ทีมงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการโดย นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา ร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการศึกษาในจังหวัดบุรีรัมย์
การลงพื้นที่ครั้งนี้ ตั้งต้นจากจากฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout ไปที่โรงเรียนวัดบ้านหนองแขม อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีรายชื่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เข้ามาเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 3 คน คณะของเราเข้าไปพบผู้อำนวยการโรงเรียนและคุณครู เพื่อตรวจสอบรายชื่อ พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงการกลับมาเรียนของเด็ก ๆ โดยพบว่าเด็ก 2 ใน 3 คน จัดอยู่ในกลุ่มเข้าเรียนช้า เนื่องจากติดตามผู้ปกครองไปทำงานต่างถิ่น และมีพัฒนาการล่าช้า ขณะที่อีกหนึ่งคนได้ย้ายตามผู้ปกครองออกจากพื้นที่ไปแล้ว ยังไม่สามารถติดต่อได้
นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการลงพื้นที่สำรวจเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษากับ กสศ. ครั้งนี้ กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่โรงเรียนวัดบ้านหนองแขม กำลังช่วยกันดูแลและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ให้พวกเขาอยู่กับระบบการศึกษาต่อไป
“การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจ โดยเฉพาะจากผู้บริหารโรงเรียน ครู รวมถึงอาสาสมัครผู้มีหน้าที่สำรวจค้นหาเด็กในพื้นที่ ทั้งนี้หากพื้นที่สามารถเอกซเรย์เด็กเยาวชนในเขตบริการได้ละเอียด เมื่อเห็นรายชื่อตกหล่นแล้วตามได้ทันทีว่าเด็กไปอยู่ที่ไหน การพาเด็กกลับสู่ระบบก็จะทำได้ทันที
“ทั้งนี้นอกจากมีข้อมูลที่เชื่อถือได้จากการลงพื้นที่สำรวจของ อพม. ระบบการดูแลของโรงเรียนถือเป็นตาข่ายอีกชั้นหนึ่งที่จะช่วยไม่ให้มีเด็กหลุดเพิ่ม ซึ่งหมายถึงความเอาใจใส่ว่าเด็กกลุ่มเสี่ยงมีอุปสรรคเรื่องใด และโรงเรียนสามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งหากเกินกำลัง โรงเรียนต้องทราบว่าจะขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานใด เพื่อให้เด็กเรียนต่อได้จนจบการศึกษา หรือกรณีเด็กที่ได้รับการติดตามกลับมา ก็ต้องมีการดูแลต่อเนื่องไปจนจบช่วงชั้น รวมถึงมองหาหน่วยงานเพื่อประสานส่งต่อให้เด็กได้เรียนในชั้นสูงขึ้น หรือเข้าสู่กระบวนการฝึกอาชีพที่ถนัดและสนใจ
“สำหรับการลงพื้นที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ทำให้เห็นว่าถ้าโรงเรียนและพื้นที่เข้มแข็ง ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาก็จะคลี่คลายได้”
ฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout ณ วันที่ 30 พ.ย. 2566 พบว่า มีเด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบการศึกษาของไทย อายุระหว่าง 3-18 ปี รวมกว่า 1.02 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กเยาวชนในจังหวัดบุรีรัมย์ 17,586 คน เฉพาะอำเภอกระสังมี 1,353 คน ตำบลกระสัง 229 คน พบข่าวดีว่าในภาคเรียนที่ 1/2567 ตำบลกระสังมีกลับเข้าระบบแล้ว 39 คน อีก 190 คนที่เหลือ อยู่ระหว่างบูรณาการหลายหน่วยงานลงไปสำรวจข้อมูลให้พบตัวเด็กเพื่อพาเข้าเรียน หรือพัฒนาทักษะตามความสนใจแบบยืดหยุ่น
‘จ๋า’ เด็กหญิง อายุ 15 ปี หลุดจากระบบขณะอยู่ชั้น ม.2 ตอนนี้หยุดเรียนเกือบ 2 ปีแล้ว คณะของ กสศ. พบรายชื่อของเธอเป็นเด็กนอกระบบการศึกษาในฐานข้อมูล Thailand Zero Dropout จึงประสานไปยังศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง และ อพม. ในพื้นที่ ให้พาติดตามลงไปเยี่ยมเยือนเพื่อสอบหาสาเหตุ ‘จ๋า’ บอกว่าไม่ได้จบชีวิตการเรียน แต่ที่เลือกลาออกเพราะครอบครัวขาดทุนทรัพย์ พ่อแม่ก็แยกทางกัน เธออยู่กับพ่อพิการและปู่ย่าที่มีรายได้จากอาชีพเลี้ยงวัวและเก็บของเก่าขายดูแลเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อเราถามถึงความต้องการกลับไปเรียน ทั้ง ‘จ๋า’ และครอบครัว พร้อมจะกลับไปเรียนทันทีหากมีทุนการศึกษาสนับสนุน คณะของ กสศ. และผู้บริหารจากกระทรวงศึกษาธิการ รีบประสานโรงเรียนเดิมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตอนนั้นเลย ‘จ๋า’ ได้กลับเข้าเรียนตามความตั้งใจแน่นอน เธอเป็นเด็กบุรีรัมย์คนแรกที่กลับเข้าสู่การศึกษาตามนโยบาย Thailand Zero Dropout
คณะของเราได้ลงเยี่ยมบ้านอีกกรณี คือ ‘แก้ม’ อายุ 15 ปีเช่นกัน กรณีของ ‘แก้ม’ มีความซับซ้อนและท้าทายด้วยปัญหาสุขภาพที่พิการแต่กำเนิด เลยไม่เคยเข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษาใดเลย จากการพูดคุยกับยายผู้รับหน้าที่ดูแลเป็นหลัก บอกว่า ‘แก้ม’ พูดไม่ได้แต่สามารถสื่อสารรู้เรื่อง พ่อแม่ของ ‘แก้ม’ เรียนจบปริญญาตรีทั้งคู่ แต่มีความกังวลที่จะส่งลูกสาวไปโรงเรียน คณะของเราได้หารือกัน สรุปได้ว่าต้องมีการประเมินภาพรวมความพร้อมในการเรียนรู้ และลงทะเบียนผู้พิการให้กับ ‘แก้ม’ ก่อน แล้วค่อยมองหารูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม เช่น ให้ผู้ปกครองร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ หรือมีครูการศึกษาพิเศษมาสอนที่บ้านต่อไป ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้ปกครองยินดีมีส่วนร่วมเต็มที่
กสศ. ขอขอบคุณ ประธานอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ อพม. ตำบลกระสัง ผู้บริหารและคณะครูศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอกระสัง ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ผอ. และคุณครูโรงเรียนวัดบ้านหนองแขม ที่นำทีม กสศ. และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ค้นพบเด็ก ๆ ให้ได้รับความช่วยเหลือ เพื่อกลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาและการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ชีวิต เพื่อเป้าหมายที่มีร่วมกันคือทำให้เด็กและเยาวชนหลุดนอกระบบการศึกษากลายเป็นศูนย์ “Thailand Zero Dropout”