จนถึง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ในปี ค.ศ. 1997 ตัวเลขการเติบโตได้ลดลงมาอยู่ที่ 5% และถึงปี ค.ศ. 2008 เมื่อเกิด ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ อัตราเติบโตจึงลดเหลือ 3% และท้ายที่สุดเมื่อวิกฤตโควิด-19 ในช่วง ค.ศ. 2019-2021 เศรษฐกิจไทยยิ่งชะลอการเติบโต โดยลดลงไปอยู่ที่ 1.6% ถึงปัจจุบัน ขณะที่ข้อมูลด้านโครงสร้างประชากรระบุว่า ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่และประชากรวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด เท่ากับว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีทุนทรัพยากรและบุคลากรที่จะมาสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขอีกมหาศาล คำถามคือ เราจะผลิตประชากรวัยแรงงานคุณภาพสูงที่จะมารับหน้าที่นั้นได้อย่างไร
“งานวิชาการของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า รายได้เฉลี่ยของประชากรไทยตลอดช่วงชีวิตการทำงานถึงอายุ 60 ปี ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 20,920 บาท ต่อคน/เดือน ขณะที่เป้าหมายประเทศไทยใน 20 ปี ต้องการให้ประชากรมีรายได้เฉลี่ย 38,000 บาท ต่อคน/เดือน ซึ่งเท่ากับว่ายังมีช่องว่างที่ห่างกันอยู่ถึง 40% เพื่อพาประเทศไทยหลุดจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง
“ขณะที่การเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคล 21 สังกัดหน่วยจัดการศึกษา จากระบบฐานข้อมูลกลางของกระทรวงศึกษาธิการ EDC : Education Data Center กับฐานข้อมูลรายบุคคล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 3 – 18 ปี ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาจำนวน 1.02 ล้านคน โดยราว 3-4 แสนคน เป็นเด็กปฐมวัยที่มีแนวโน้มไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา หรืออาจได้เข้าเรียนในช่วงอายุ 7-8 ปี การเข้าเรียนช้าจะทำให้มีปัญหาเรื่องพัฒนาการตามมา
“ส่วนเส้นทางของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้เมื่อเข้าสู่การศึกษา จะมีถึงกว่า 1 ใน 3 ที่อาจไม่ได้ศึกษาต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) นั่นหมายถึงว่าในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กน้อยลงเหลือราว 500,000 คนต่อปี หากเราปล่อยให้เด็กจำนวนราว 1 ล้านคนอยู่นอกระบบการศึกษา และอีกเกือบครึ่งของประชากรต่อรุ่นไม่ได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่ศักยภาพของตนมี จึงเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาประเทศด้วยสภาวะโครงสร้างประชากรที่หดตัวเช่นนี้”
ผู้จัดการ กสศ. เผยฐานรายได้ของเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาช่วงชั้นรอยต่อ ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่า หากมีวุฒิการศึกษาสูงสุดระดับ ป.6 ในการเข้าสู่ตลาดแรงงานจะมีรายได้เฉลี่ยตลอดช่วงชีวิตการทำงานถึงอายุ 60 ปี ราว 9,136 บาทต่อเดือน หากจบชั้น ม.ต้น จะมีรายได้เฉลี่ย 10,766 บาทต่อเดือน ม.ปลาย หรือเทียบเท่า 13,118 บาทต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าว ยิ่งยืนยันว่าประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อการเชื่อมรอยต่อทางการศึกษา เพื่อให้เด็กเยาวชนมีโอกาสพัฒนาตนเองจนสุดทาง และก้าวออกจากความยากจนได้ภายในรุ่นของเขา
อย่างไรก็ตาม ภารกิจดังกล่าวจะไม่มีทางลุล่วงไปได้ หากจะพึ่งพาการทำงานโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะการสร้างสมดุลทางสังคมด้วยการเติมทรัพยากรจากภายนอก ไม่ว่าภาคธุรกิจเอกชน หรือในนามบุคคล ที่สามารถเข้ามามีส่วนในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยได้ด้วยกันทั้งหมด หนึ่งในวิธีการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ไม่ยาก คือการบริจาคสนับสนุนเพื่อการศึกษา ซึ่งจะได้รับโอกาสลดหย่อนภาษีสองอีกด้วย ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
“กสศ. ร่วมกับสถาบันวิทยาการตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลกรมสรรพากร เรื่องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90 91) และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการบริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะฯ การสนับสนุนการศึกษา และอื่น ๆ ซึ่งจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 2 เท่า โดยข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพียง 6.5 แสนคน หรือ 17% ที่บริจาคเพื่อการศึกษา รวมเป็นเงิน 1.1 หมื่นล้าน คิดเป็น 0.3% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย
