ฟังเสียงประชาชน กทม.ต้องปลดล็อกออกแบบการศึกษาเอง

ฟังเสียงประชาชน กทม.ต้องปลดล็อกออกแบบการศึกษาเอง

ภาคีด้านการศึกษาและภาคประชาชนระดมข้อเสนอเพื่อปลดล็อกกรุงเทพฯ จากเมืองหลวงที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แนะใช้การบริหารจังหวัดปกครองพิเศษสร้างอิสระออกแบบการศึกษาของตนเอง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเด็กที่หลากหลาย พร้อมสร้างพื้นที่การเรียนรู้และพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้เข้าถึงทุกชุมชน

  • กรุงเทพมหานครเมืองหลวงที่มีตั้งแต่โรงเรียนค่าเทอมหลักล้าน แต่ในช่วงเรียนออนไลน์ยังมีครอบครัวเด็กยากจนที่เข้าไม่ถึงแม้กระทั่งไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคเบื้องต้น 
  • เด็กปฐมวัยคือเวลาทองในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง แต่ศูนย์ดูแลเด็กเล็กกลับไม่มีทุกเขตหลักสูตรไม่มีคุณภาพ และไม่มีสวัสดิการดูแลครูที่เหมาะสม
  • สนามบาสของเด็กในชุมชนคลองเตย 4 ชุมชนถูกยุบไป 1 แห่งเพื่อเป็นพื้นที่ของเสาโฆษณา ตอกย้ำปัญหาพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กที่มีอยู่อย่างจำกัด และไม่เคยได้รับการสนับสนุนงบประมาณที่เพียงพอ
  • ไม่เพียงปลดล็อกแต่ต้องปลดแอกการศึกษาของ กทม.ให้เป็นอิสระจากกรอบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ข้อได้เปรียบที่เป็นเขตการปกครองพิเศษในออกแบบการศึกษาของตัวเองได้
  • สร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กให้เข้าถึงทุกเขต ทุกชุมชน มีกิจกรรมที่ยืดหยุ่นหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย

กรุงเทพมหานคร 26 มีนาคม 2565 – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา, OKMD, ภาคีด้านการศึกษา และไทยพีบีเอส จัดเวทีเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 โดยสะท้อนปัญหาและเสนอนโยบายผ่านหัวข้อ  กรุงเทพ : เมืองแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อปลดล็อกกรุงเทพฯ ให้มีการศึกษาที่ทั่วถึงแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ผู้ร่วมเสวนาทั้งภาคีด้านการศึกษา ภาคประชาชน และว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. สนับสนุนให้กรุงเทพฯใช้การบริหารรูปแบบการปกครองพิเศษเพื่อจัดการศึกษาด้วยตนเองอย่างอิสระ ซึ่งจะตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่มที่มีความหลากหลาย อีกทั้งเร่งแก้ไขให้ทุกโรงเรียนมีมาตรฐานทัดเทียมกัน และสร้างพื้นที่การเรียนรู้รวมทั้งศูนย์เด็กเล็กกระจายให้ครบทั้ง 50 เขต

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการ วสศ.
และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) และนักเศรษฐศาสตร์การศึกษา กล่าวว่า เมืองใหญ่ทั่วไปมักมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามายาวนาน เพราะเมื่อมีภาวะทางเศรษฐกิจพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานจากบ้านเกิดมาเมืองใหญ่ หรือพอเกิดวิกฤติโควิด-19 ที่ต้องย้ายกลับถิ่นฐานก็ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะในกรุงเทพ ฯ ที่ภายในเมืองเดียวจะเห็นตั้งแต่โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงมาก ไปจนถึงโรงเรียนในชุมชนยากจนที่ขาดแคลนทรัพยากร ก็ยิ่งฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เข้มข้น 

โดยการกำหนดของสภาพัฒน์ระบุครอบครัวของเด็กยากจนทั้งประเทศมีรายได้ต่ำกว่า 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ว่าครอบครัวนักเรียนยากจนในกรุงเทพ ฯ มีรายได้เพียง 1,964 บาทต่อคนต่อเดือน ดังนั้นเด็กยากจนของกรุงเทพฯ จนกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศ หรือต่ำกว่าเส้นความยากจนที่สภาพัฒน์ระบุไว้เสียอีก เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ต้องออกไปช่วยครอบครัวหารายได้ และยังพบปัญหาด้านสภาพจิตใจที่ไม่มีความสุขจากการเรียน เป็นความกดดัน ความเครียด และพบตัวเลขเด็กฆ่าตัวตายสูงขึ้น

“ในกรุงเทพฯที่คิดว่าเด็กจะเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการศึกษา แต่จากการลงพื้นที่สำรวจเด็กยากจนพิเศษ 1,408 คน มี 4% ที่ยังใช้น้ำบาดาล, 59% ไม่มีโทรทัศน์ , ในช่วงเรียนออนไลน์ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์มีเด็กยากจนพิเศษแค่ 7 คนที่มีคอมพิวเตอร์ และยังมีเด็ก1.7% ที่ไม่มีไฟฟ้า” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

โดย ดร.ภูมิศรัณย์ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) โมเดลจังหวัดจัดการเรียนรู้ตนเองที่เชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อพัฒนาพื้นที่นำร่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งหลายจังหวัดที่มีขนาดใกล้เคียงกรุงเทพมหานครทำแล้วมีประสิทธิภาพในการนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้จริง

“การทำงานของกรุงเทพฯในด้านการศึกษา นอกจากทำงานเพื่อเด็กกลุ่มกระแสหลักแล้วก็ต้องดูแลเด็กที่ยากลำบาก เด็กยากจนในชุมชนแออัด และเด็กชายขอบที่ถูกมองข้ามด้วย เพราะเด็กเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญของความมั่นคงยั่งยืนในกรุงเทพฯ เพื่อให้ทั้งองคาพยพในเมืองหลวงแห่งนี้เดินไปด้วยกันได้”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ในคณะกรรมการบริหาร กสศ.

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่าสภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยขณะนี้เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพ ฯ จะพบครอบครัวเด็กยากจน 15 กลุ่ม ที่มีตั้งแต่แรงงานเด็ก เด็กในชุมชนแออัด แม่วัยใส หรือเด็กชาติพันธุ์ พวกเขาเหล่านี้มีภาวะเสี่ยงออกนอกระบบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นระบบการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นการสร้างเด็กให้มีความเป็นเลิศทางการศึกษา หรือการศึกษาที่ตรงตามคุณภาพมาตรฐานยิ่งทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีที่ยืนสำหรับการศึกษาในระบบ และเมื่ออกไปแล้วก็กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีคุณภาพ

“ไปคุยกับเด็กเล็ก ๆ ในชุมชนเขาบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นโจร ต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาไทยทำให้เกิดลู่การศึกษาสำหรับเด็กแค่กลุ่มหนึ่ง จนมีเด็กหลังห้อง เด็กผู้แพ้ และออกนอกระบบการศึกษาไป ซึ่งพบว่าเด็กที่ออกกลางคัน 50,000 คน มีกว่า 25,000คนหรือครึ่งนึงที่ถูกดำเนินคดีและเข้าสถานพินิจ หนึ่งในสาเหตุคือการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่ไปครอบงำทั้งหมดในโรงเรียนของกทม. ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ทำให้ข้อเสนอของศ.ดร.สมพงษ์ จึงเห็นว่ากรุงเทพฯควรใช้ศักยภาพที่เป็นเมืองปกครองพิเศษออกแบบการศึกษาของตนเอง มีความเป็นอิสระและไม่ต้องยึดติดกับแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความเด็ดขาดของผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำลังจะถูกเลือกตั้งเข้ามาในอนาคตด้วย 

ทั้งนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังย้ำถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ต้องรองรับเด็กที่มีความหลากหลายแตกต่าง ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นเครื่องมือที่เข้าไปเยียวยาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กมีพัฒนาการตามวัย แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังถูกกดทับด้วยระบบอำนาจหรือกฎเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาตามแบบของกระทรวงศึกษาธิการ 

