ธนาคารโลกระบุว่า การปรับปรุงผลลัพธ์ของการเรียนรู้เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศรายได้ปานกลางในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การลงทุนพัฒนาครูในปัจจุบันสามารถช่วยให้คนรุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ
วอชิงตัน, 20 กันยายน พ.ศ. 2566 ในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 22 ประเทศในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะมีเด็กประมาณ 172 ล้านคนเข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาทุกปี การลงทุนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาที่โดดเด่นของเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม จากรายงานเรื่อง Fixing the Foundation: Teachers and Basic Education in East Asia and Pacific ของธนาคารโลกระบุว่า แม้จะมีจำนวนเด็กที่เข้าศึกษาในโรงเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย แต่ปรากฏว่ามีเด็กในบางประเทศหรือบางพื้นที่ของบางประเทศยังคงไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อีกทั้งพบว่าคุณภาพของการศึกษาในเขตพื้นที่ชนบทและพื้นที่ที่มีความยากจนของประเทศ ด้อยกว่าพื้นที่ในเขตเมืองและเขตที่มีผู้มีรายได้สูงอาศัยอยู่อย่างมาก
นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า ใน 14 ประเทศจากทั้งหมด 22 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย, เมียนมา, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้ (กำหนดโดยพิจารณาจากเด็กอายุ 10 ปี ที่สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยได้) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 สำหรับประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง เช่น มาเลเซีย มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้ที่สูงกว่าร้อยละ 40 ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และสาธารณรัฐเกาหลี มีภาวะความยากจนทางการเรียนรู้อยู่ที่ร้อยละ 3 – 4
ความล้มเหลวในการเตรียมทักษะพื้นฐานให้กับนักเรียน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการพัฒนาทักษะขั้นสูงที่จะช่วยให้เด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จในตลาดแรงงานและหลีกหนีจากความยากจน เนื่องจากการเรียนรู้เป็นกระบวนการเพิ่มพูน เด็กเหล่านี้ส่วนมากจึงไม่สามารถพัฒนาต่อยอดทักษะขั้นสูงที่จำเป็นสำหรับนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ซับซ้อน รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมความสามารถในการผลิต ซึ่งสามารถยกระดับสถานะประเทศจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
แม้ว่าปัจจัยหลายประการมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของเด็ก รวมถึงรายได้ของครอบครัว, สุขภาพ และการเข้าถึงสื่อการเรียนของโรงเรียน แต่เมื่อเด็กมาโรงเรียน ครูเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด อย่างไรก็ตามมีข้อมูลจากหลายประเทศในภูมิภาคระบุว่า ครูมักมีความรู้ในสาขาวิชาของตนที่จำกัด ใน สปป. ลาว มีเพียงร้อยละ 8 ของครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้นที่ทำคะแนนแบบประเมินวิชาคณิตศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ร้อยละ 80 หรือสูงกว่า ในทำนองเดียวกัน ประเทศอินโดนีเซียมีครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่ทำคะแนนได้ร้อยละ 80 หรือสูงกว่าจากการประเมินทักษะภาษาอินโดนีเซีย ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนครูของหลายประเทศในภูมิภาคเช่นกัน ดังนั้นรายงานจึงมุ่งเน้นไปที่ครูกับวิธีการสนับสนุนครูและยกระดับคุณภาพการสอน
“เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังคงเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เติบโตเร็วและมีพลวัตมากที่สุดในโลก ” มานูเอลา วี. เฟอร์โร รองประธานธนาคารโลกเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “การคงรักษาพลวัตนี้ไว้และการช่วยให้เด็ก ๆ ในปัจจุบันมีงานทำและมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องให้เด็กได้รับการสอนที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
เนื่องจากครูส่วนใหญ่ที่มี ยังคงดำเนินการสอนอยู่ในปี พ.ศ. 2573 รายงานจึงแนะนำให้มุ่งเน้นที่การเสริมสร้างศักยภาพของครู แม้ว่าจะมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปีมีการฝึกอบรมครูในภูมิภาคนี้เป็นสัดส่วนค่อนข้างสูง แต่ข้อมูลใหม่จากการสำรวจในกัมพูชา, ฟิจิ, ลาว, มองโกเลีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, ติมอร์-เลสเต, ตองกา และเวียดนามระบุว่า โครงการการฝึกอบรมเหล่านั้นไม่ได้ใช้แนวทางที่ช่วยปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนแต่อย่างใด เช่น ในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจ โครงการฝึกอบรมนี้ได้มุ่งเน้นไปที่เนื้อหาวิชาเพียงร้อยละ 14 ของโครงการ เทียบกับร้อยละ 81 ของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนทั่วโลก
เพื่อให้โครงการอบรมมีประสิทธิผล การฝึกอบรมควรส่งเสริมความรู้ในวิชาต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้มีการฝึกฝนความรู้ใหม่ ๆ ในหมู่ครู การติดตามผลการฝึกสอนและการให้คำปรึกษา ตลอดจนจัดให้มีสิ่งจูงใจทางวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือน นอกจากนี้ควรมีการมอบรางวัลตอบแทนให้ครูที่สามารถรักษาคุณภาพการสอนได้อย่างสม่ำเสมอ
เทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนสำหรับนักเรียน ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการที่นักเรียนหรือครู สามารถเข้าถึงบทเรียนที่มีการบันทึกวิดีโอไว้ล่วงหน้าจากครูที่มีคุณภาพสูง มีส่วนทำให้คะแนนของนักเรียนสูงขึ้นและช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการสอนของครูคนอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีการศึกษาจะได้ผลดีที่สุดเมื่อใช้กับครูที่ได้รับการฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว
รายงานยังระบุอีกว่า การที่ผู้กำหนดนโยบายให้การสนับสนุนและมีความมุ่งมั่นในการปรับปรุงผลลัพธ์ของการเรียนรู้นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่มุ่งหวัง นอกจากนี้ การพิจารณานำมาตรการที่ประสบความสำเร็จมาใช้ในการยกระดับคุณภาพการสอนและปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพและการใช้เทคโนโลยีการศึกษานั้น จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้องมีการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม
“การแก้ปัญหาภาวะความยากจนทางการเรียนรู้จะทำให้อนาคตของเด็กรุ่นหลังสดใสขึ้น อีกทั้งส่งเสริมให้เศรษฐกิจของภูมิภาคดียิ่งขึ้น” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว “การแก้ไขรากฐานทางการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปและทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงการคลัง ครูและผู้ปกครอง”