“ส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิบริจาคเพื่อการศึกษาเพียง 0.2% ของรายได้ก่อนหักภาษี จากสิทธิที่ใช้ได้สูงสุด 2% นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่ถึง 1 ใน 3 ของผู้มีรายได้สูง ใช้สิทธิบริจาคเพื่อการศึกษา โดยบริจาคเฉลี่ยต่อคนไม่ถึง 1% ของรายได้ ซึ่งทุกคนยังสามารถบริจาคให้การศึกษาเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มได้อีก 10 เท่า ดังนั้นหนึ่งในกลไกตลาดทุนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างยั่งยืน จึงอยู่ที่ว่าจะทำให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนมากขึ้นได้อย่างไร
“ในการประกอบธุรกิจ องค์กรหน่วยงานต่าง ๆ ล้วนใส่ใจสังคมไม่น้อยไปกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะถึงที่สุดแล้ว ความเป็นไปของสังคมก็คืออนาคตขององค์กร และนี่คือข้อเสนอว่าหากภาคนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการศึกษา บนความเชื่อที่ว่าการประกอบการธุรกิจ สามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและโลกได้ พื้นที่ตรงนี้จะเป็นเหมือน ‘Blue Ocean’ ซึ่งทรัพยากรอีกมากกว่า 90% จะไหลเข้ามาเติมพลังและช่วยพัฒนากลไกใหม่ ๆ ให้กับภาครัฐได้”
ดร.ไกรยส นำเสนอว่า การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้สนใจลงทุนด้านการศึกษาสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การส่งเสริมการออกตราสารหนี้เพื่อสังคม ( Social Bond: SB) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุนเพื่อการศึกษา, การส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคม (การศึกษา) ด้วยการออกกฎหมายส่งเสริมกิจกรรม CSR, ใช้มาตรการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนจดทะเบียนด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ESG: Environment Social Governance ที่มุ่งไปสู่การประเมินผลกระทบต่อสังคม (Double Materiality) และท้ายที่สุดสถานประกอบการที่ลงทุนด้านการศึกษา ควรได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้นอกเหนือจากเดิม
ทั้งนี้ ข้อเสนอเรื่องสิทธิการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงการคลังได้ลงนามเห็นชอบให้การลงทุนด้านการศึกษาโดยภาคเอกชน สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้
“อีกแรงจูงใจหนึ่งที่จะช่วยให้ภาคเอกชนเชื่อมั่นในการบริจาคมากขึ้น คือการทำให้ระบบมีความโปร่งใส แจกแจงเส้นทางการจัดสรรทรัพยากรให้กระจายลงไปได้อย่าง ‘สมมาตร’ หมายถึงจากต้นถึงปลายทาง ผู้บริจาคจะเห็นและตรวจสอบได้ว่า ‘ทุน’ ที่ลงไปนั้น ถึงมือผู้รับสมความตั้งใจหรือไม่ รวมถึงต้องมีการนำเสนอ ‘เคส’ หรือ ‘โมเดล’ ซึ่งแสดงให้เห็นความสำเร็จของการทำงาน เพื่อฉายภาพที่ชัดเจนว่าใครหรือกลุ่มใดที่ต้องการทุนทรัพยากรด้านการศึกษามากที่สุด”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวสรุปว่า มาตรการสนับสนุนการศึกษาด้วยการลดหย่อนภาษีสองเท่า คือกลไกที่จะเชื้อเชิญภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุนด้านการศึกษา เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยภาพของแต่ละเคส แต่ละพื้นที่ จะประทับและเกื้อหนุนภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
“…อยากขยายให้เห็นภาพใหญ่ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยหยิบยกเอาปรากฎการณ์ The Lost Einsteins มาอธิบายว่า ในเด็กเยาวชนแต่ละเจเนอเรชั่น จะมีทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นเหมือน ‘ช้างเผือก’ อยู่มากมาย อย่างไรก็ตามหากเราไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีโอกาสพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ในอนาคต เราจะไม่มีบุคลากรคุณภาพรุ่นใหม่ ๆ ในทุกสาขาอาชีพมาเติมเต็มคนรุ่นเก่าที่โรยราไป ดังนั้นเราต้องพร้อมลงทุนกับอนาคต เพื่อให้การศึกษามีคุณภาพ มีความเสมอภาคทางโอกาส แล้วการศึกษาจะเป็นต้นทางให้เราแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติอื่น ๆ ต่อไปได้
“…เพราะการลงทุนด้านการศึกษาและการพัฒนาคน จะเป็นการลงทุนที่ไม่มีวันสูญเปล่า และเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน”