นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญต่อปัญหาภาวะทุพโภชนการของนักเรียนในโรงเรียนเพื่อมุ่งสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
โดยให้รับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
พร้อมกันนี้ ครม.รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเกี่ยวกับการจัดตั้งทุนหมุนเวียน โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารทุนหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ในการรักษาวินัยการเงินการคลังของภาครัฐ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เป็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน โดยปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 และให้โอนบรรดากิจการของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาที่สังกัดกระทรวงการคลัง (กค.) เป็น จัดตั้งกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้การบริหารงานเกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และกำหนดวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุนให้ครอบคลุมอาหารนักเรียนนอกเหนือจากอาหารกลางวันและให้รวมถึงโรงเรียนที่จัดการศึกษาภาคบังคับด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
- กำหนดนิยามคำว่า “กองทุน” “โรงเรียน” “นักเรียน” “อาหาร” “คณะกรรมการ” “ประธานกรรมการ” “ผู้บริหารกองทุน” และ “รัฐมนตรี”
- กำหนดให้จัดตั้งกองทุนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรียกว่า “ กองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์ (1) แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ การขาดแคลนอาหาร และส่งเสริมภาวะโภชนาการในโรงเรียน (2) สนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารสำหรับนักเรียนในโรงเรียน (3) ส่งเสริมผลผลิตโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียน (4) ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการ (5) ส่งเสริมพัฒนาการดำเนินงานกองทุน (6) ประชาสัมพันธ์ปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนและการดำเนินงานของกองทุน
- กำหนดให้เงินและทรัพย์สินของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
- กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุน ประกอบด้วย (1) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานกรรมการ (2) ผู้แทน กค. ผู้แทนสำนักงบประมาณ (สงป.) ผู้แทน สพฐ. เป็นกรรมการ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของ กค. จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ และให้ผู้บริหารกองทุนเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้บริหารกองทุนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่กองทุนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ไม่เกิน 2 คน
- กำหนดให้คณะกรรมการบริหารกองทุนมีอำนาจหน้าที่ (1) กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของกองทุน (2) กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้บริหารกองทุนและพนักงานโดยความเห็นชอบของ กค. (3) พิจารณาอนุมัติแผนงบประมาณรายรับและรายจ่ายประจำปีและแผนการดำเนินงานของกองทุน (4) พิจารณาจัดสรรเงินช่วยเหลือหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่โรงเรียนตามระดับอายุของนักเรียนโดยคำนึงถึงเด็กเล็กและพื้นที่ตามความจำเป็นและเหมาะสม ฯลฯ
- กำหนดให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ภาระผูกพัน พนักงาน และลูกจ้างของกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 ไปเป็นของกองทุนเพื่อโครงการอาหารนักเรียนในโรงเรียนตามพระราชบัญญัตินี้