“ปิดเทอมนี้จะมีเด็กหลุดออกจากการศึกษาเป็นจำนวนมาก เราต้องสร้างแต้มต่อให้เด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ ดังนั้นการศึกษาของกรุงเทพฯต้องแตกต่างและมีลู่เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ลู่เดียวแต่ต้องตอบโจทย์เด็กแต่ละคนได้ อาจจะตั้งโจทย์ให้เด็กมีงานทำ แต่ปัญหาคือเราก็ยังไม่กล้าออกจากวังวนการศึกษาของชาติ  ดังนั้นต้องปลดแอกโดยการแยกตนเองออกมาเป็นอิสระจากกระทรวงศึกษาธิการ ”  ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.สมสิริ รุ่งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องทำตั้งแต่ต้นทางการศึกษา เพราะทุกคนรู้ดีว่าการศึกษาเด็กปฐมวัย (วัยแรกเกิด-6 ปี) เป็นเวลาทองสำหรับพัฒนาการของเด็กที่จะส่งผลต่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งพบว่าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 290 แห่ง มีไม่ครบทุกเขต รวมทั้งการประเมินคุณภาพจากหน่วยงานภายนอกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดประสบการณ์ทางการเรียนรู้ ได้ทำการประเมินพบว่ามีเพียง 20% อยู่ในระดับดีมาก และกว่า 50% อยู่ในระดับปานกลางไปจนถึงปรับปรุงเร่งด่วน ซึ่งการประเมินนี้แตกต่างจากที่ กทม.ประเมินเองอย่างมาก

รศ.ดร.สมสิริ กล่าวต่อว่าศูนย์เหล่านี้พบปัญหาในด้านหลักสูตรที่มีการจัดการเรียนรู้แบบเดิมมาเป็นเวลาหลายปี ส่วนใหญ่เน้นการดูแลทางกายภาพแต่ไม่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ที่สำคัญบุคลาการที่มาเป็นครูในศูนย์เด็กเล็กมีเพียง 15% ที่จบปริญญาตรีด้านปฐมวัย แต่ส่วนใหญ่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีค่าจ้างแค่ 7,000 บาท ส่วนปริญญาตรีอยู่ที่ 15,000 บาท และมักพบปัญหาเงินเดือนออกไม่ตามเวลา, ไม่จ่ายค่าจ้างเมื่อหยุดงาน และไม่เคยขึ้นเงินเดือนตลอดอายุการทำงาน ทั้งนี้ในศูนย์ยังมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูล ที่จัดเก็บไม่เป็นระบบและไม่ส่งต่อไปยังผู้ปกครองหรือโรงเรียนใหม่

ข้อเสนอของ รศ.ดร.สมสิริในการจัดการศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเห็นว่าควรถ่ายโอนให้ไปอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขต กทม.โดยเริ่มจากศูนย์ที่มีความพร้อม วางแผนค่อย ๆ ทำในระยะยาว 3-5 ปี, ค่าตอบแทนของครูที่ทำให้มีความสุขมีสวัสดิการที่ดี และให้ครูมีความภาคภูมิใจในการทำงาน ส่วนสุดท้ายคือฐานข้อมูลทั้งด้านพัฒนาการและสุขภาพของเด็กต้องถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์ และแปลงเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย

“ฝากถึงผู้ว่า กทม.ให้นึกถึงว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็ก 3 คน โรงเรียนรัฐ – เอกชน  – กทม. ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกทั้ง 3 คนนี้ที่มีความหลากหลายมีการศึกษาได้เท่ากัน และต้องทำงานร่วมมือกับคนที่ทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้นด้วย” รศ.ดร.สมสิริ กล่าวทิ้งท้าย

ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง

ด้านประสบการณ์ของคนทำงานในพื้นที่อย่าง “ครูอ๋อมแอ๋ม” ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวว่าแต่เดิมตนเคยทำงานกับเด็กในช่วงประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้เห็นว่าการปลูกฝังเด็กได้จริงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก แต่ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชนกลับไม่มีบุคคลากรที่มีคุณภาพมาทำงาน ซึ่งครูอ๋อมแอ๋มเห็นว่าเด็กช่วงนี้ต้องเป็นส่ิงที่รัฐควรให้การสนับสนุนมากที่สุด

“เด็กอยากเป็นโจร เด็กทำบทบาทสมมติเล่นขายประเวณี มีแม่เล้าเป็นเด็ก 6 ขวบ เด็กไม่รู้ว่าคือการเล่นอะไร แต่เขารับรู้จากวิถีชุมชนจากการเล่าของครอบครัวที่เด็กซึมซับโดยไม่รู้ตัว เรากำลังทำกิจกรรมวาดรูปกับเด็ก เขาเห็นพ่อถูกตำรวจจับขึ้นรถมอเตอร์ไซต์แต่เด็กกลับเฉย ๆ และระบายสีต่อ เพราะเป็นเรื่องเคยชินของพวกเขา”

ครูอ๋อมแอ๋มเล่าว่าเด็กยากจนมักพบปัญหาตั้งแต่ในครอบครัว เช่น มียายติดเตียง แม่ติดยา ทำให้พออายุ 15 ปี ก็ต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งจากการทำงานของตนกับเด็ก 100 กว่าคน พบว่ามีเพียง 1 คนเท่านั้นที่เรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ทำให้เด็กที่เรียนดีแค่ไหนหรืออยากเรียนต่อขนาดไหนก็ไม่สามารถทนต่อความยากจนนี้ได้ แม้กระทั่งหลักสูตรการศึกษาเองก็เป็นอุปสรรคเพราะมีสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ส่งเสริมทักษะที่พวกสามารถนำมาใช้ได้ในชีวิตจริง

“ตอนแรกเราแก้ปัญหาด้วยการผลักเด็กให้กลับเข้าไปในระบบ แต่สุดท้ายเด็กก็ออกมาอีกเพราะเขาไม่มีความสุข เราเลยจดทะเบียนโรงเรียนเอง เพราะฉะนั้นรัฐน่าจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถจัดการศึกษาได้เองและสนับสนุนงบประมาณ แต่กลับพบว่าแม้กฎหมายเปิดให้มีศูนย์การเรียนได้มานานแล้ว แต่รัฐไม่มีเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาเหล่านี้”

ข้อเสนอของครูอ๋อมแอ๋มคือรัฐต้องสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ความหลากหลายของเด็ก ทั้งนี้รัฐเองควรดึงทุกภาคส่วนมาทำงานในพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับประชาชน ภาคเอกชน และสนับสนุนในด้านงบประมาณ

“เราตอบคำถามเด็กไม่ได้ว่าทำไมสนามบาสของเขาถึงสำคัญน้อยกว่าเสาโฆษณา”

ครูอ๋อมแอ๋มเล่าทิ้งท้ายว่าแม้มีความพยายามของประชาชนในชุนชนเพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนของเขาเอง โดยการขอพื้นที่รกร้างในกทม.มาใช้ แต่มักถูกปฏิเสธ แม้กระทั่งสนามบาสในชุมชนคลองเตยก็ถูกยุบไป 1 แห่งเพื่อเป็นที่ตั้งเสาโฆษณา เพราะฉะนั้นการที่เด็กไม่มีพื้นที่เขาก็สร้างพื้นที่ตนเองอย่างร้านเกม หรือรวมตัวหลังชุมชนต้มน้ำกระท่อม ดังนั้นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็กจึงควรถูกสนับสนุนและมีทุกชุมชน

