เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘เปิดรับข้อเสนอโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566’ ผ่านระบบออนไลน์โดยมีตัวแทนจากหน่วยจัดการเรียนรู้กว่า 500 คน เข้าร่วมรับฟังกรอบแนวคิดการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และข้อแนะสำหรับผู้สนใจยื่นเสนอโครงการฯ ร่วมด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาข้อเสนอโครงการและการวิเคราะห์ผู้ร่วมเรียนรู้ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2566’
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบการศึกษาและแรงงานนอกระบบ ภายใต้โครงการ ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เป็นโครงการที่ดำเนินงานต่อเนื่องนับแต่ปี 2562 โดยมุ่งเป้าทำงานค้นหารูปแบบกระบวนการจัดการศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา และประชากรวัยแรงงานนอกระบบผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ให้ค้นพบศักยภาพและสามารถพึ่งพาตนเอง ตลอดจนยกระดับการทำงานเชิงระบบร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม และภาควิชาการ โดยเน้นการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจะมี ‘หน่วยจัดการเรียนรู้’ เป็น ‘จุดคานงัด’ สำคัญ ในการสร้างระบบที่เอื้อต่อการเรียนรู้
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หน่วยจัดการเรียนรู้จาก 311 โครงการ ได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เยาวชนนอกระบบการศึกษา เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม และกลุ่มผู้เปราะบางจำนวน 22,975 คนใน 65 จังหวัด ครอบคลุม 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด ‘การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งหมายถึงการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมผ่านการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ และใช้ชีวิต ‘อยู่ร่วม’ และ ‘อยู่รอด’ ในชุมชนได้ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ในกระบวนการทำงาน โครงการ ฯ ได้ทำงานผ่านคณะหนุนเสริมด้านวิชาการ ที่ออกแบบภาพรวมการดำเนินงาน และประสานการทำงานร่วมกับเครือข่าย ‘พี่เลี้ยง’ ที่กระจายตัวครอบคลุมทุกภูมิภาค โดยมีหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ ติดตามหนุนเสริมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้หน่วยจัดการเรียนรู้สามารถออกแบบกิจกรรม สร้างการเรียนรู้ พัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ตามศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับการเติมเต็มด้วยเครื่องมือวิเคราะห์และเรียนรู้กลุ่มเป้าหมายจาก กสศ. เพื่อมุ่งสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตรงจุด นำมาซึ่งรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ทั้งต่อตัว ‘ผู้ร่วมเรียนรู้’ และขยายผลสู่คนในครอบครัว รวมถึงเชื่อมโยงให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน อีกทั้งในการประชุมเชิงปฏิบัติการเปิดรับข้อเสนอโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ในปี 2566 นี้ ยังเป็นไปเพื่อสนับสนุนให้หน่วยจัดการเรียนรู้ที่ร่วมทำงานในปีก่อน ๆ ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จนำสู่การสร้าง ‘ต้นแบบการทำงาน’ ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศ
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า เป้าหมายของ กสศ. คือปฏิรูปการศึกษาเพื่อตัดวงจนความยากจน โดยเหนี่ยวนำพลังการทำงานจากหน่วยงานและประชาชนทุกระดับ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ การทำงานร่วมกัน มีการประสานเชื่อมโยง บูรณาการ และส่งต่อองค์ความรู้ที่ประสบความสำเร็จเห็นผล ไปยังผู้ร่วมเรียนรู้รุ่นต่อไป
“เกือบ 5 ปีของการทำงาน กสศ. ได้ทำงานกับโจทย์ปัญหาของประเทศที่หนักและมีความหลากหลาย โดยเฉพาะ 3 ปีสำคัญที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เรามีฐานกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเยาวชนด้อยโอกาส 9 แสนคน ร่วมกับแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย จำนวนของคนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือคนที่ไม่มีช่องทางเข้าถึงโอกาสการพัฒนาตัวเอง จะยิ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาทางการศึกษาจำเป็นต้องมีวิธีคิดที่เปิดมิติมุมมองใหม่ โดยเชื่อมั่นว่าพลังอำนาจของการศึกษา สามารถเปลี่ยนแปลงระบบ เปลี่ยนแปลงประเทศในเชิงโครงสร้างได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความร่วมมือของฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ทำให้เราได้เห็นบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่
“เราเห็นกลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ที่มีคุณย่าคุณยายอยู่ในแปลงผัก นั่งฟังเพลงพื้นบ้านคุยยิ้มกันอย่างมีความสุข เห็นภาพของผู้พิการที่รวมกลุ่มกันสร้างชุมชนการเรียนรู้ มีอาชีพ พบเส้นทางพัฒนาตัวเองที่เหมาะสม หรือได้เห็นโมเดลพัฒนาชุมชนโดยรวมเอาหน่วยราชการสำคัญในท้องถิ่นมาเป็นกลไกจัดการปัญหา ตั้งแต่ อบต. สหกรณ์ หรือมหาวิทยาลัย เห็นหน่วยเล็ก ๆ ที่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อนคอยดูแลกันในระดับตำบลหมู่บ้าน เหนือกว่าอะไรทั้งหมด เราได้เห็นคนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงบทบาทจากผู้รับมาเป็นผู้ให้ หรือจากผู้เรียนรู้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะเขาได้รับโอกาส และสิ่งต่าง ๆ ที่ว่ามาก็กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นลำดับ ด้วยผลลัพธ์จากงานของโครงการนี้เอง ที่จะพาไปสู่คำตอบของทิศทางการเปลี่ยนแปลงผู้คนในประเทศของเรา ด้วยองค์ความรู้จากตัวต้นแบบที่ถอดจากศาสตร์ในชุมชน และจะย้อนกลับไปดูแลผู้คนด้วยวิถีที่สอดคล้องกับชีวิต ตรงกับต้นตอของแต่ละปัญหา”
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์การทำงานที่จะเกิดขึ้นต่อไปของ กสศ. คือเข้าถึงการเรียนรู้ มีผลผลิตการเรียนรู้ สร้างรูปแบบการศึกษาทางเลือก และขยายผลเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ด้วยการสังเคราะห์ความสำเร็จจากโครงการนำร่องที่แตกต่างหลากหลาย จนได้ข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับรองรับผู้ด้อยโอกาสซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ช่วยให้ประชากรทุกคนได้รับการศึกษา ได้พัฒนาตนเองต่อไปไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
สิ่งสำคัญอีกประการคือการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่เป็นไปตามทิศทางของโลกใหม่กับการจัดการศึกษาทางเลือก 3 รูปแบบ คือ 1.การศึกษาตลอดชีวิต 2.การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต 3.การศึกษาเพื่อตอบโจทย์การมีคุณวุฒิ โดย พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ ได้โดยยกระดับ กศน. ขึ้นเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดพื้นที่เครือข่ายจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด ผ่านกลุ่มเป้าหมาย 5 ช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ มีการเทียบโอนหน่วยกิต(credit bank) ซึ่ง กสศ. มีตัวอย่างน่าสนใจจากโมเดล ‘โรงเรียนมือถือ’ หรือ ‘mobile school’ ของศูนย์การเรียน CYF ที่ทำให้การศึกษาติดตามเด็ก ๆ ไปได้ในทุกที่ และสามารถนำประสบการณ์ชีวิตและการทำงานมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิต เพื่อศึกษาต่อตามช่วงชั้นจนจบการศึกษาภาคบังคับ ได้รับวุฒิบัตรที่นำไปใช้เรียนต่อหรือสมัครงานได้ จะเห็นว่า ณ ปัจจุบัน การสนับสนุนการศึกษาทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ สามารถใช้กลไกรัฐให้เกิดประโยชน์ รวมถึงโลกดิจิทัลแพลตฟอร์มสมัยใหม่ ที่ทำให้การเข้าสู่ระบบการศึกษาไม่ได้หมายถึงการเข้าโรงเรียน แต่คือคนทุกคนทุกช่วงวัยสามารถเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ได้จากทุกพื้นที่
