เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 มีการจัดเสวนาเครือข่ายการศึกษา เด็กและเยาวชน ในหัวข้อ “ทิศทางการศึกษายุคใหม่สำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ : เปิดพื้นที่ ปิดช่องว่าง ลดความแตกต่าง บนความหลากหลาย” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 12 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร โดยมีภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงานเข้าร่วมประชุมทั้งในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์
ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวระหว่างร่วมการเสวนาในครั้งนี้ว่า โจทย์สำคัญด้านการศึกษาที่ทุกฝ่ายกำลังเผชิญร่วมกันและเป็นโจทย์สำคัญในหลายประเทศขณะนี้ คือเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งโจทย์นี้คุณครูหลายคนตามโรงเรียนต่าง ๆ คงพอจะเห็นภาพบ้าง โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้พยายามทำงานแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ พยายามช่วยเหลือกลุ่มที่เรียกว่า Last Mile คือกลุ่มนักเรียนยากจน 15 เปอร์เซ็นต์ ล่างสุดของประเทศ ว่าทำอย่างไร จึงจะให้เด็กกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้มากที่สุด
“ในแง่สถานการณ์ปัญหาของเยาวชนกลุ่มนี้ หัวใจสำคัญสำหรับปัจจุบัน น่าจะมีอยู่ด้วยกันสองสามเรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบ ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีด้านการศึกษาด้วย ทุกท่านคงจะทราบดีว่า ปรากฎการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การปิดโรงเรียนยาวนาน แม้จะมีการเรียนออนไลน์ก็ตาม แต่สิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและให้ความสนใจอย่างมากคือ เรื่อง Learning Loss หรือภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยของเยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก”
ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวเสริมว่า ภาวะเรียนรู้ที่ถดถอยของเยาวชน มีช่วงระยะเวลาต่อเนื่อง 1 – 2 ปีการศึกษา เพราะการปิดโรงเรียนไปใช้ระบบการเรียนแบบออนไลน์ ทำให้ความรู้หายไป เพราะฉะนั้นทิศทางการขับเคลื่อนที่มีความสำคัญและข้อเสนอขององค์กรในระดับนานาชาติ ไม่ว่าธนาคารโลก ยูเนสโก้ และยูนิเซฟ จึงบอกตรงกัน ว่าจะต้องมีการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอยของเยาวชนโดยเร่งด่วน
“ทำอย่างไรถึงจะมีการสอนเสริม หรือมีการประเมินเด็กเยาวชนในปัจจุบัน ว่าความรู้ที่มี ตรงกับระดับชั้นที่เรียนอยู่หรือเปล่า เพราะหากเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการดูแล จะมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบ เนื่องจากเรียนไม่ทัน หรือมองไม่เห็นประโยชน์ของการเรียน เพราะฉะนั้นเรื่องภาวะ Learning Loss จะต้องถามคุณครูว่าเจอเรื่องเหล่านี้หรือไม่ เพราะทาง กสศ.เจอปัญหานี้ไม่น้อยระหว่างการทำงาน”
ธันว์ธิดา ยกตัวอย่างกรณี ‘สมุทรสาคร โมเดล’ ว่า จากกรณีที่ จ.สมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีการปิดโรงเรียนยาวนานที่สุด ทาง กสศ.จึงกำลังทำโปรแกรมฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอยที่ จ.สมุทรสาคร แต่คุณครูและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ ก็สามารถมีนโยบายเรื่องนี้ในระดับโรงเรียนได้ ด้วยการลองวัดความรู้ของนักเรียนรายบุคคลดู ว่าตอนนี้อยู่ในระดับไหน มีภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือไม่
เรื่องที่สองที่เป็นประเด็นสำคัญไม่ต่างกัน คือเรื่องของสุขภาพจิต ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการเรียนออนไลน์ หรือความเหนื่อยล้าจากการเรียน ทำให้เยาวชนมีปัญหาเรื่องภาวะสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปรากฎการณ์นี้มีงานวิจัยบอกเอาไว้ว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันกว่าครึ่ง พบว่ามีปัญหาตั้งแต่อายุ 14 ปี
“เมื่อพบปัญหาตั้งแต่อายุ 14 ปี หากไม่ได้รับการตรวจหรือเข้ารับการบำบัด ก็จะทำให้ส่งผลระยะยาวไปจนกระทั่งชั่วชีวิต ฉะนั้นปัญหาภาวะสุขภาพจิตใจของเยาวชน จึงเป็นปัญหาหนึ่งที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญ ในภาพรวมของประเทศไทย ในแง่ของโรคซึมเศร้าก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย เรื่องของความเครียดสูง ก็มีตัวเลขเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ ที่เด็กบอกว่ามีความเครียดสูง ส่วนซึมเศร้าก็พบถึง 22 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบการเสียชีวิตของเยาวชนอายุ 15 – 19 ปี เรื่องการฆ่าตัวตาย จึงเป็นปัญหาที่มาเป็นอันดับสอง”
ธันว์ธิดา กล่าวว่า นอกจากเรื่องวิชาการแล้ว เรื่องของวิชาชีวิต หรือเรื่องสภาพจิตใจของเยาวชน จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่อยากจะชวนคุณครูและผู้บริหารสถานศึกษาทุกท่าน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้
“ที่อยากจะฝากคือ ในช่วงชีวิตเราที่มีเยาวชนผ่านเข้ามา เป้าหมายทุกคนเหมือนกันคืออยากให้เยาวชนประสบความสำเร็จ แต่ตอนนี้กำลังคิดว่าจะทำอย่างไร ให้เราก้าวผ่านปัญหาและอุปสรรคท้าทายที่เจอ จริง ๆ แล้วผู้บริหารโรงเรียนและคุณครูไม่ได้อยู่ตามลำพัง แต่มีเพื่อนรอบ ๆ ข้างเยอะมาก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะดึงพลังจากภาคเอกชนมาร่วมมือกันแก้ปัญหา
“ถ้าโรงเรียนสามารถระดมความร่วมมือจากทุก ๆ ภาคส่วน มาช่วยแก้ปัญหาได้ ก็น่าจะเป็นคำตอบของหลาย ๆ เรื่อง จะช่วยให้เราสามารถทำงานแก้ปัญหาเรื่องโจทย์ใหม่ ๆ ทางการศึกษาได้ เรื่องสุขภาพจิตใจเยาวชนที่มีความท้าทาย เราจะสามารถจับมือกับโรงพยาบาลที่มีนักจิตวิทยาได้หรือไม่ เป็นต้น คิดว่าเรื่องของทรัพยากรต่าง ๆ ในพื้นที่มีอยู่เยอะมาก ซึ่งอยู่ที่การบริหารจัดการ จึงคิดว่านี่เป็นโอกาส ในการที่ทุกคนจะได้มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานี้”