เชาวลิต สาดสมัย ครูอาสาของเด็กยากจน

ไม่ต่างจากการทำงานของ “ครูเชาว์” เชาวลิต สาดสมัย ครูอาสาของเด็กยากจน ที่ทำงานกับศูนย์สร้างโอกาสทั้ง 7 แห่งในกรุงเทพมหานคร เขาเล่าในฐานะของคนที่ทำงานในพื้นที่มาตลอด 15 ปี ทุก 7 วัน พบว่าหลักสูตรการศึกษาตอบสนองเฉพาะเด็กที่มีฐานะและครอบครัวที่มีความพร้อม รัฐไม่ได้ออกนโยบายที่เข้าใจปัญหาของเด็กยากจนหรือขาดโอกาส

“ป้ายหน้าโรงเรียนมีเด็กเก่ง 10 คนแต่เด็กที่เหลือไปไหนหมด เราต้องมีวิชาชีวิตสำหรับเขา ต้องลดขั้นตอนที่อยู่ในหนังสือให้น้อยลง และทำให้เข้าใจง่าย” ครูเชาว์กล่าว

ทั้งนี้ครูเชาว์เองมองว่าครูเป็นตัวแปรสำคัญเช่นกัน ที่รัฐต้องทำให้ครูมีความมั่นคง มีใจในการทำงาน และสร้างแรงบันดาลใจให้เขามีชีวิตดีขึ้น รวมทั้งศูนย์สร้างโอกาสที่ช่วยเหลือเด็กเชิงรุกซึ่งขณะนี้มีเพียง 7 แห่ง ก็ควรทำให้เกิดขึ้นทุกเขตในกรุงเทพฯ ให้ครบทั้ง 50 เขต

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก

เชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่างถึงการทำงานในการสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ Learning Space ในกรุงเทพมหานครพบว่าหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่กระจายครบทุกเขต บางแห่งอยู่ไกลจากชุมชน หรือมีค่าใช้จ่ายที่ทำให้ครอบครัวของเด็กยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังพบว่าถูกออกแบบมาไม่เหมาะสมสำหรับเด็กบางกลุ่มบางวัย ที่สำคัญคือขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์หรือช่วยแก้ปัญหาที่หลากหลายของแต่ละชุมชนได้

“เราทำงานมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เราขอพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นพื้นที่เรียนรู้ให้กับเด็กแต่ไม่เป็นผล เด็กเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพื้นที่เรียนรู้ที่สร้างความสุข สร้างโอกาส และพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายและเน้นกระตุ้นจินตนาการของเด็ก ดังนั้นกรุงเทพฯ 50 เขตจึงควรมี 50 พื้นที่การเรียนรู้ให้ครบทุกเขต” เชษฐา กล่าว

น.ต.ศิธา ธิวารี ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคไทยสร้างไทย

ทั้งนี้ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กยังเห็นว่านโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ที่ผ่านมารัฐไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ซึ่งงบประมาณจำนวนนี้สามารถสร้างเป็น Smart City เพื่อปรับพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์ที่จะตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ทั้งเด็กเยาวชน และครอบครัวทั่วกรุงเทพฯ จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือ และแก้กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้การผลักดันนโยบายนี้มีความต่อเนื่องและสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้จริง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.

สอดคล้องกับความคิดเห็นของ น.ต.ศิธา ธิวารี ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่า ปัญหาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในกรุงเทพ ฯ ที่ไม่เท่ากัน ควรจะต้องเร่งแก้ไขให้ทุกโรงเรียน มีคุณภาพมาตรฐานในระดับเดียวกัน เพื่อให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นว่า ลูกหลานของพวกเขาเรียนโรงเรียนใกล้บ้านได้

ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เห็นว่า การศึกษาในกรุงเทพฯ ต้องปรับใหม่เป็นระบบ “สาธิต” ที่จับมือกับภาคเอกชน เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเท่านั้น เน้นการเรียนรู้อัตลักษณ์ในชุมชนของตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมานับเป็นหน่วยกิตได้

น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

ขณะที่ ผศ.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ตัวแทนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ตัวแทนนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร มาร่วมแลกเปลี่ยนและรับฟังปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทั้งปัญหาการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมของเด็กด้อยโอกาส หรือการกระจายศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วย