“ประเด็นของการทำงานในวันนี้ คือเราต้องหากลุ่มผู้ร่วมเรียนรู้ให้พบ ซึ่งหน่วยจัดการเรียนรู้ทุกหน่วยจะเป็นกุญแจที่จะไขประตูสู่ระบบการศึกษาในลู่ใหม่ ซึ่งคนในชุมชนจะช่วยกันวางรากฐานของการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ให้การศึกษาได้เข้าไปมีบทบาทพัฒนามนุษย์ แต่ก่อนไปถึงจุดนั้น เราต้องเข้าใจวิถีชีวิต เข้าใจตัวตน เข้าใจความต้องการของผู้ร่วมเรียนรู้ แล้วนำมาออกแบบวิธีการร่วมกัน เพื่อให้ทุกพื้นที่ในประเทศเป็นแหล่งผลิตพลเมืองคุณภาพ และเป็นชุมชนคุณภาพเสมอภาคดุจกัน”
ขณะที่ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กล่าวว่า ทุกคนที่ร่วมทำงานนี้ คือปัญญาชนพื้นถิ่นผู้มีสายตามองเห็นถึงความยากลำบากของผู้คน เห็นอนาคตที่ไร้หวังของสังคม และมีใจพร้อมเข้ามาใช้พลังสร้างสรรค์ ใช้ศักยภาพที่มีนำการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคลและระบบตามความเชื่อของ กสศ. ที่ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือและวิธีการในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ด้วยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการลงมือทำ ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้ร่วมเรียนรู้ให้ค้นพบศักยภาพใหม่ในตนเองได้ตลอดเวลา
“3 ปีของโครงการฯ ทำให้เห็นว่าหน่วยจัดการเรียนรู้คือภาคีสำคัญที่ช่วยให้ กสศ. ไปสู่เป้าหมายการทำงานได้จริง คือช่วยเหลือผู้ยากลำบากขัดสน ผู้ไม่มีการศึกษาที่ดี ไม่มีงานที่ดี ไม่มีเงิน ไม่มีเพื่อน ไม่มีกลุ่ม และไม่มีโอกาส ให้เขาได้เข้าถึงและมีสิ่งต่าง ๆ ที่เคยขาดแคลนเหล่านั้น ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าคนขาดโอกาส ชีวิตจะเต็มไปด้วยข้อจำกัด มีแต่ความลำบาก แต่เมื่อใดที่ระบบสังคมเราเอื้อให้ทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้คุณภาพ เมื่อนั้นการเข้าถึงมิติคุณภาพในด้านอื่น ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม หรือคุณภาพชีวิตก็จะตามมา สำหรับการทำงานมาจนถึงวันนี้ ทำให้เกิดความสำเร็จแล้วในระดับหนึ่ง เรามีชุดความรู้ที่สั่งสม ซึ่งทุกท่านที่เข้ามาร่วมงานในปีถัด ๆ ไปจะสามารถนำไปใช้และนำมาเพิ่มเติมให้กันได้อีก แล้วหลังจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยจากชีวิตคนเล็กคนน้อยโดยหน่วยจัดการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นคุณค่ามหาศาล เป็นรากฐานที่พาเราไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่สุด”
ด้าน นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. ได้กล่าวถึงความสำคัญของการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และแนะนำหน่วยจัดการเรียนรู้ที่สนใจยื่นเสนอโครงการ ฯ ว่า กสศ. ต้องการให้เกิดภาพใหญ่ปลายทาง 2 เรื่อง คือ
1.ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสียเปรียบด้านโอกาสที่สุดในประเทศไทย ทั้งเรื่องรายได้และการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งได้แก่เยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ โดยมีจำนวนกลุ่มเป้าหมายสนับสนุนราว 2 หมื่นคนต่อปี ผ่านกระบวนการทำงานทั้งเชิงพื้นที่และเชิงระบบ เพื่อการจัดการศึกษาทางเลือกที่หลากหลาย โดยเน้นที่การศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ
2.แก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่มีหน่วยจัดการเรียนรู้เป็นศูนย์กลาง หรือเป็น change agent ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่และเชิงระบบ มีกลไกการส่งต่อและพลังการทำงานจากกลุ่มครูนอกระบบ ร่วมกับอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือการทำความเข้าใจพลวัต (dynamic) ของกลุ่มเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยแรงกระทบหลากหลายสาเหตุ ทำให้เผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เศรษฐกิจ และสังคม โดยหลังจากนั้นจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาสร้างตัวแบบ ‘การศึกษาทางเลือก’ ที่มุ่งสู่การการประกอบอาชีพ เพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป
“นอกจากแรงงานนอกระบบ 20 ล้านคน ประเทศไทยยังมีเยาวชนนอกระบบการศึกษาและการพัฒนาตนเอง หรือที่เรียกว่า NEETs ซึ่งหมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การทำงาน หรือการฝึกอบรม ราว 1.3 ล้านคน คิดเป็น 14% ของเยาวชนทั้งหมด โดย 60% ในกลุ่มนี้จบการศึกษาเพียงชั้น ม.ต้น และ 70% เป็นเพศหญิงและอยู่ในกลุ่มคุณแม่วัยใส รายงานระบุว่ากลุ่ม NEETs มีอัตราเพิ่มขึ้นปีละ 1% ซึ่งองค์การยูเนสโกชี้ว่า ถ้าไม่มีมาตรการทำงานกับประชากรกลุ่มนี้ ประเทศไทยจะสูญเสียการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีละ 1.7% และในทางกลับกันถ้ามีการลงทุนกับ NEETs เราจะได้ผลตอบแทนกลับมาที่ประเทศถึงปีละ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
“ฉะนั้น การทำงานของ กสศ. ด้วยการศึกษาทางเลือกทั้งในและนอกระบบการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นช่องทางสำคัญและเป็นคำตอบของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็นหนทางหนึ่งให้เยาวชนกลุ่ม NEETs กลับมาพึ่งพาตนเองได้ ซึ่ง กสศ. เชื่อว่าปัญหาและทางออกของการแก้ไขนั้นอยู่ในชุมชน และชุมชนจะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การทำงานประสบความสำเร็จ”
นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า การทำงานส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนนอกระบบการศึกษา และแรงงานนอกระบบ ในปีนี้ กสศ. แยกออกเป็นสองประเภททุน โดยเพิ่มทุนพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา เพื่อการดำเนินงานกับเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ส่วนทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและยกระดับการทำงานขึ้นทุกปี ยังคงให้ความสำคัญเรื่องระบบนิเวศทางการเรียนรู้ ที่หน่วยจัดการเรียนรู้จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนทางสังคมไปด้วยกัน ด้วยการการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ยกระดับผู้ร่วมเรียนรู้และชุมชนให้เข้มแข็ง เชื่อมโยงการศึกษาที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจครัวเรือน โดยโครงการฯ ปี 2566 นี้ จะมุ่งเน้นกลุ่มผู้เรียนรู้ที่มาเป็นครอบครัว หรือผู้พิการที่จับคู่มากับผู้ดูแลมากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขยายนิเวศการเรียนรู้ที่เป็นกลุ่มก้อนออกไปยิ่งขึ้น
“ด้านกรอบแนวคิดการทำงาน กสศ. ยังมุ่งหารูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่ ด้วยทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรจากเครือข่ายหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งจากภายนอกและภายในชุมชน หน่วยจัดการเรียนรู้ต้องเน้นการมีส่วนร่วม มีการลงมือปฏิบัติกับชุมชน และดึงคนในชุมชนมาช่วยพัฒนาการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้ร่วมเรียนรู้ ตอบโจทย์ชุมชน ซึ่ง กสศ. อยากชวนหน่วยจัดการเรียนรู้จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศมาร่วมงานกัน ด้วยแต่ละพื้นที่มีทั้งความโดดเด่นและมีปัญหาที่แตกต่าง ฉะนั้นหากการทำงานยิ่งกระจายออกไปได้ครบทุกจังหวัด ก็จะยิ่งทำให้เห็นรูปธรรมของต้นแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจตามมา
“สำหรับการพัฒนาผู้ร่วมเรียนรู้จะต้องเติมทักษะที่มากกว่าเรื่องเทคนิคการประกอบอาชีพ แต่ต้องเรียนรู้เท่าทันโลกปัจจุบัน เช่นทักษะ IT มีการเติมเต็มทักษะชีวิตให้สามารถจัดการเรื่องการเงิน บริหารหนี้สิน และมีทักษะเกี่ยวกับการดูแลตนเองทั้งสุขภาพกายใจ ซึ่งทักษะต่าง ๆ นี้ล้วนจำเป็นกับกลุ่มผู้เรียนรู้ของโครงการ ฯ ในการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ของชีวิต และจะช่วยให้มีโอกาสอื่น ๆ ตามมามากขึ้น” นางสาวธันว์ธิดา กล่าว