เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงานเสวนา “การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ แนวทางการดำเนินงานและสร้างกลไกการขับเคลื่อนเมืองร่วมกัน” ณ อุทยานการเรียนรู้เทศบาลนครยะลา โดยมีผู้นำท้องถิ่นจากเทศบาลนครและเทศบาลเมือง 4 แห่งซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาการเป็นตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการที่ กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา และ บพท. สนับสนุนการขับเคลื่อนงานร่วมกันในระดับพื้นที่ซึ่งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ เทศบาลนครยะลา เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครตรัง และเทศบาลเมืองลำพูน
แม้ว่าแต่ละพื้นที่จะอยู่ห่างไกลกันมาก แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ปิดกั้นการเรียนรู้ของเครือข่ายนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ (City Administrators) เพราะมีการทำงานแบบ Connect the Dot เชื่อมต่อจุดระหว่างกันจากจุดเริ่มต้นที่คนและองค์กรเปิดใจ เปิดกว้าง รับฟัง เรียนรู้ เคารพความแตกต่างหลากหลายของกันและกันบนพื้นฐานพหุวัฒนธรรม
รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงเป้าประสงค์ของการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้หรือ Learning City ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดของผู้คน ด้วยการเรียนรู้ร่วมกันในเมืองนั้น ๆ ซึ่งตามเกณฑ์การพัฒนา Learning City ของยูเนสโก (UNESCO) จะมีอย่างน้อย 4 เกณฑ์คือ 1.ท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้นำ และสามารถสานพลังจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการดำเนินงานที่มีบทบาทสำคัญ มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน 2.สร้างแหล่งเรียนรู้ที่เป็นพื้นที่กลางให้ทุกคนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ในครอบครัว ชุมชน พิพิธภัณฑ์แบบมีชีวิต วัด โบสถ์ มัสยิด หรือในสวนสาธารณะ รวมไปถึงแหล่งพัฒนาทักษะหรือฝึกอาชีพในชุมชนท้องถิ่น หรือในสถานประกอบการ 3.จะต้องมีการวัดและประเมินผลได้ว่าสิ่งที่จัดกระบวนการเรียนรู้ไปแล้วนั้นสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของคนในเมืองได้จริงหรือไม่ 4.จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือจะต้องทำให้คนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเสมอภาคกัน และรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้
“เรามีการสืบค้นข้อมูลทิศทางการพัฒนาเมืองของเทศบาลต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในประเทศแล้วปักหมุด อย่างอุดรธานี ตรัง ยะลา รวมถึงลำพูนที่เห็นว่าผู้นำเมืองมีวิสัยทัศน์ในการเคลื่อนเมืองไปในทิศทางเดียวกันกับ Learning City จึงเกิดการทาบทามและนำมาสู่ความร่วมมือกันในเวทีนี้ ขณะเดียวกันยังมีเมืองชายแดนที่ต้องรับมือกับปัญหาต่าง ๆ มากมายอีก 3 เมืองที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในปี 2567 ก็น่าจะได้รับโอกาสในการร่วมพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เช่นกัน” รศ.ดร.ผณินทรา กล่าว
ด้านนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า สำหรับการคัดเลือกเมืองที่จะพัฒนากลไกและองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. มีความชัดเจนในเรื่องการให้น้ำหนักของการเรียนรู้ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หากมองในภาพรวมระดับประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในภาคเหนือมีทั้งจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดพะเยาที่ได้รับการรับรองจากจากยูเนสโกให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับโลกแล้ว กสศ. มองว่ายังมีเมืองใหญ่ ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ ที่มีศักยภาพและต้นทุนพอที่จะขับเคลื่อนให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามในวันนี้ทั้ง 4 เมืองที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนงานได้ร่วมแลกเปลี่ยนต้นทุนเดิมและศักยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว พร้อมทั้งแนวคิด แนวทางการทำงาน หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปีแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ซึ่งสนับสนุนโดย กสศ. นับเป็นข่าวดีในช่วงต้นปี 2567 เทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กเยาวชน และประชาชนทุกกลุ่มวัยที่ทำมายาวนาน จนสามารถยกระดับเมืองท้องถิ่นไทยเข้าสู่เวทีโลก ล่าสุดเทศบาลนครยะลาเพิ่งได้รับการประกาศผลคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก THE UNESCO GLOBAL NET WETORK OF LEARNING CITIES:GNLC เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พร้อมกับจังหวัดขอนแก่นและกรุงเทพฯ
โดยนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนาเมืองและสิ่งที่กำลังจะเดินต่อไปข้างหน้าว่า เทศบาลนครยะลาให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน โดยบริบทของพื้นที่ที่มีความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม จะทำอย่างไรให้ตัวแทนของทุกกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิด แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากที่สุดเพื่อให้คนยอมรับในความแตกต่างของกันและกันโดยจัดให้มีการประชุมสภาประชาชน รวมถึงมีการประชุมสภาเยาวชนทุกเดือนเช่นกัน การก่อตั้งอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park ยะลา มาตั้งแต่ปี 2550 เป็นพื้นที่ศูนย์กลางแหล่งการเรียนรู้ทั้งในตัวเมือง และกระจายมินิ TK Park ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนทั้ง 4 มุมเมือง TK Park ช่วยส่งเสริมปลูกฝังรากฐานการพัฒนาคนให้รักการเรียนรู้ สร้างนิสัยรักการอ่าน เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นเป็นคนมีความรู้ “ปล่อยแสงแห่งศักยภาพ” ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้
“เมื่อจัดเวทีแบบนี้บ่อย ๆ ทำให้คนได้แชร์ความคิดความเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองของเราบ่อย ๆ ผู้คนก็เริ่มได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เริ่มเข้าใจในเหตุและผลของกันและกัน เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เรามีสภาประชาชนประชุมทีละ 3 พันคน ประชุมเยาวชนทุกสามเดือน สิ่งเหล่านี้ไปสอดคล้องกับการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้”
ส่วนประเด็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เทศบาลนครยะลาให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กที่ขาดโอกาส โดยดึงเด็กจากครอบครัวที่ยากจนเข้ามาเรียนในโรงเรียนสังกัดเทศบาล จัดหาทุนการศึกษา พร้อมกับมองเรื่องการสร้างโอกาสสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนดังกล่าวโดยเชื่อมโยงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อบรมทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดโอกาสให้กัน
“อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้สามารถแก้ไขปัญหาของเมืองได้ในหลายมิติ เทศบาลนครยะลาเองยังต้องเรียนรู้อีกหลาย ๆ เรื่องเพื่อตอบโจทย์ของเมือง ขณะเดียวกันเรายังต้องแสวงหาภาคีเครือข่ายที่มีเป้าหมายเดียวกันสร้างความร่วมมือกับท้องถิ่นอื่น ๆ ในจังหวัด เพื่อทำให้เป้าหมายของพวกเราทุกคนลึกขึ้นและกว้างขึ้น รวมถึงยังต้องจับมืออีก 2 จังหวัดชายแดนเพื่อจะเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกัน”
ขณะที่พ.ต.อ.อารี สินธุรา รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า ปัจจุบันเทศบาลนครอุดรธานีได้วางโครงสร้างทางกายภาพที่เอื้อประโยชร์ต่อการสร้างโอกาสให้กับคนและชุมชนไปพร้อม ๆ กับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส สิ่งที่จะทำต่อไปคือกำลังนำจุดแข็งในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดที่เป็นทั้งพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่ทางการศึกษา และกำลังจะพัฒนาย่านเศรษฐกิจที่เชื่อมร้อยผู้คนใน 3 วิถีได้แก่ พุทธวิถี เวียดนามทาวน์ และมุสลิมทาวน์ รวมเข้าเป็นสตรีททาวให้เป็นเศรษฐกิจดึงการค้าการลงทุนเข้ามา โดยในแต่ละย่านจะมีการดึงเด็กที่ด้อยโอกาสและเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบเข้ามาเรียนรู้ในวิถีทั้ง 3 ด้านแล้วนำไปต่อยอดเป็นอาชีพของเขาเองได้ “ในจังหวัดเรามีการเชิดสิงโตที่เรียกว่าเอ็งกอ ก็นำเด็กที่ด้อยโอกาสมาเรียนรู้แล้วเขาก็มีรายได้ คุณภาพชีวิตเขาก็เริ่มดีขึ้นขณะเดียวกันเขาก็ไม่ทิ้งการศึกษา เราพยายามจะสร้างโอกาสแบบนี้ให้กับทุกคน”
