เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จัดกิจกรรม ‘เรียนรู้ เล่นเพลิน นักเรียนในโครงการทุนรอยต่อ กสศ.’ ณ โรงเรียนร่มเกล้า อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อรวมตัวนักเรียนทุนเสมอภาคที่เข้าร่วม ‘โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น’ ระดับชั้น ม.4 ม.5 และนักเรียนทุนเสมอภาคที่กำลังจะสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ระดับชั้น ม.3 รวมกว่า 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหาเส้นทางการรับทุนและการเรียนต่อ และสำรวจแนวคิดหมุดหมายอนาคตด้านการศึกษาของนักเรียน ผ่านกิจกรรม Focus group เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาแนวทางสนับสนุนทุนการศึกษารูปแบบต่าง ๆ ให้มีคุณภาพมากขึ้น
นายจีรศักดิ์ กาสรศิริ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาภาคีเครือข่าย สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า จากการวิจัยของ กสศ. ซึ่งติดตามและให้ความช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจนพิเศษ ภายใต้โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข (Conditional Cash Transfer: CCT) หรือ ‘ทุนเสมอภาค’ พบว่า นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษหรือนักเรียนทุนเสมอภาค มีโอกาสศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญและสายอาชีพ เพียงร้อยละ 42.7 ขณะที่กลุ่มนักเรียนที่รวยที่สุดมีอัตราการศึกษาต่อถึงร้อยละ 76.1
สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อนั้น อุปสรรคสำคัญโดยตรงคือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียม ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน ค่ากิจกรรม ค่าเดินทาง เงินไปโรงเรียน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายโดยอ้อม คือการขาดโอกาสในการทำงานหารายได้ระหว่างเรียน
ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเพิ่มอัตราการเรียนต่อ ม.ปลาย ของนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. จึงมี ‘โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น’ ระหว่างปีการศึกษา 2565 – 2567 โดยมีลักษณะเป็นการทำงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Research & Innovation) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการหารูปแบบการช่วยเหลือและทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการศึกษาต่อ ม.4 หรือเทียบเท่า ในพื้นที่นำร่องจำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส
นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในการส่งเสริมนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นอย่างเต็มศักยภาพนั้น กสศ. ให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง รวมถึงการมีส่วนร่วมถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับคุณครูและผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่ สำหรับการจัดกระบวนการครั้งนี้ ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับกลุ่มผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานราธิวาส และครูแนะแนวจากโรงเรียนในสังกัดด้วย ซึ่ง กสศ. ได้จัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันอีก 1 พื้นที่ คือ โรงเรียนปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
“หลังจากที่โครงการฯ ได้ก้าวย่างสู่การทำงานในปีที่ 3 กสศ. ได้ออกแบบกระบวนการถอดบทเรียนการทำงานเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ อุปสรรค รวมถึงสังเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก สำหรับนำไปจัดทำข้อเสนอการพัฒนาแนวทางส่งเสริมนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาต่อเนื่อง ขยายโอกาสการเชื่อมต่อจากทุนเสมอภาคไปถึงทุนอื่น ๆ อาทิ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ทุนภูมิทายาท หรือทุนสานฝัน เป็นต้น ผ่านกระบวนการแนะแนวเส้นทางการศึกษา หลังนักเรียนทุนฯ ผ่านชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 ซึ่งจะเป็นการช่วยยืนยันว่านักเรียนทุนกลุ่มนี้ จะสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.ปลาย หรือ ปวช. ได้สำเร็จ พร้อมมีเส้นทางโอกาสที่มั่นคงยิ่งขึ้นในการศึกษาต่อระดับสูงต่อไป
“อีกประเด็นหนึ่งคือการสำรวจต้นทุนการเคลื่อนย้าย หรือค่าใช้จ่ายส่วนต่างเพิ่มขึ้นมากน้อยอย่างไร ในการเปลี่ยนระดับชั้นจาก ม.ต้น ไป ม.ปลาย หรือ ปวช. ขณะที่นโยบายหรือทรัพยากรจากรัฐในการอุดหนุนปัจจัยต่าง ๆ ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ฉะนั้นจะมีวิธีการและแนวทางอย่างไร เพื่อสนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่ง กสศ. จะเป็นตัวกลางในการนำเสียงจากพื้นที่ไปจัดทำข้อเสนอถึงระดับนโยบาย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนช่วงชั้นรอยต่อ”
นางสาวชบา พันธุ์ศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานราธิวาส กล่าวว่า ประเด็นหลักของการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงชั้นรอยต่อพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ประการแรกคือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชนว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นนั้นสำคัญ และมีผลต่อการมีรายได้สูงขึ้น
เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ ยังมองว่า 3 ปีของการเรียนมัธยมปลายหรือ ปวช. รวมถึงอีก 4 ปีในระดับอุดมศึกษา เป็นระยะเวลาที่นานเกินไปกว่าจะมีรายได้คืนกลับมา ซึ่งการเรียนจบ ม.3 อยู่ในวัยที่สามารถทำงานได้แล้ว ผู้ปกครองจึงมองว่าเด็กควรเป็นส่วนหนึ่งของการหารายได้เลี้ยงครอบครัว หลังจากที่ใช้เวลาในโรงเรียนไปแล้ว 9 ปีหรือมากกว่านั้น
ส่วนประการที่สองเป็นมุมมองที่ว่า การศึกษาคือ ‘การลงทุนที่ต้องมีสายป่านที่ยาวพอ’ จึงถือเป็นภาระที่ครอบครัวต้องแบกเพิ่ม และยังมีความเสี่ยงว่าทุนที่ลงไปอาจจมหายโดยไม่มีผลตอบแทนคืนกลับ ทั้งยังอาจสร้างหนี้เพิ่มหากลูกหลานไปต่อไม่ได้จนถึงวันจบการศึกษา หรือแม้กระทั่งจบการศึกษาออกมาแล้วไม่ได้ทำงานที่มีค่าตอบแทนเหมาะสมคุ้มทุน
“ด้วยข้อจำกัด อุปสรรค และความแตกต่างหลากหลายที่เขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู ไปจนถึงครอบครัวและตัวเด็ก การทำงานร่วมกันครั้งนี้ ทุกฝ่ายจึงให้ความสำคัญกับการ ‘สานต่อเส้นทางการศึกษา’ เพื่อที่เด็กในพื้นที่ของเราจะได้มีโอกาส มีแรงบันดาลใจ และมีลู่ทางเรียนต่อที่เสมอภาคยิ่งขึ้นในการศึกษาต่อระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับหรือไกลกว่า เท่าที่ศักยภาพของเด็กและปัจจัยรอบตัวจะพาไปถึง
“การรับฟังประสบการณ์การทำงานของครูแนะแนวจากโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ ผู้เป็นคนสำคัญในการชี้ทางและเชื่อมโยงเด็ก ๆ ให้มองเห็นเส้นทางการศึกษาที่ชัดและกว้างไกลยิ่งขึ้น จะฉายภาพให้เห็นว่าในบริบทของพื้นที่อำเภอ ตำบล ชุมชนต่าง ๆ มีปัจจัยแวดล้อมใดที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจ และหาทางช่วยเหลือให้ผู้เรียนผ่านพ้น การแลกเปลี่ยนเติมเต็มครั้งนี้ จึงเป็นวาระสำคัญที่จะพาคณะทำงานทุกฝ่ายไปสู่ข้อสรุปเชิงนโยบาย พร้อมเก็บเกี่ยวต้นทุนการร่างแนวทางการสร้างโอกาสทางการศึกษา ที่ตรงกับสภาพปัญหาอุปสรรคของเด็ก ๆ ในพื้นที่ เพื่อช่วยกันพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”