เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และภาคีเครือข่าย จัดประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 2 (2nd National Education Assembly) ภายใต้หัวข้อ ‘All for Education จับมือไว้ สร้างการศึกษาไทยไปด้วยกัน’ ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน ร่วมด้วยผู้แทนองค์กรทุกภาคส่วนจากทั่วประเทศ ประกอบด้วย สมัชชาหรือสภาการศึกษาจังหวัด หน่วยงานด้านการศึกษาภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคศาสนา ภาควิชาการและวิชาชีพ ภาคประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน รวมกว่า 600 คน
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘Area-Based Education: ABE การศึกษาเชิงพื้นที่ขับเคลื่อนการศึกษาระดับชาติ’ โดยระบุว่า ปัจจุบันสมัชชาการศึกษาได้ดำเนินการใน 37 จังหวัดด้วยชื่อเรียกที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญหรือ ‘หัวใจของสมัชชา’ คือการรวมกลุ่มคนหรือหน่วยงานเพื่อมุ่งไปที่เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน และแม้สมัชชาส่วนใหญ่จะยังขับเคลื่อนด้วยภาครัฐเป็นหลัก แต่ความร่วมมือที่เริ่มขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ ทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาหรือลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในมิติอื่น ๆ เช่นมีภาคเอกชนจำนวนหนึ่งสนใจเข้ามาทำงานด้านการศึกษามากขึ้น
“การจัดตั้งสมัชชาการศึกษาถือเป็นหมุดหมายของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย ด้วยเรื่องของการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการหรือสภาการศึกษาเพียงฝ่ายเดียว แต่คือเรื่องของเราทุกคนตามบริบทหรือบทบาทหน้าที่ที่แต่ละคนทำได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปในเวลาอันรวดเร็ว ทุกคนจึงต้องมีทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือทุกฝ่ายต้องสามารถ ‘คิดเอง’ ด้วยแต่ละพื้นที่นั้นมีบริบทแตกต่าง มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย หรือความพร้อมของแต่ละพื้นที่และบุคคลก็ไม่เท่ากัน จึงหวังว่าเวทีวันนี้ที่มีการประชุมภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศ ต่างฝ่ายจะได้ประเด็นสำคัญกลับไปทำงาน และอยากให้ทุกฝ่าย ‘คิดนอกกรอบ’ ว่าจะทำงานด้านการศึกษาอย่างไรในมิติปัญหาและบริบทพื้นที่ เพื่อนำมาพูดคุยกันในวันนี้และโอกาสต่อไป เพื่อที่เราจะมาช่วยกันขับเคลื่อนงาน แล้วจากนี้ถ้าเห็นว่ามีสิ่งใดต้องปรับปรุงก็นำมาทบทวนร่วมกัน ใครคิดได้ก็ช่วยคิด ทำได้ก็ช่วยทำ ใครมีทุนก็ช่วยเติม แล้วอะไรเป็นสิ่งดี ๆ ที่ทำได้ อยากให้ทำทันที เพื่อ ‘ปฏิวัติการศึกษา’ ด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างที่เด่นชัด ซึ่งหนึ่งนั้นคือความเหลื่อมล้ำ กับสองคือความสูญเสียทางการศึกษา ตัวอย่างเช่นการตั้งเป้าหมายการศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องมุ่งไปที่การจบปริญญาตรีเพียงอย่างเดียว เพราะแท้จริงแล้วหลายคนจบมาก็ไม่ได้ใช้วิชาความรู้เหล่านั้น ดังนั้นในมิติการศึกษา สมัชชาการศึกษาต้องช่วยออกแบบเส้นทางว่าทำอย่างไรเด็กเยาวชนและคนในพื้นที่ถึงจะมีการศึกษาที่เอื้อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต เรียนจบมาแล้วดูแลตัวเองและอยู่ในสังคมได้”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวเสริมว่า ในส่วนของสมัชชาการศึกษา อยากให้มองที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ คือไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีในทุกจังหวัดทันที แต่ต้องมองที่การสนองตอบต่องานในพื้นที่ได้จริง แล้วเมื่อสมัชชาในพื้นที่ใดหนึ่งเข้มแข็ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ด้วยเป้าหมายจุดประสงค์เดียวกัน ที่สมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติได้ร้อยรวมทุกฝ่ายเอาไว้ จะทำให้เกิดการส่งต่อความรู้ ตัวแบบ แนวปฏิบัติที่จะถ่ายทอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
ด้าน นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. และคณะทำงาน ได้รายงานความคืบหน้าของการทำงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า กสศ. ได้ลงนามความร่วมมือกับ 10 หน่วยงานหลักของประเทศในการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ของรัฐบาล โดยมี 4 มาตรการสำคัญสำหรับการทำงานนำร่องใน 25 จังหวัด ก่อนขยายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อค้นพบตัวเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษา 2.การติดตามช่วยเหลือและส่งต่อ 3.การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความหลากหลายของเด็กเยาวชนทุกคน และ 4.การทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ มีรายได้ และการมีงานทำของผู้เรียน
โดยข้อค้นพบของการทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาผ่าน 25 จังหวัดนำร่อง คือจังหวัดใดที่มีเครือข่ายสมัชชาการศึกษาหรือสภาการศึกษา จะเป็นจังหวัดที่สามารถขยับงานได้ก่อน ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงอาสาสมัครภาคีที่ทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับมติที่เลขาธิการสภาการศึกษากำลังผลักดันให้มีการจัดตั้งสภาการศึกษาในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยเชื่อว่าวาระดังกล่าวจะเป็นกุญแจสำคัญในการไปสู่เป้าหมายที่เครือข่ายงานด้านการศึกษาทุกภาคส่วนในพื้นที่ จะช่วยกันทำให้เด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาลดลงและหมดไปได้ตามเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ที่ตั้งไว้
สำหรับการประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ เกิดขึ้นด้วยแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจทางการศึกษา (Conceptual Design) ที่ยืดหลัก ‘การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม’ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วมจัดการการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการยอมรับในเรื่องการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการจัดการศึกษาโดยรัฐ มาเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการปรับปรุงกฎหมายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อจูงใจและสนับสนุนให้เกิดการระดมทุน มีการจัดการศึกษาที่หลากหลาย สนับสนุนการจัดตั้งภาคีเครือข่ายที่พร้อมพัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการเครือข่ายทางการศึกษา มีรูปแบบความร่วมมือผ่านกระบวนการสมัชชาสภาการศึกษาระดับพื้นที่ ภูมิภาค และระดับชาติ เพื่อให้การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education: ABE) เป็นกลไกหลักผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีที่เข้าใจปัญหาและมีฐานทุนในพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติตามแนวทาง ‘ปวงชนเพื่อการศึกษา’ หรือ All for Education ที่ทุกคนมีส่วนร่วมกับการศึกษาอย่างแท้จริง