ด้านนางสาวสุทธินี สุริยกุล ณ อยุธยา รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูนกล่าวว่า ลำพูนเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีทั้งโอกาสและโจทย์ที่ท้าทายว่าจะทำอย่างไรให้เมืองที่เต็มไปด้วยผู้อายุที่มีอยู่ 32 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็นเมืองที่กลับมามีชีวิต มีคน มีรายได้ โดยนำเอาทุนที่เราคิดว่าเป็นสิ่งที่เข้มแข็งที่สุดในตอนนี้คือทุนวัฒนธรรมมาสร้างการเรียนรู้ให้กับคนที่ว่างงาน คนแก่ที่อยู่กับบ้าน คนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง อย่างการทำโคมลอย กระบวนการขั้นตอนการทำต่าง ๆ เทศบาลนครเมืองลำพูนได้จัดให้มีการเรียนรู้ จากนั้นแบ่งบทบาทหน้าที่กันประกอบเป็นโคม ขณะที่เทศบาลเมืองลำพูนทำหน้าที่ช่วยหาตลาด สร้างให้เกิดเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่จะทำต่อไปคือการค้นหาทุนในแต่ละพื้นที่ จากนั้นสร้างการเรียนรู้และยกระดับให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจ กลับมาสร้างความสุข สร้างอาชีพและเศรษฐกิจที่ดีให้กับเมืองลำพูนในอีกหลาย ๆ พื้นที่
นายสุทธิพงษ์ ลายทิพย์ เครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองและย่านเมืองเก่าตรัง หนึ่งในภาคีเครือข่ายของเทศบาลนครเมืองตรัง ในการผลักดันเมืองแห่งการเรียนรู้ กล่าวว่า สิ่งที่เทศบาลเมืองตรังให้ความสำคัญคือเรื่องของการพัฒนาคนและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา รวมถึงการพัฒนาอาชีพให้กับคนพิการ ส่วนการพัฒนาเมืองที่ผ่านมา เทศบาลเมืองตรังมีการดึงเอาภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงความหลากหลายของคณะทำงานในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดี
“เรามีการสืบค้นภูมิปัญญาประวัติศาสตร์จัดกิจกรรมเดินเมืองร่วมกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่แล้วมาถอดสรุปว่าเห็นอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกหลานสืบต่อมีการสร้างการเรียนรู้ให้ทุกวัย พยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เมื่อเด็กเห็นภาพอาคารบ้านเรือน โรงหนัง สภาพคูคลองที่เคยมีในอดีต ก็จะเกิดการเรียนรู้เห็นคุณค่าของการมีอยู่หรือบางอย่างจะฟื้นฟูเพื่อยกระดับอย่างไร ในแผนพัฒนาของทัพเที่ยงจะมีการคำนึงถึงคุณค่า เมื่อพัฒนาแล้วต้องมีมิติทางสังคมอยู่ตรงนั้นด้วยทั้งสวนเกษตร แปลงผัก มิติการฟื้นความหลากหลายของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาคนและการศึกษา”
ด้านนางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสถาการณ์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 193 ประเทศ ที่ลงนามรับรองวาระเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals (SDGs) ในปี 2030 ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับสิ่งที่ท่านรองนายกและนายกเทศมนตรีได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในวันนี้ ขณะที่ในระดับประเทศเองก็เป็นการตอบโจทย์ของรัฐบาลในเป้าหมายการพัฒนาที่ 4 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่าทุกคนต้องมีการศึกษาที่มีคุณภาพ
“วาระเรื่องการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่อง ถ้าเราสามารถจัดการศึกษาได้จะตอบโจทย์อีกหลายเรื่อง รวมถึงการพัฒนาเมืองด้วย พบว่าเรื่องการเข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาของเด็กในครอบครัวยากจนยังมีความท้าทาย ในประเทศไทยเด็กยากจนเข้าสู่การศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้เพียง 12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยในประเทศอยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์ ฐานะร่ำรวยอยู่ที่ 48 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นว่ายิ่งกลุ่มยากจนจะเข้าถึงโอกาสการศึกษาระดับสูงยิ่งน้อย ขณะที่กลุ่มเยาวชนนอกระบบของไทยมีประมาณ 1.3 ล้านคน หรือมีค่าเฉลี่ยจังหวัดละ 12,000 คน ยูเนสโก ได้มีการคำนวณว่าถ้าเราไม่ดึงเด็กและเยาวชนนอกระบบทางการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ประเทศไทยกำลังสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 1.7 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งหมด หรือปีละ 6,500 ล้านบาท เรากำลังสูญเสียเงินส่วนนี้ไปเพราะมีเด็กอยู่นอกระบบและกลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และติดอยู่ในความยากจน การไร้การศึกษา ปัญหาการเงินและชีวิตความเป็นอยู่ ดังนั้นการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ที่เด็กเยาวชนสามารถเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีทางเลือกตอบโจทย์ชีวิต รวมถึงโอกาสในการมีงานทำ มีรายได้ในเมืองอย่างทั่วถึงทุกคน จึงเป็นโจทย์ร่วมที่ท้าทายให้ท้องถิ่นและทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน”