เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด Kick off ระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม (พม.Smart) โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ เข้าร่วม
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การ Kick Off ‘ระบบการขอรับความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคม’ หรือ ‘พม.Smart’ ครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องของ กระทรวง พม. เพียงฝ่ายเดียว แต่คือความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนเกิดจุดเปลี่ยนสำคัญต่อภารกิจดูแลประชาชน โดยเฉพาะในการทำงานรายกรณีหรือรายพื้นที่ ด้วยเครื่องมือที่จะเพิ่มความรวดเร็วในการช่วยเหลือ บนฐานข้อมูลอันเป็นประจักษ์และพิสูจน์ได้ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความแม่นยำและลดระยะเวลาได้มากขึ้น โดยเป็นการทำงานผ่าน อพม. 340,000 คน ทั่วประเทศผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ประสบปัญหา ซึ่งสามารถนำเข้าข้อมูลจากหน้างานได้ทันที โดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปที่เขตเมืองหรือศาลากลางตลอดเวลา ที่สำคัญคือ พม.Smart ยังตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลเรื่องการพัฒนาระบบดิจิทัล เนื่องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบาง คือหนทางหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม กระทรวง พม. จึงขอแสดงความขอบคุณไปยังบุคคลและหน่วยงานทุกฝ่าย ที่มีส่วนร่วมทุ่มเททดลองระบบ จนสามารถเชื่อมั่นได้ว่า พม.Smart จะตอบสนองการดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้อย่างแท้จริง
“ภารกิจนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าผลักดัน พม. ให้เป็นกระทรวงที่นำเทคโนโลยีมาให้บริการดูแลประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 พม.Smart จะใช้งานทั่วประเทศ และจะเป็นจุดเปลี่ยนของการนำข้อมูลไปเชื่อมกับการวางแผนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ซึ่ง อปท. หรือ อบจ. จะสามารถเข้ามาร่วมใช้ประโยชน์ได้ และนั่นหมายถึงผลดีที่จะเกิดกับประชาชนทุกคน โอกาสนี้ขอขอบคุณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และทีม พม. ที่สนับสนุนและมาช่วยกันอย่าง Smart ทุก ๆ ฝ่าย โดยเฉพาะ อพม. ผู้ทำงานในพื้นที่ เพราะหากท่านไม่นำเข้าข้อมูล ประโยชน์จากเครื่องมือก็จะไม่เกิดขึ้น” ปลัดกระทรวง พม. กล่าว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ กสศ. คือ สร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงส่งเสริมสมาชิกในครอบครัวให้มีความรู้ ได้รับการพัฒนาศักยภาพ อันเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และยกระดับความสามารถของประชากรไทย รวมถึงเหนี่ยวนำให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายในการสร้างโอกาสทางการศึกษาและสังคมเพื่อความเท่าเทียม โดยมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักที่มุ่งสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ทุกคนมีโอกาสได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่ง พม.Smart ในวันนี้ ถือเป็นผลผลิตสำคัญหนึ่งของความร่วมมือ อันจะทำให้กลุ่มเป้าหมายคือเด็กเยาวชนและประชาชน ได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการทางสังคมได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม
นอกจากนี้ กสศ. ยังมีมาตรการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยตั้งต้นทำงานในพื้นที่นำร่อง 25 จังหวัด ที่จะเป็นพื้นที่ปฏิบัติการที่มีการดำเนินงานตามแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ของ กสศ. โดยมีการทำงานร่วมกับ พมจ. ในบทบาทของผู้เชี่ยวชาญ พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพระดับจังหวัด ที่ร่วมวิเคราะห์และออกแบบแผนการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเป็นรายกรณี และสนับสนุนให้ อพม. ร่วมทำงานในฐานะผู้สำรวจและดูแลติดตามเด็กและเยาวชนรายกรณีในระดับพื้นที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือการนำเด็กและเยาวชนจำนวน 1.02 ล้านคนไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ในอนาคต กสศ. กระทรวง พม. มหาวิทยาลัยนเรศวร และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ จะร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลระบบการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย พม.Smart ให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบข้อมูล Thailand Zero Dropout บน Application สำหรับการค้นหาและช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาเป็นรายกรณี ซึ่ง อพม. หรือ พมจ. ในหลายพื้นที่ได้ทดลองใช้แล้ว
“การทำงานประสานกันภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้เด็กเยาวชนเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน เช่นแม่วัยรุ่นที่ยากจนและเป็นเด็กนอกระบบการศึกษา สามารถเข้าถึงสิทธิเงินสงเคราะห์สำหรับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและเดือดร้อนด้านการเงินจนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้ เพื่อให้แม่มีความพร้อมเข้าศึกษาต่อในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง หรือเด็กที่อยู่นอกระบบเนื่องจากความพิการก็สามารถเข้าถึงเงินสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้ เป็นต้น ทั้งนี้การสนับสนุนส่งเสริมให้กลุ่มเด็กเยาวชนยากจนด้อยโอกาส รวมถึงสมาชิกในครอบครัว ได้รับบริการการคุ้มครอง และเข้าถึงชุดสิทธิประโยชน์ รวมถึงสวัสดิการที่เหมาะสม จะเป็นแนวทางของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เกิดขึ้นจากความไม่พร้อมทางสังคมได้”